วันนี้ (5 ก.ค.2565) ผู้สื่อข่าวรายงานข้อมูลจากเว็บไซต์ National Oceanic and Atmospheric Administration's ที่มีรายละเอียดของทุ่นเตือนสึนามิทั่วโลก โดยพบว่าทุ่นที่อยู่ในความดูแลของไทยมีทั้งหมด 2 ทุ่น คือสถานี 23461 ห่างจาก จ.ภูเก็ต ไปทางตะวันตกประมาณ 340 กม. แสดงสถานะสีแดง ขณะที่ทุ่นที่สถานี 23401 ห่างจาก จ.ภูเก็ต 965 กม. แสดงสถานะสีแดง เช่นกัน
รศ.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ข้อมูลว่า สถานะสีแดงที่ปรากฎ หมายถึง "ทุ่นไม่ทำงาน" และทั้ง 2 ทุ่นเคยหลุดออกจากรัศมีการส่งข้อมูลมาแล้ว ซึ่งค่อนข้างน่าเป็นห่วง หากเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 7 ขึ้นไป
คลื่นสึนามิมีความเร็วสูงมากประมาณ 400-500 กม./ชม. แม้จะมีทุ่น ก็มีเวลาเตือนภัยแค่ชั่วโมงเดียว ถ้าเกิดบริเวณนั้น แต่ถ้าไม่มีทุ่นก็ไม่สามารถเตือนภัยล่วงหน้าได้
"ยกเว้นคลื่นมาถึงเกาะต่างๆ ที่เป็นอาณาเขตของประเทศไทย เช่น เกาะเมี่ยง ที่ใช้เตือนอยู่ ก็จะได้แค่ 10-15 นาทีเท่านั้น จึงเป็นที่กังวลว่าถ้าเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริง จะสามารถเตือนได้กระชั้นชิดมาก ซึ่งไม่เพียงพอในการที่จะอพยพ" รศ.เสรี ระบุ
เหตุแผ่นดินไหวนอกชายฝั่งหมู่เกาะนิโคบาร์ ห่างจาก จ.ภูเก็ต ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือกว่า 500 กม. ตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา จนถึงเวลาประมาณ 17.00 น. พบ 24 ครั้ง
ขณะที่ ศ.สันติ ภัยหลบลี้ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า การเกิดแผ่นดินไหวติดต่อกันภายใน 2 วัน เป็นสิ่งที่ควรเฝ้าระวัง เพราะยังสรุปไม่ได้ว่าเป็นเพียงกลุ่มแผ่นดินไหวขนาดปานกลาง หรือเป็นชุดแผ่นดินไหวนำที่มักเกิดก่อนแผ่นดินไหวหลัก
กลไกการเกิดแผ่นดินไหวของพื้นที่นี้ รูปแบบการเลื่อนตัวสามารถทำให้เกิดสึนามิได้ แต่โอกาสน้อยมาก และต่อให้เกิดสึนามิก็จะไม่รุนแรง แตกต่างพอสมควรกับเขตมุดตัวของแผ่นดินไหว
ศ.สันติ กล่าวอีกว่า แผ่นดินไหวไม่เคยเกิดเกินขนาด 6 ซึ่งรูปแบบการเกิดสึนามิต้องมีความรุนแรงขนาด 7 ขึ้นไป จึงจะทำให้มีการปริแตกบนพื้นผิวโลกใต้ทะเล แล้วเกิดการเคลื่อนตัวและทำให้เกิดสึนามิ แต่อย่างไรก็ตามขอให้ประชาชน 5 จังหวัดที่ติดฝั่งทะเลอันดามัน ติดตามข่าวสารและการรายงานเหตุการณ์แผ่นดินไหวอย่างใกล้ชิดจากกรมอุตุนิยมวิทยา
ด้านนายกลวัชร ทรัพย์ส่งสุข ผอ.ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ยืนยันกับทีมข่าวไทยพีบีเอส ว่า แม้ทุ่นสึนามิบริเวณมหาสมุทรอินเดียจะใช้การไม่ได้ แต่หากเกิดแผ่นดินไหวในทะเลที่อาจจะทำให้เกิดสึนามิ (ขนาด 7.8) จะมีการกดปุ่มเตือนภัย และมีเวลา 1.30 ชม. ที่ประชาชนสามารถอพยพได้ทัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กรมอุตุฯ ยืนยันแผ่นดินไหวอินเดีย ไม่ทำให้เกิดสึนามิ-ไม่กระทบไทย