ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ขนย้าย 'น้ำเปื้อนสาร' จากธุรกิจล้างถังสารเคมี ออกไปกำจัด

สิ่งแวดล้อม
19 ส.ค. 65
18:28
427
Logo Thai PBS
ขนย้าย 'น้ำเปื้อนสาร' จากธุรกิจล้างถังสารเคมี ออกไปกำจัด
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
ผู้ประกอบกิจการล้างถัง ในพื้นที่ "บ้านซับชุมพล" อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ขนย้าย "น้ำปนเปื้อนสารเคมี" ในบ่อพักน้ำรวมกันกว่า 8.7 ตัน ส่งออกไปกำจัด หลังถูกสั่งหยุดประกอบกิจการล้างถังมานานกว่าครึ่งปี เพราะตรวจพบว่า เป็นการประกอบกิจการล้างถังที่ไม่ได้รับอนุญาต

วันนี้ (19ส.ค.65) กลุ่มผู้ประกอบกิจการล้างถังสารเคมี รวบรวม "น้ำปนเปื้อนสารเคมี" ในบ่อพักน้ำเสีย เพื่อขนย้ายขึ้นรถบรรทุกส่งไปกำจัดอย่างถูกต้องตามมาตรฐาน ที่บริษัทเอกชนใน จ.สระบุรี โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่าง สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 11, สาธารณสุขจังหวัด, อุตสาหกรรมจังหวัด, ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด, อำเภอสีคิ้ว และอบต.หนองหญ้าขาว เข้าร่วมสังเกตการณ์


หนึ่งในผู้ประกอบการ ให้ข้อมูลว่า หลังมีคำสั่งให้ยุติการประกอบกิจการล้างถังสารเคมี ตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ.65 ผู้ประกอบการทุกรายได้หยุดดำเนินตามคำสั่งทันที สำหรับน้ำเสียที่เห็นในวันนี้ ส่วนหนึ่งเป็นน้ำเสียที่ตกค้างจากการดำกิจการก่อนหน้า และอีกส่วนมาจากน้ำฝนที่ตกลงมาไหลลงไปรวมในบ่อพักน้ำ 

 

ผู้ประกอบการ ให้ข้อมูลว่า นี่ถือเป็นครั้งสุดท้ายของการแก้ไขปัญหา เพราะผู้ประกอบการทั้งหมด ตัดสินใจหยุดประกอบกิจการล้างถัง โดยบางรายตั้งใจเปลี่ยนอาชีพหันไปเลี้ยงสัตว์แทน ขณะที่บางรายบอกว่า ยังคงจะประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการซื้อขายถัง แต่ไม่มีการล้างถังในพื้นที่อีก


นายธนัญชัย วรรณสุข ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 11 ระบุว่า ต้องขอบคุณผู้ประกอบการที่ให้ความร่วมมือ เลิกการประกอบกิจการล้างถังสารเคมี แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังสารเคมีบางชนิดที่อาจตกค้าง โดยแนะนำให้ผู้ประกอบการนำปูนขาวหรือโซดาไฟมาโรย เพื่อปรับปรุงคุณภาพดินที่มีการปนเปื้อน ป้องกันสารเคมีตกค้างไหลไปปนเปื้อนในแหล่งน้ำ หรือพื้นที่การเกษตร

 

สำหรับประเด็นนี้ทีมข่าวไทยพีบีเอส ได้รับข้อมูลร้องเรียนจากผู้ได้รับผลกระทบ จากการประกอบกิจการล้างถัง ทั้งเรื่องกลิ่นสารเคมีและการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม หลังทีมข่าวลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ช่วงต้นปีที่ผ่านมา พบว่า ในหมู่บ้านมีกิจการล้างถังสารเคมีรวมกว่า 11 ราย ส่วนใหญ่ไม่มีใบอนุญาต จึงประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบ จนนำมาสู่การสั่งปิดกิจการ และนำน้ำปนเปื้อนสารเคมีไปกำจัดในครั้งนี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง