มิคาอิล เซอร์เกเยวิช กอร์บาชอฟ ผู้นำคนสุดท้ายก่อนการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ถึงแก่อสัญกรรมในวัย 91 ปี ด้วยอาการป่วยเรื้อรัง เมื่อช่วงเย็นของวันอังคาร (30 ส.ค.) ที่ผ่านมา
วันนี้ (31 ส.ค.2565) อ.กัณฐัศศา พงษ์หิรัญ ผอ.โครงการรัสเซียศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ อธิบายตัวตนและแนวคิดของ กอร์บาชอฟ ในรายการ Newsroom Daily รายการออนไลน์ของไทยพีบีเอส
โดยระบุว่า มุมมองของคนรัสเซียต่อ กอร์บาชอฟ ในช่วงที่สหภาพโซเวียตกำลังล้มสลายและล้มสลาย มี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เห็นด้วย ซึ่งเป็นกลุ่มของคนรุ่นใหม่ เป็นกลุ่มหัวปฏิรูปที่พร้อมจะรับการเข้ามาของกระแสทุนนิยม และพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงจากสังคมนิยมเป็นเสรีนิยม
นโยบาย "กลัสนอสต์" (Glasnost) ของกอร์บาชอฟ เป็นนโยบายเปิดประเทศ เปิดเสรีภาพสื่อ และเปิดเสรีภาพการมีส่วนรวมทางการเมือง สามารถวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของพรรคคอมมิวนิสต์ได้ ทำให้ประชาชนชาวโซเวียตกลุ่มนี้ ได้เห็นโลกภายนอก ได้เห็นการเปลี่ยนแปลง และได้สัมผัสกับเสรีภาพ พวกเขาจึงเห็นด้วยกับการล้มสลายของสหภาพโซเวียต
ชาวโซเวียต สามารถเลือกสิ่งที่จะกิน เลือกเครื่องแต่งกาย ฟังเพลง ดูหนัง โดยไม่มีการปิดกั้น ได้เสรีภาพเต็มที่
ขณะที่กลุ่มไม่เห็นด้วยหรือกลุ่มต่อต้าน คือ กลุ่มอนุรักษ์นิยม เป็นกลุ่มคนมีอายุ คนที่ชื่นชอบสวัสดิการ และคนมีตำแหน่งทางการเมือง ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงเพื่อรักษาอำนาจและประโยชน์ของตัวเอง
เมื่อเปรียบเทียบบุคลิกของ "กอร์บาชอฟ" กับ "ปูติน" อ.กัณฐัศศา กล่าวว่า มุมมองของ กอร์บาชอฟ และ ปูติน มีความแตกต่างกัน เพราะสถานะและตัวตนของทั้งคู่ในเวลานั้น อยู่ในบริบทที่ต่างกัน
"กอร์บาชอฟ" ต้องการให้ประชาชนอยู่ดีกินดี
กอร์บาชอฟ เป็นผู้นำโซเวียตที่ผ่านช่วงเวลาผันผวนและล่อแหลมมาอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 วิกฤตการณ์คิวบา ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าว ทำให้ กอร์บาชอฟ เห็นว่าความขัดแย้งหรือการใช้นโยบายหรืออุดมการณ์ทางการเมืองแบบ 2 ขั้วอำนาจต่อสู่กัน ไม่มีผลดีใด ๆ ทั้งสิ้น และมองว่าสิ่งที่สำคัญที่สุด ไม่ใช่ชัยชนะและอำนาจ แต่คือการอยู่ดี กินดี ของประชาชน
กอร์บาชอฟ จึงเห็นว่าการปรับตัวหรือเปลี่ยนแปลงระหว่างสังคมนิยมเป็นทุนนิยมเป็นสิ่งสำคัญ เพราะสังคมนิยม ทำให้ขาดสภาพคล่อง การหมุนเวียนเม็ดเงินภายในประเทศช้าและฟืดเคือง ไม่คล่องตัวเหมือนทุนนิยม
"ปูติน" ต้องการรื้อฟื้นความยิ่งใหญ่อีกครั้ง
วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียในปัจจุบัน ปูตินมีความใฝ่ฝันอยากเป็นสายลับมาตลอดชีวิต ในช่วงทศวรรษที่ 80 ปูตินอาศัยอยู่ที่เยอรมนีตะวันออก ได้ทำหน้าที่เป็นสายลับ ซึ่งถือเป็นช่วงที่รุ่งโรจน์และประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก แต่วันหนึ่ง ปูตินเห็นสหภาพโซเวียตล่มสลายไปต่อหน้าต่อตา ปูตินมองว่า เป็นหายนะของภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งประวัติศาสตร์ของโซเวียต ประวัติศาตร์ของรัสเซีย และประวัติศาสตร์ของโลก
ปูตินยังมีภาพจำ ที่ยึดติดกับความรุ่งโรจน์ของของสหภาพโซเวียต และมองว่าสิ่งนี้คือตัวตนของรัสเซีย ซึ่งเขาอยากจะรื้อฟื้นสิ่งนี้ขึ้นมาอีกครั้ง