ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สะท้อนเสียงเจ้าของโรงแรมขนาดเล็กภูเก็ต "ขาดสภาพคล่อง-ขาดแรงงาน" ฟื้นตัวลำบาก

เศรษฐกิจ
10 ธ.ค. 65
14:45
1,023
Logo Thai PBS
สะท้อนเสียงเจ้าของโรงแรมขนาดเล็กภูเก็ต "ขาดสภาพคล่อง-ขาดแรงงาน" ฟื้นตัวลำบาก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ผู้ประกอบการเจ้าของโรงแรมขนาดเล็กเมืองภูเก็ต สะท้อนปัญหา "ขาดสภาพคล่อง-ขาดแรงงาน" ทำฟื้นตัวลำบาก ขณะที่ อดีตรองนายกเทศมนตรี แนะเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับนักท่องเที่ยวกลับมาเต็มรูปแบบ

หลังการเปิดรับการท่องเที่ยว โดยเฉพาะพื้นที่ จ.ภูเก็ต ที่ถือเป็นโมเดลสำคัญในการเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติของไทย ที่แม้ว่า ยอดนักท่องเที่ยวจะเริ่มกลับมาสูงขึ้น แต่ก็ยังถือว่ายังไม่มากนัก โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็กที่ให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอส ออนไลน์ ว่า ยังไม่ฟื้นและยังต้องการความช่วยเหลือทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน 

ขอเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับท่องเที่ยวฟื้น

นพ.โกศล แตงอุทัย อดีตรองนายกเทศมนตรีนครภูเก็ต กล่าวว่า สถานการณ์การท่องเที่ยว จ.ภูเก็ต เริ่มฟื้นตัวบ้างแล้ว หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงปี 3 ปีที่ผ่านมา โดยในช่วงกลางปี 65 นี้ เริ่มมีนักท่องเที่ยวกลับมา

 

ทั้งจากนักท่องเที่ยวชาวไทย รัสเซีย อินเดีย ซึ่งมาทดแทนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่หายไป รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวอาหรับก็เพิ่มขึ้น และยังมีนักท่องเที่ยวจากตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ โดยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ธุรกิจโรงแรม เนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยวตลอดช่วงสถานการณ์โควิด-19

นอกจากสถานการณ์โควิด-19 ยังมีวิกฤตจากธรรมชาติ เช่น ฝนตกน้ำท่วม ซึ่งปกติหลังช่วงเดือน ต.ค.จะไม่มีฝนตกหนักแล้ว และเปิดตัวไฮซีซัน ช่วงต้น พ.ย.แต่ปีนี้เปิดตัวมาด้วยฝนตก น้ำท่วม ถนนถล่ม

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาระบบโครงสร้างพื้นฐานเช่นเส้นทางสัญจร หรือ อุโมงค์ป่าตอง ก็ยังไม่สร้าง ซึ่งช่วงนี้เป็นช่วงที่ประชาชนต้องการอย่างมากและเมื่อจำนวนนักท่องเที่ยวกลับมาเป็นจำนวนมากอีกครั้ง ก็จะประสบปัญหาในการเดินทาง

ช่วงที่เราพบวิกฤตโควิดหยุดนิ่งไป 2-3 ปี หากถามว่า ภาครัฐได้ลงทุนอะไรไปกับ จ.ภูเก็ต อย่างเป็นชิ้นเป็นอันบ้าง ก็ยังไม่มีนะ ถึงเวลาที่จะพัฒนา จ.ภูเก็ต ให้อยู่รอดในระยะยาว หากไม่พัฒนาในระบบโครงสร้างพื้นฐานจะยิ่งทำให้ จ.ภูเก็ต ชะงักงัน เมื่อถึงโอกาสที่จะต้องหารายได้แล้ว ก็จะหาได้ไม่เต็มที่

นพ.โกศล กล่าวว่า เมืองไหนที่จะต้องเติบโตสร้างรายได้ให้กับภาครัฐ เมืองเหล่านี้จะต้องมีแผนระยะยาวอย่างน้อย 5 -10 ปี และต้องเกิดเป็นรูปธรรม ซึ่งบางเส้นทางผู้ประกอบการต้องลงขันกันเพื่อสร้างถนนกันเองเพื่อให้ทุกคนอยู่รอด

 

รวมถึง กรณีการสร้างอุโมงค์ป่าตอง ที่ก่อนหน้านี้ราวปี 2559 กำหนดงบประมาณไว้ที่ราว 7,000 ล้านบาท จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้สร้างและต้องใช้งบประมาณในการก่อสร้างเพิ่มขึ้นหรือราวเกือบ ๆ 20,000 ล้านบาท

 

รวมถึงยังมีโครงการสร้างศูนย์ Wellness รองรับผู้สูงอายุ และหากได้จัดโครงการ Expo Special ในปี 2028 ซึ่งการคมนาคม ระหว่างตัวเมือง - หัวเกาะ การเดินทางก็จะไม่สะดวกหากต้องรองรับนักท่องเที่ยวหลายหมื่นคน

การเดินทาง ความปลอดภัย ของนักท่องเที่ยวต้องพัฒนาให้มากขึ้น ตรงนี้สมาคมธุรกิจท่องเที่ยว สมาคมโรงแรม ต่างก็รอภาครัฐที่จะให้คำตอบ และทำในสิ่งที่เขาทำไม่ได้ ศักยภาพอยู่ที่ภาครัฐ ที่ต้องการมากที่สุด คือ ระบบโครงการสร้างพื้นฐาน

สร้างระบบหนุนจ้างแรงงานต่างชาติแก้ปัญหาขาดแคลน

รวมถึง ต้องการสร้างระบบ (One Stop Service) เพื่ออำนวยความสะดวกด้านกฎหมาย หรือ ระเบียบต่าง ๆ เนื่องจากนักท่องเที่ยวเริ่มกลับมาและแรงงานชาวไทยยังไม่กลับมาซึ่งต้องใช้แรงงานต่างชาติในช่วงนี้ เช่น แรงงาน จากฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย หรือเมียนมา ก็ต้องเอื้อโอกาสในการมาประกอบอาชีพ

นักท่องเที่ยวเข้าภูเก็ตยังไม่ฟื้นครบวงจร   

นางพิมพิศาภรณ์ เตชะอุปถัมภ์กุล อุปนายกสมาคมที่พักบูติกภูเก็ต กล่าวว่า ขณะนี้  จ.ภูเก็ต ฟื้นกลับมาราว 50 % ซึ่งดูเหมือนว่าจะมีนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะซอยบางลา

แต่กลุ่มนักท่องเที่ยวก็เป็นกลุ่มคนที่ประสบปัญหาจากโควิด-19 มาเช่นกัน และไม่ได้มีรายได้ที่สูงมากนัก แต่การไม่ได้ท่องเที่ยว 3 ปี จึงกลับมาท่องเที่ยวเร็ว แต่อาจมีความคาดหวังต่อการท่องเที่ยวสูงแต่อาจมีการใช้จ่ายที่ไม่สูงมาก

 

รมถึงการที่นักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก อาจยังไม่มากอย่างที่เข้าใจ เนื่องจากนักท่องเที่ยวจะมาจากบริเวณหน้าหาด จึงจะกระจายยังไปยังซอยต่าง ๆ เช่น สายสอง สายสาม ซึ่งยังเข้ามาไม่ครบทั้งหมดหรือยังไม่มาโดยรอบภูเก็ต 

นักท่องเที่ยวชาวรัสเซียที่มาเที่ยวเยอะก็มีข้อจำกัดจากการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ นักท่องเที่ยวชาติอื่นที่มาและไม่เห็นด้วยกับสงครามก็ค่อนข้างต่อต้าน รสมถึงชาวยุโรปมาอยู่ที่ป่าตองในระยะเวลาน้อยลงเพราะต้องการหลีกหนีนักท่องเที่ยวรัสเซีย เช่น ชาวเยอรมัน อังกฤษ

โรงแรมขนาดเล็กยังขาดสภาพคล่อง

นางพิมพิศาภรณ์ ยังกล่าวว่า ธนาคารเห็นว่ามีการเคลื่อนไหวด้านการท่องเที่ยวแล้วแต่ในช่วง 3 ปี ที่ธุรกิจโรงแรมไม่มีรายได้ การที่จะขอเงินกู้จากธนาคาร ก็ขอดูหลักฐานการหมุนเวียนของเงิน 6 เดือนย้อนหลัง ซึ่งรายได้เพิ่งจะเริ่มเข้ามาในช่วงกลางเดือน พ.ย.ที่ผ่านมาเท่านั้น หรือประมาณ 1 เดือนเท่านั้น

ขณะที่หนี้ก็ต้องใช้ให้มดก่อนจึงจะกู้เพิ่มเติมได้ ไม่นับรวมปัญหาการขาดเงินทุนการรีโนเวต หรือ ซ่อมแซมอาคาร วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ทั้งจากการปิดช่วงโควิด หรือ จากความเสียหายจากน้ำท่วม ที่ต้องใช้เงินสดในการซ่อมแซม

 

นางพิมพิศาภรณ์  กล่าวว่า ที่ผ่านมาธุรกิจขนาดใหญ่ได้รับการช่วยเหลือมาตั้งแต่เริ่มโครงการ "ภูเก็ตแซนด์บ็อก" เพราะว่ามีใบอนุญาต ขณะที่โรงแรมขนาดเล็ก ยังไม่มีใบอนุญาต จึงไม่มีสิทธิกู้เงินมารีโนเวตหรืออื่น ๆ

ทั้งนี้เพราะหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เป็นปัญหาจึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขหรือปรับกฎหมายให้เข้ากับผู้ประกอบการขนาดเล็ก 

ปัญหาเรื่องใบอนุญาตโรงแรมมีมาตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปี 65 รวมเวลากว่า 6 ปี รัฐยังไม่เคยนำมาใช้ให้ถูกกับบริบทเช่น จ.ภูเก็ต อย่างไร จ.เชียงใหม่ อย่างไร หรือพัทยาอย่างไร จากนั้นจึงหาไซซ์เสื้อให้พอดีกับที่เราเป็น

ทั้งนี้ ทางสมาคมฯ ได้เคยยื่นเรื่องไปยังหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับจังหวัด ซึ่งเรืองของกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่จะออกประกาศบังคับใช้ในพื้นที่ จ.ภูเก็ตซึ่งส่งผลกระทบต่อการออกใบประกอบอนุญาตโรงแรมของโรงแรมขนาดเล็ก เพราะประกาศที่กำลังจะออกมานั้นไม่เอื้อต่อการขอออกใบอนุญาตได้ ซึ่งทางสมาคมฯได้เสนอให้ปรับแก้ไขกฎหมายให้เหมาะสมกับกลุ่มธุรกิจโรงแรมขนาดเล็ก 

ขณะที่ ในช่วงโควิด 19 ผู้ประกอบการโรงแรมขนาดเล็กที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯใน จ.ภูเก็ต ถูกยึดไปแล้วกว่า 200 แห่ง จากทั้งหมด 400 แห่ง บางส่วนอยู่ระหว่างการสู้คดี ขณะที่ผู้ประกอบการที่กลับมาดำเนินกิจการก็ยังไม่กล้าที่จะลงทุนสูง และระมัดระวังงในการลงทุนค่อนข้างมาก 

โรงแรมขนาดเล็กเจอเบี้ยวหนี้ 

นางพิมพิศาภรณ์ ยังกล่าวว่า ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมขนาดเล็กยังประสบปัญหาอีกมากเช่น ลูกค้านักท่องเที่ยว ที่มาในรูปแบบของกรุ๊ปทัวร์ และมีการต่อรองราคาจึงทำให้ราคาไม่สูงมาก นอกจากนี้ กลุ่มผู้ประกอบการโรงแรมขนาดเล็ก ที่แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ที่มีปัญหาแตกต่างกัน คือ   

1.ผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจด้วยตัวเอง ก็ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน จนต้องทำงานหลายๆอย่างด้วยตัวเอง เช่นประกอบอาหาร หรือทำความสะดาอด รวมถึงยังไม่มั่นใจว่าจะมีนโยบายที่จะถูกสั่งหยุดให้บริการชั่วคราวอีกหรือไม่ เนื่องจากก่อนหน้านี้ผ่านสถานการณ์โควิด-9 มาแล้วหลายครั้งและมีการปิดหลายครั้ง 

2.กรณีการปล่อยให้เช่า เนื่องจากชาวต่างชาติเชื่อว่า ตนเองมีอำนาจในการต่อรองมากกว่าผู้ให้เช่า เช่น กรณีผู้เช่ารายใหม่ที่เข้ามาเช่าและต่อรองเพื่อให้ได้ราคาที่ถูกที่สุด และกรณีผู้เช่ารายเก่าที่ไม่จ่ายค่าเช่าแต่ก็ไม่ยอมออกและให้ไปฟ้องบังคับคดีเอง

รวมถึงการถูกบีบจากธนาคาร เพราะ เห็นว่ามีนักท่องเที่ยวมาแล้ว เช่น จะมองว่า จ.ภูเก็ต มีรายได้จากการท่องเที่ยวนับแสนล้านบาท จากการเปิดการท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ

แต่ความจริงคือ ผู้ประกอบการเพิ่งฟื้นในวันที่เปิดการท่องเที่ยว แต่ยังต้องเจอปัญหาภัยธรรมชาติ เช่น ป่าตองถนนขาด น้ำท่วมที่สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน หรือ เคลมประกันก็ไม่ได้

ปัญหาน้ำทวมที่เป็นปัญหาผลกระทบ เคยถามท้องถิ่นว่า ทราบปัญหาหรือไม่ว่าการก่อสร้างสร้างไม่แล้วเสร็จตั้งแต่ปี 59 ที่จนถึงขณะนี้ปี 65 รวม 6 ปีแล้ว หยุดช่วงโควิดไปก็ยังสร้างไม่เสร็จ จนมีนักท่องเที่ยวมาแล้ว โดยบอกว่าทำหนังสือส่งไปยังภาครัฐแล้ว 5 ครั้ง ก็ยังไม่แล้วเสร็จ จึงไม่รู้ว่าพรมผืนไหนที่ซ่อนปัญหาของเราไว้ และรัฐยังมองไม่เห็น

วอนเร่งออกใบอนุญาตโรงแรม ปลดล็อกหลายปัญหา

นางอิชยา สังบุตร ผู้ประกอบการโรงแรมขนาดเล็ก ย่านบางลา กล่าวว่า หลังโควิด-19 เปิด ดูเหมือนนักท่องเที่ยวจะมีจำนวนมากแต่มาไม่ถึงโรแรมขนาดเล็กและขนาดกลางมากนัก 

รวมถึงสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง ที่ต้องใช้เงินในการรีโนเวตและปรับปรุงอาคารสถานที่ ซึ่งหลายแห่งขาดสภาพคล่องเพราะเพิ่งกลับมาเปิดให้บริการไม่นาน

 

รวมถึงปัญหาแรงงานที่ขาดแคลน ก็ยังไม่สามารถจ้างงานเพิ่มได้ เพราะเงินที่มีจำกัดจึงต้องนำไปใช้ซ่อมแซมและปรับอาคารและอุปกรณ์ต่าง ๆ ก่อน

ตอนนี้ธนาคารมาแล้วบอกว่าต้องจ่ายเต็มเพราะนักท่องเที่ยวมาแล้ว ต้องขอความเห็นใจธนาคาร เพราะที่ผ่านมาไม่มีรายได้ บางแห่งให้เช่า ก็ถูกผู้เช่าไม่จ่ายเงินและให้ไปฟ้องร้องเอง เพราะรู้ว่า ติดขัดเรื่องการขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงแรมซึ่งขอมานานแล้วยังไม่ได้ ขอให้รัฐช่วยให้ผู้ประกอบการที่กำลังจะตายให้ดีขึ้นด้วย 

ขณะที่ปัญหาเรื่องราคา ก็ถือว่า เป็นปัญหาเช่นกัน เนื่องจากผู้ประกอบการบางรายก็ลดราคาลงเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว หลังไม่มีรายได้เข้ามาเป็นระยะเวลานาน ซึ่งก็ต้องการให้รักษามาตรฐานไว้ เนื่องจากอาจจะส่งผลกระทบได้อนาคตได้  

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง