เหตุการณ์เครื่องบิน ATR 72 ตกในประเทศเนปาลเมื่อวันที่ 15 ม.ค.2566 ที่ผ่านมานั้น ข้อมูลจาก CNN อ้างอิงข้อมูลจากเครือข่ายความปลอดภัยการบิน ระบุว่าเป็นหายนะทางอากาศครั้งเลวร้ายที่สุดที่เกิดในพื้นที่หิมาลัยในรอบ 30 ปี และ ยังเป็นอุบัติเหตุทางการบินที่เลวร้ายที่สุดเป็นอันดับ 3 ในประวัติศาสตร์ของเนปาล
อ่านข่าวเพิ่ม : "เนปาล" ไว้อาลัยทั่วประเทศ-เร่งสอบสาเหตุเครื่องบินตก
ไม่ว่าจะเป็นสภาพรันเวย์ของสนามบิน, สภาพภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยภูเขาสูง ที่ส่งผลให้มีความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอยู่ตลอดเวลา ปัจจัยเหล่านี้นับเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ “เนปาล” เกิดอุบัติเหตุทางการบินอยู่บ่อยครั้ง
เนปาล ประเทศที่ตั้งของสนามบินที่อันตรายที่สุดในโลก
ด้วยสภาพภูมิประเทศที่เต็มไปด้วยภูเขาสูงบริเวณที่ราบสูงทิเบตที่กินพื้นที่ประเทศเนปาล-ทิเบต-จีน จนได้ชื่อว่า “หลังคาของโลก” นั้นเต็มไปด้วยภูเขาสูงถึง 8 แห่ง จากจำนวนภูเขาสูง 14 แห่งในโลก ด้วยสภาพภูมิประเทศเช่นนี้ ทำให้การเดินทางด้วยเครื่องบินและสนามบินที่ต้องสร้างเพื่อรองรับนั้นเต็มไปด้วยความยากลำบาก
สนามบินในเมืองลุกลา (Lukla) ที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเนปาล ได้ชื่อว่าเป็น “สนามบินที่อันตรายที่สุดในโลก” เพราะรันเวย์ของสนามบินแห่งนี้ตั้งอยู่บนหน้าผาระหว่างภูเขา หากผู้ทำการบินไม่มีความชำนาญ ก็เสี่ยงที่จะทำให้เครื่องตกได้
ข้อมูลจากเครือข่ายความปลอดภัยด้านการบิน บันทึกไว้ว่าในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา มีอุบัติเหตุเครื่องบินตกในเขตน่านฟ้าเนปาลและพื้นที่หิมาลัยร่วม 20 ครั้ง นอกจากนั้นแล้ว เว็บไซต์ Timesofindia ยังเคยระบุว่า พื้นที่บริเวณที่ราบสูงทิเบตซึ่งรวมกับเนปาล ก็เป็น 1 ใน 6 พื้นที่ห้ามบินของโลกเช่นกัน (No-fly zones)
17 เหตุการณ์ในรอบ 20 ปี อุบัติเหตุทางการบินเหนือพื้นที่หิมาลัย
- 27 ก.ค.2543 เครื่องบินสายการบิน Royal Nepal Airlines ตกทางตะวันตกของเนปาล มีผู้เสียชีวิต 25 คน
- 17 ก.ค.2545 เครื่องบิน 2 เครื่องยนต์ชนภูเขาทางตะวันตกของเนปาลก่อนเครื่องลงจอดไม่กี่นาที มีผู้เสียชีวิต 4 คน
- 22 ส.ค.2545 เครื่องบินสายการบิน Shangri-La Air กระแทกภูเขาท่ามกลางสภาพอากาศเลวร้ายในเนปาล มีผู้คนเสียชีวิต 18 คน
- 25 พ.ค.2547 เครื่องบินสายการบิน Yeti Airlines ตกในบริเวณยอดเขาเอเวอเรสต์ มีผู้เสียชีวิต 3 คน
- 21 มิ.ย.2549 เครื่องบินสายการบิน Yeti Airlines ประสบอุบัติเหตุก่อนลงจอดทางตะวันตกของประเทศไม่กี่นาที มีผู้เสียชีวิต 9 คน
- 4 มี.ค.2551 เฮลิคอปเตอร์ตกในเนปาล มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 10 คน
- 8 ต.ค.2551 เครื่องบินเล็ก ตกในภูเขาทางตะวันออกเฉียงเหนือของเนปาล มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 18 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ
- 24 ส.ค.2553 เครื่องบินเล็กสายการบิน Agni Air ตกท่ามกลางสภาพอากาศเลวร้ายในเนปาล ผู้เสียชีวิต 14 คน
- 16 ธ.ค.2553 เครื่องบินเล็กสายการบิน Tara Air ตกบริเวณเชิงเขาหิมาลัยทางตะวันออกของเนปาล ผู้เสียชีวิต 22 คน
- 25 ก.ย.2554 เครื่องบินชมวิวยอดเขาเอเวอเรสต์ของสายการบิน Buddha Air ตกในสภาพอากาศเลวร้ายใกล้กรุงกาฐมาณฑุ ผู้เสียชีวิต 19 คน
- 28 ก.ย.2555 เครื่องบินเล็ก ขับพุ่งชนนกและตกที่กาฐมาณฑุ มีผู้เสียชีวิต 19 คน
- 16 ก.พ.2557 เครื่องบินสายการบิน Nepal Airlines Corp. ตกในสภาพอากาศเลวร้าย มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 18 คน
- 24 ก.พ.2559 เครื่องบินเล็กสายการบิน Tara Air ตกท่ามกลางสภาพอากาศที่เลวร้าย มีผู้เสียชีวิต 23 คน
- 26ก.พ.2559 เครื่องบินเล็กสายการบิน Kasthamandap Airlines ตกในเขตกาลิกอตทางตะวันตกของเนปาล มีผู้เสียชีวิต 2 คน
- 12 มี.ค.2561 เครื่องบินสายการบิน US-Bangla Airlines ตกท่ามกลางสภาพอากาศที่มีเมฆมาก ขณะพยายามลงจอดที่สนามบินในเมืองหลวงของเนปาล ผู้โดยสาร 51 คนจาก 71 คนเสียชีวิต
- 27 ก.พ.2562 เฮลิคอปเตอร์ตกในสภาพอากาศเลวร้ายทางตะวันออกของเนปาล มีผู้เสียชีวิตทั้ง 7 คน
- 29 พ.ค.2565 เครื่องบินสายการบิน Yeti unit Tara Air ตกหลังจากขึ้นบินจากเมืองโพคาราปลายทางเมืองกาฐมาณฑุ มีผู้เสียชีวิต 22 คน
- 15 ม.ค. 2566 เครื่องบิน ATR 72 สายการบิน Yeti Airlines ตกที่เมืองโพคารา มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 68 คน ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นกับอุบัติเหตุทางการบินในเขตพื้นที่หิมาลัย ฝั่งประเทศเนปาล
ส่วนอุบัติเหตุทางอากาศที่เลวร้ายที่สุดในประเทศเนปาลนั้น เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.2535 เครื่องบินของสายการบิน Pakistan International Airlines เครื่องบินไถลเข้าไปในเนินเขาขณะพยายามลงจอดในกรุงกาฐมาณฑุ เมืองหลวงของเนปาล มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 167 คน
ที่มา : CNN, Timesofindia, Reuters