วันนี้ (27 ส.ค.65) สำนักงานชลประทานที่ 8 รายงานกรณีมีการนำเสนอข่าวว่า "อ่างเก็บน้ำลำตะโคงแตก" พบว่า อ่างดังกล่าว ตั้งอยู่ที่ ต.หัวฝาย อ.แคนดง จ.บุรีรัมย์ เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง มีปริมาตรความจุอ่างเก็บน้ำที่ระดับเก็บกัก 7.53 ล้าน ลบ.ม.
โครงการชลประทานบุรีรัมย์ ได้รายงานการตรวจพบการกัดเซาะของน้ำบริเวณรอยต่อของทำนบดินกับตัวอาคารระบายน้ำล้นฝั่งขวา (Horse Shoe Spillway) จนเกิดการทะลุออกทำนบดินด้านท้าย (Piping) เมื่อเวลา 15.00 น. ของวันที่ 26 ส.ค.65
เบื้องต้นโครงการฯ ได้ออกหนังสือแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่บริเวณพื้นที่ด้านท้ายที่จะได้รับผลกระทบ ได้ทำการลดระดับน้ำในอ่างฯ โดยการระบายออกทางอาคาร ปตร. (Gate Spillway) เตรียมเครื่องจักรกล เพื่อดำเนินการถมปิดบริเวณทำนบดินด้วยกระสอบทราย (Bigbag) ที่บริเวณดังกล่าว เพื่อลดชะลอความแรงของน้ำ และลดการกัดเซาะของน้ำที่กระทำต่อตัวเขื่อน
ปัจจุบันน้ำได้กัดเซาะบริเวณฐานรากใต้พื้นอาคารระบายน้ำลันจนทำให้ตัวฝายโอกี (OGEE) และกำแพงด้านข้างฝั่งขวาของอาคารระบายน้ำล้นเกิดการชำรุดเสียหาย ณ วันที่ 27 ส.ค.2565 เวลา 06.00 น. มีปริมาณน้ำในอ่าง 5.06 ล้าน ลบ.ม. หรือ 67.189 ของความจุ ระดับน้ำในอ่างฯ ลดลงจากเมื่อวาน 0.91 ม. ปริมาณน้ำไหลลงอ่าง 4.6ล้าน ลบ.ม. (53 ลบ.ม./วินาที) ระบาย 9.6 ล้าน. ลบ.ม. (111 ลบ.ม./วินาที)
เนื่องจากลำตะโคง ด้านท้ายอ่าง สามารถรับน้ำได้ถึง 300 ลบ.ม./วินาที ปริมาณน้ำที่ระบายออกจากอ่างในปัจจุบันประมาณ 200 ลบ.ม./วินาที ยังอยู่ในลำน้ำ ไม่มีผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชน แต่จะมีท่วมขังพื้นที่การเกษตรบริเวณที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำบ้าง จำนวนประมาณ 1,100 ไร่