วันนี้ (15 ก.พ.2566) นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นอภิปรายทั่วไปมาตรา 152 เกี่ยวกับโครงการนำยางพารามาทำถนน หรือ ถนนพาราซอยล์ ระบุว่า หลังมีโครงการราคายางไม่ได้ดีขึ้น แต่ยอดเงินในกระเป๋าข้าราชการระดับสูงกลับเพิ่มขึ้น
นายณัฐชาอภิปรายว่า ในโครงการนี้พบว่า ในบางพื้นที่มีการผูกขาดสารผสมน้ำยางทำถนน 3 เจ้าที่ได้รับอนุญาตเกี่ยวข้องกันทั้งหมด โดยตัวละครในเรื่องนี้ ได้แก่ นาง พ. รองปลัดเทศบาลแห่งหนึ่ง มีสามีเป็นบริษัทตัวแทนค้าสารน้ำยาที่จะใช้ผสมน้ำยาง และมี น.ส. ป.เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างถนนพาราซอยล์
นาง พ.และนาย ช.ได้เสนองานให้ น.ส.ป. โดยระบุว่า จะได้งานสร้างถนนพาราซอยล์ 55 โครงการ มูลค่า 394 ล้านบาท แต่ต้องจ่ายค่าน้ำร้อนน้ำชา 15 % ของมูลค่าโครงการ โดย 5 % เป็นค่าดำเนินงาน ส่วนอีก 10 % ส่งให้ "นาย"
นายณัฐชาอภิปรายต่อ โดยเปิดเผยไลน์บันทึกบทสนทนา อ้างว่าเป็นการพูดคุยกันระหว่างอธิบดีคนหนึ่งในสมัยนั้น โดยใช้ชื่อย่อว่า "อ." กับ นาง พ.
ขณะเดียวกัน นายณัฐชาอภิปรายว่า นาง พ.ได้ส่งเอกสารราชการภายในไปถึงหนึ่งในผู้รับเหมา เพื่อเรียกรับผลประโยชน์ พร้อมเปิดไลน์เป็นหลักฐานกลางสภาฯ โดยในจำนวนนั้นเป็นหลักฐานโอนเงินเข้าบัญชี นาง พ.ด้วย
หลังจากเรื่องเริ่มแดง นายณัฐชาอภิปรายต่อว่า การยางแห่งประเทศไทยได้เพิ่มผู้ประกอบการสารผสมยาง ทำให้มีผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น ส่งผลให้แก๊งผูกขาดวงแตก เบี้ยวเงินผู้รับเหมา ก่อนที่อธิบดีคนหนึ่งจะโทรศัพท์ไปเคลียร์กับผู้รับเหมาอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม มีการตรวจสอบเป็นการภายในกระทรวง โดยผลการสอบสวน ระบุว่า นาง พ.ผิดวินัยร้ายแรง แต่นาย อ.นั้นไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีความผิด ซึ่ง นาง พ.ปัจจุบันได้รับการลงโทษอย่างหนัก จากรองปลัดเทศบาลกลายเป็นปลัดเทศบาล ส่วนรองอธิบดีที่ลงนามหนังสือให้ผู้รับเหมาในขณะนั้น ได้เป็นอธิบดีในปัจจุบัน ส่วนอธิบดีที่มีหลักฐานไลน์ ปัจจุบันได้รับการลงโทษให้เป็นข้าราชการระดับสูงในกระทรวง
นายณัฐชาอภิปรายในตอนท้ายว่า แม้รัฐบาลจะบอกว่ามาปราบโกง แต่เป็นการบริหารจัดการบุคลากร ตั้งแต่ระดับปฏิบัติการไปจนถึงระดับเจ้ากรมในยุค 3 ป.กลับลงโทษเช่นนี้
ทั้งนี้ จึงต้องการตั้งคำถามถึงรัฐบาลว่า รู้เห็นกับการทุจริตครั้งนี้หรือไม่ รัฐมนตรีทราบหลักฐานทั้งหมดแล้วหรือไม่ กระบวนการลงโทษทางวินัย มีแต่เลื่อนตำแหน่งขึ้นใช่หรือไม่ และคนมีประวัติด่างพร้อย สมควรเป็นข้าราชการต่อไปหรือไม่ พร้อมเรียกร้องให้มีกระบวนการนำคนผิดมาลงโทษ หรือปลดผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตต่อไป