ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"นิ่ม" หญิงผู้ไม่มีความฝัน วันที่ไม่เหลือใคร

สังคม
27 ก.พ. 66
20:06
6,787
Logo Thai PBS
"นิ่ม" หญิงผู้ไม่มีความฝัน วันที่ไม่เหลือใคร
มูลนิธิกระจกเงา เปิดบทสัมภาษณ์ "นิ่ม" แม่น้องต่อเด็กชายวัย 8 เดือนหายจากบ้านพัก เด็กผู้ที่ไม่เคยความฝันในชีวิต อาชีพ ไม่เคยกอดแม่ ไม่มีเพื่อนสนิทในโรงเรียน ชี้สะท้อนปูมหลังปัญหาครอบครัวและเด็กวัยใส

หนูไม่เคยมีความฝัน ตอนเด็กๆ ไม่เคยคิดฝันว่าอยากเป็นอะไร แค่คิดว่าจะได้ทำงานที่พอเลี้ยงตัวเองได้ ไม่คิดมีความฝันว่าจะเป็นอาชีพอะไร ต้องเป็นหมอ ต้องเป็นพยาบาล หนูไม่เคยคิดไปไกลขนาดนั้น ดูความเป็นอยู่ของที่บ้านหนูสิ หนูคิดว่าหนูไปถึงตรงนั้นไม่ได้

เพจเฟซบุ๊ก มูลนิธิกระจกเงา เผยแพร่บทสัมภาษณ์น้องนิ่ม เด็กวัย 17 ปี
ให้สัมภาษณ์เมื่อค่ำวันที่ 23 ก.พ.66 โดยทีมงานระบุว่า ได้สัมภาษณ์น้องนิ่ม โดยการขออนุญาตและแจ้งช่องทางเผยแพร่ สัมภาษณ์เมื่อ 23 ก.พ.2566 เมื่อเรียบเรียงบทความเสร็จในวันรุ่งขึ้น ทีมงานตัดสินใจไม่เผยแพร่ เนื่องจากช่วงเวลานั้นมีกระแสข่าวค่อนข้างรุนแรง

เมื่อเหตุการณ์ดำเนินมาถึงวันนี้แล้ว จึงขอลงบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ เพื่ออยากให้สังคมได้มองเห็นว่าเส้นทางการมีชีวิตของเด็กหญิงคนนึงก่อนที่จะมาสู่ผู้กระทำความผิดในวันนี้มีรากฐานและเติบโตขึ้นมาจากสิ่งใด

“หนูไม่เคยมีความฝัน ตอนเด็กๆ ไม่เคยคิดฝันว่าอยากเป็นอะไร แค่คิดว่าจะได้ทำงานที่พอเลี้ยงตัวเองได้ ไม่คิดมีความฝันว่าจะเป็นอาชีพอะไร ต้องเป็นหมอ ต้องเป็นพยาบาล หนูไม่เคยคิดไปไกลขนาดนั้น ดูความเป็นอยู่ของที่บ้านหนูสิ หนูคิดว่าหนูไปถึงตรงนั้นไม่ได้”

“หนูไม่มีบ้าน เกิดมาไม่เคยมีบ้านเป็นของตัวเอง อยู่แต่บ้านเช่า และบ้านในบ่อปลา ที่พ่อรับจ้างเฝ้าบ่อ หนูอยู่ในครอบครัวที่ลำบากตั้งแต่เด็กๆ ไม่มีความพร้อมอะไรสักอย่าง สมัยก่อนพ่อทำงานอยู่ในโรงรับซื้อของเก่า บางวันหนูก็ไปช่วยพ่อคัดแยกขวด”



“หนูไม่เคยมีเพื่อนสนิท มีแค่เพื่อนที่รู้จักกัน อาจไปไหนด้วยกันบ้าง แต่ไม่เคยได้รู้เรื่องส่วนตัว ไม่สนิทกันจริงๆ เพราะตอนที่อยู่โรงเรียนไม่ได้มีอะไรได้ทำด้วยกัน”

“ที่โรงเรียน หนูโดนบูลลี่ ทั้งคำพูด และการกระทำ เพื่อนที่โรงเรียนทำเหมือนหนูไม่มีตัวตน เป็นอากาศ หนูก็ต้องอยู่คนเดียว ทำอะไรคนเดียว มันเลยรู้สึกไม่อยากไปโรงเรียน พ่อก็ถามว่าวันนี้ไม่ไปโรงเรียนเหรอ หนูก็ตอบว่าไม่อยากไปแล้ว ลึกๆใจอยากเรียนนะ แล้วผลการเรียนหนูก็ไม่ได้แย่นะ"

หนูแทบไม่เคยกอดแม่เลย ไม่ได้แสดงความรักต่อกัน ตั้งแต่หนูอยู่ชั้นประถม แม่หูตึง พูดไปเขาก็ไม่ได้ยิน ทำให้พอเราคุยกันไม่รู้เรื่อง ก็ค่อยๆ ห่างกันไป เหมือนไม่สนิทกัน อยู่ด้วยกันในบ้านแต่เราอยู่กันแบบห่างๆ จนแม่ล้มป่วยติดเตียงก็ได้ดูแลแม่มากขึ้น พาไปกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาล

“หนูรักพ่อนะ มีอะไร ก็มาบอกพ่อ คุยกับพ่อ แต่ไม่ชอบเวลาพ่อกินเหล้าเมาแล้วโวยวาย หนูเห็นพ่อทะเลาะกับแม่ตลอด มันบ่อยมาก เห็นตั้งแต่เด็กๆ หนูไม่ชอบเลย ตอนเล็กๆ หนูนั่งร้องไห้ พยายามขอร้องให้พ่อหยุด แต่เขาก็ไม่หยุด”


“หนูร้องไห้บ่อยมาก จะหยุดก็ตอนเขาเลิกทะเลาะกัน พอหนูโตขึ้น ความรู้สึกมันก็ชาชิน ชินแต่เจ็บปวด ยายบอกว่า ปล่อยเลย ไม่ต้องไปสนใจว่าเขาจะทะเลาะ เดี๋ยวเขาก็หยุดกันเอง แต่ในใจหนูมันก็ยังร้องอยู่ จากหยุดร้องไห้กลายเป็นไปด่าพ่อแทน เหมือนเราเริ่มเป็นปากเป็นเสียงให้กับแม่ รู้สึกว่าบ้านหนูไม่มีความสุขเลย”

“ความสุขของหนู มันคือการออกมานอกบ้าน ตั้งแต่มาอยู่กับพุดได้ใช้ชีวิตอยู่เอง ถ้าหนูมีอะไรไม่สบายใจ เขาก็จะพูดให้หนูสบายใจ เหมือนเป็นหลักในชีวิต ที่คุยกันได้ ปรึกษากันได้”

“ตอนคลอดน้องต่อ เจ็บท้องมาก เป็นความเจ็บที่สุดในชีวิต ไม่ได้ตั้งใจว่าจะมีน้อง แต่หลุดมา รู้ตัวว่ามีลูกตอนท้องได้เดือนนึง พอรู้หนูตั้งใจเก็บไว้ คิดว่ามีก็มี ไม่เคยคิดว่าจะเอาเขาออก เราไม่มีเงินเก็บสำหรับคลอดลูกเลย เราไม่มีอะไรเลยจริงๆ มีแต่ของที่คนอื่นให้มา ตอนที่ออกจากโรงพยาบาลหนูก็ยังไม่มีอะไรเลย”

ถามว่า ถ้ากลับไปแก้ไขอดีตได้ จริงๆ มันก็แก้อะไรไม่ได้แล้ว วันนี้เป็นวันที่หนูรู้สึกไม่เหลือใคร ไม่เหลือใครจริงๆ

อ่านข่าวเพิ่ม "บิ๊กโจ๊ก" เผยเค้นสอบแม่เด็ก 8 เดือน สารภาพทิ้งลูกลงน้ำ

นิ่ม เคสตัวอย่างสะท้อนปัญหาครอบครัว

นายเอกลักษณ์ หลุ่มชมแข หัวหน้าศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา ระบุว่า นิ่ม เป็นกรณีตัวอย่าง ที่สะท้อนปัญหาครอบครัวในสังคมไทย ที่ตั้งต้นจากความรุนแรงในครอบครัว ภาวะเศรษฐกิจ พ่อแม่วัยใสที่ขาดทักษะชีวิตต่อการเลี้ยงลูก และขาดการสนับสนุนช่วยเหลือจากครอบครัวและสังคม

ในความเป็นมนุษย์จริงมันมีเหตุผลมากกว่าที่จะถูกพิพากษาอย่างเดียวว่าเป็นแม่ฆ่าลูก มันอาจมีความกดดันในครอบครัว การเลี้ยงดูบุตรลำพัง เรื่องทักษะชีวิต 

สอดคล้องกับ นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มองว่า ทัศนคติของคนในสังคม ที่มักมองการเลี้ยงลูกเป็นหน้าที่ของ "แม่" สะท้อนความคิดเรื่อง "ชายเป็นใหญ่" ขณะที่การศึกษา ยังขาดระบบที่จะช่วยพยุงเด็กท้องไม่พร้อม ให้ได้เรียนหนังสือต่อในบรรยากาศที่เหมาะสม และความจน ยังเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงการศึกษา

นายจะเด็จ ไม่อยากให้สังคมมองว่า เป็นผิดของแม่เด็ก ที่เป็นเยาวชนเพียงฝ่ายเดียว แต่ควรมองให้ลึกถึงปัญหาเชิงโครงสร้างทางสังคม

ไม่ต่างจาก นางทิชา ณ นคร ผอ.ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านกาญจนาภิเษก เรียกร้องให้สังคมมองแม่เด็ก ในฐานะเหยื่อ ที่ถูกทอดทิ้งจากระบบการศึกษา ขาดการช่วยเหลือจากหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลด้านเด็ก ที่ผ่านมา ชีวิตนิ่มไม่เคยได้รับความช่วยเหลือ และเห็นว่า กรณีนี้เป็นบทเรียนให้ภาครัฐควรจัดทำนโยบายเพื่อทุกคน

คนที่ทำความผิดจะรู้ว่าตัวเองทำความผิด แต่ถ้าตลอดชีวิตไม่เคยถูกดูแลช่วยเหลือจากใครเลย เรียกว่าถูกปล่อยให้ต่อสู้ตามลำพัง ตามยถากรรม คนกลุ่มนี้จะตั้งการ์ดสูงกว่าปกติ และถูกตั้งคำถามว่าทำไมทำผิดแล้วไม่รับผิด เดือดร้อนลากยาว คำถามแบบนี้นำมาใช้ไม่ได้

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไทม์ไลน์ ปิดฉาก “น้องต่อ” เด็กชาย 8 เดือนหายตัวปริศนา 22 วัน

แจ้ง 3 ข้อหา คุม "แม่น้องต่อ" ฝากขังศาลเยาวชน

เตรียมขอศาลฝากขัง "พุด-แจ้" เป็นธุระจัดหา-พรากผู้เยาว์

"บิ๊กโจ๊ก" เผย แม่ "น้องต่อ" สารภาพไม่มีชายเสื้อเหลืองอุ้มเด็ก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง