ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

โรงเรียนสอนทักษะเด็กเอาชีวิตรอด เมื่อเผชิญเหตุกราดยิง

สังคม
23 ก.ย. 65
09:51
5,173
Logo Thai PBS
โรงเรียนสอนทักษะเด็กเอาชีวิตรอด เมื่อเผชิญเหตุกราดยิง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
โรงเรียนจัดฝึกอบรมการเอาตัวรอดในสถานการณ์กราดยิง สาธิตให้รู้จักกับอาวุธ วิธีการสังเกตผู้ก่อเหตุ รวมไปถึงวิธีแจ้งเหตุฉุกเฉิน

โรงเรียนเพลินพัฒนา เผยภาพการจัดกิจกรรมฝึกเอาตัวรอดในสถานการณ์กราดยิง ให้กับนักเรียนชั้นมัธยม เมื่อวันที่ 21 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยทีมครูฝึกจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน

การฝึกนี้ได้สาธิตให้นักเรียนรู้จักกับอาวุธ และเสียงจากอาวุธ และฝึกปฏิบัติในสถานการณ์จำลอง ในการเข้าไปในพื้นที่สาธารณะที่เป็นพื้นที่ปิด เช่น ห้างสรรพสินค้า อาคารสถานที่ต่าง ๆ หรือแม้แต่โรงเรียน ฯลฯ พร้อมกับแนะนำสิ่งที่ควรจับสังเกต รวมไปถึงวิธีแจ้งเหตุฉุกเฉินด้วยหลัก LCAN

 

สิ่งที่ควรจับสังเกตมีดังนี้

  • การแต่งกายของผู้ก่อเหตุ ส่วนใหญ่จะสะพายกระเป๋า ใส่เสื้อคลุม ที่ดูปกปิด มิดชิด เพื่อซ่อนอาวุธที่นำมา
  • ท่าทางการเดินจะเป็นการก้าว ระยะสั้น ๆ เนื่องจากต้องประคองปืนขณะเดิน
  • สังเกตท่าทางของคนรอบข้าง หากไม่น่าไว้วางใจ ควรอยู่ให้ห่าง และมองหาทางออกไว้ล่วงหน้า

หากเกิดเหตุการณ์ สิ่งที่เราควรทำ "หนี - ซ่อน - สู้"

  • หนี (Run) เมื่อเผชิญเหตุ สิ่งแรกที่ต้องทำคือวิ่งหนีหาทางออกที่ปลอดภัยที่สุด โดยการมองหาประตู หรือทางออกฉุกเฉิน เพื่อออกจากสถานการณ์นั้นให้เร็วที่สุด เป็นไปได้ให้พาเพื่อนและคนรอบข้างออกไปด้วย ขณะวิ่ง ต้องพยายามเก็บเสียงให้เงียบและวิ่งให้ไวที่สุด อย่ากลับเข้าพื้นที่นั้นโดยเด็ดขาด
  • ซ่อน (Hide) หากวิ่งจนเจอทางตัน ถัดมาคือการซ่อน และข้อพึงระวังคือห้ามซ่อนหลังประตู เพราะประตูมักจะเป็นจุดแรก ๆ ที่ผู้ก่อเหตุจะเล็งเป็นเป้า และประตูก็ไม่สามารถกันกระสุนได้ ควรมองหาจุดที่กันกระสุนได้ หรือ หากเป็นห้องให้ล็อคกลอนและหาวัตถุที่มีน้ำหนักมาขวางประตูไว้ เมื่อหาที่ซ่อนได้แล้ว เราต้องอยู่ให้เงียบที่สุด ปิดระบบเสียงโทรศัพท์ หรี่แสงของโทรศัพท์ให้เหลือน้อยที่สุด รอจนกว่าสถานการณ์จะสงบลง
  • สู้ (Fight) เมื่อถึงทางออกสุดท้าย หนีไม่ได้แล้ว เราต้องหันหน้ามาสู้ เพื่อหาทางรอดอีกครั้ง อันดับแรก ควบคุมสติ มองหาสิ่งรอบตัวที่เป็นอาวุธได้ ปากกา ขาแว่น หรือหาของแข็งที่จับกระชับมือ มุ่งเป้าไปที่จุดอ่อนต่าง เช่น จิ้มตา ต้นคอ หรือ จุดอ่อนอื่นๆ เมื่อผู้ก่อเหตุเสียหลักให้พยายามหนี ให้เร็วที่สุด

สำหรับการขอความช่วยเหลือนั้นเมื่อตำรวจมาถึงที่เกิดเหตุ สิ่งแรกตำรวจจะเข้าจัดการผู้ก่อเหตุก่อน เมื่อจัดการผู้ก่อเหตุได้แล้วจึงจะเข้าช่วยคนเจ็บตามมา

วิธีแจ้งเหตฉุกเฉินด้วยหลัก LCAN 

  • Location บอกจุดตำแหน่งที่อยู่
  • Condition แจ้งว่าเกิดอะไรขึ้น
  • Action กำลังเผชิญกับอะไร
  • Need ต้องการความช่วยเหลือในเรื่องใด

ทั้งนี้ เมื่อต้องเผชิญเหตุร้ายที่ไม่คาดคิด อัตราการเต้นของหัวใจและการหายใจเข้าออกจะถี่ขึ้น สูญเสียการได้ยิน เมื่อคิดถึงแต่ภัยจะไม่รับรู้สิ่งรอบตัว ในช่วงเวลานี้การตั้งสติ ไม่ร้องไห้ โวยวาย เงียบที่สุด และหนีให้เร็วที่สุดคือสิ่งที่จะช่วยให้เราเอาตัวรอดได้

นอกจากกิจกรรมนี้แล้วตลอดสัปดาห์นี้นักเรียนยังได้เรียนรู้การทำ CPR การดับเพลิงและหนีออกจากห้องที่เต็มไปด้วยควัน รวมถึงการว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอดด้วย

หลังจากโพสต์นี้ได้ถูกเผยแพร่ มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก ที่เข้ามาชื่นชมโรงเรียนที่เตรียมความพร้อมให้กับเด็ก  

ความรู้ไม่ได้อยู่แค่ในตำรา ต้องเสริมทักษะเอาชีวิตรอด

ขณะที่ นายทนง โชติสรยุทธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนเพลินพัฒนา ให้ข้อมูลกับไทยพีบีเอสออนไลน์ ว่า ทางโรงเรียนจัดกิจกรรมฝึกเอาตัวรอดในสถานการณ์กราดยิง ให้กับนักเรียนชั้นมัธยม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนในหลักสูตรของฝ่ายมัธยม

 

กิจกรรมดังกล่าวมีทีมครูฝึกจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน โดยหลักสูตรนี้ ปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-23 ก.ย.2565 ที่ผ่านมา

 

นอกเหนือจาก การฝึกทักษะให้เด็ก ๆ รู้วิธีเอาตัวรอดกรณีสถานการณ์กราดยิง ซึ่งมีทั้งภาคทฤษฎีและฝึกปฏิบัติในสถานการณ์จำลอง โดยครูและนักเรียนจะฝึกไปพร้อมกัน

 

นอกจากกิจกรรมฝึกเอาตัวรอดในสถานการณ์กราดยิง ทางโรงเรียนยังจัดหลักสูตรการเอาตัวรอดจากสถานการณ์และอุบัติเหตุอื่น ๆ ด้วย เช่น การเอาชีวิตรอดจากการจมน้ำ ปฐมพยาบาลเบื้องต้น

 

การกู้สัญญาณชีพ CPR และการใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ AED (Automated External Defibrillator) 

 

รวมไปถึงการฝึกปฏิบัติดับเพลิงเบื้องต้นและการเอาชีวิตหนีออกจากควันไฟ และยังมีการเสริมกิจกรรมที่ไม่ได้อยู่ในแผน คือ การเผชิญเหตุสารเคมีรั่ว อีกด้วย

 

นายทนง กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการจำลองสถานการณ์และให้เด็กฝึกปฏิบัติจริง ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวจบ แต่จัดขึ้นบ่อย ๆ โดยทักษะหลักข้างต้นจะจัดทุกปีโดยแต่ละปีมีรูปแบบและการจัดการที่แตกต่างกัน

 

สำหรับปีนี้เป็นปีแรกที่มีกิจกรรม Active Shooter เพิ่มเข้ามา ทั้งนี้ก็เพื่อให้เด็กมีทักษะการเอาตัวชีวิตรอด ให้ติดตัวเด็กไปแม้จะอยู่นอกรั้วโรงเรียน

นักเรียนสนุก ตื่นเต้น ได้เรียนรู้ และกลับไปเล่าให้ผู้ปกครองฟัง โดยได้เสียงตอบรับจากผู้ปกครองชั้นมัธยมดีมาก เห็นได้จากเสียงตอบรับในกรุ๊ปไลน์ของผู้ปกครองในแต่ละระดับชั้น และเฟซบุ๊กของโรงเรียน

นอกจากนี้ โรงเรียนยังได้เสริมทักษะด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น มีการสอนโค้ดดิ้ง คือการเขียนโปรแกรม หรือ ชุดคำสั่งให้คอมพิวเตอร์

 

การเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneur), การคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) และอื่น ๆ เช่น มีห้องและกิจกรรม Board Game หลังเลิกเรียน เป็นต้น

 

นอกจากนี้ ยังมีการทำโครงงาน Problem-Based Learning: PBL เพื่อให้นักเรียนได้ค้นหาความชอบ ความถนัด ได้ท้าทายและค้นพบศักยภาพตนเอง โดยในปีนี้เรามาใน Theme PBL X SDG – เน้นการเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของ UN เพราะเป้าหมายของโรงเรียน คือ ให้นักเรียนเป็น ผู้ร่วมให้ข้อมูลเชิงบวก (Positive Active Contributor)

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง