ความคืบหน้ากรณีราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กำหนดให้ “เตาเผาศพ” เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ โดยนำร่องพื้นที่ กทม.และพัทยา จ.ชลบุรี ส่วนจังหวัดอื่นผ่อนปรนอีก 3 ปี
วันนี้ (23 มิ.ย.2565) นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า ปัญหาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับเขม่าควัน และกลิ่นจากการเผาศพมีอยู่เป็นระยะ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 มีการเผาศพจำนวนมาก และมีการเผาพร้อมกันหลายวัด บางวัดเตาเผาศพยังไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ทำให้ประชาชนโดยเฉพาะในเขตชุมชน ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นจากการเผาศพ
การเผาศพจะมีกลิ่น ควัน ฝุ่น PM2.5 ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ขี้เถ้า ซึ่งมาจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ หรืออุณหภูมิไม่สูงพอ ซึ่งองค์ประกอบของกลิ่นเผาศพ จะมีก๊าซหลายชนิด เช่น แอมโมเนีย ไฮโดรเจนซัลไฟด์ เมอร์แคปแทน ฟอร์มาลดีไฮด์จากนํ้ายารักษาศพ
ยันไม่ไล่จับวัดปล่อยมลพิษจาก "เตาเผาศพ"
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวอีกว่า ปัญหาความเดือดร้อนดังกล่าว คณะกรรมการควบคุมมลพิษ เห็นสมควรปรับปรุงการกำหนดให้เตาเผาศพเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ ที่จะต้องถูกควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียออกสู่สิ่งแวดล้อม อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 68 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 โดยที่ผ่านมาได้รับฟังความคิดเห็น กับสำนักงานสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) จากทุกภาคส่วน และมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 22 มิ.ย.นี้
นายอรรถพล กล่าวอีกว่า โดยข้อกำหนดตามมาตรฐานที่ออกมาคือ การเผาศพต้องใช้ความร้อนสูงกว่า 800 องศาเซลเซียส และกำหนดค่าความทึบแสงของเขม่าควันจากปล่องเตาเผาศพ ต้องไม่เกิน 7% จากเดิม 10% ประกาศนี้ ให้ใช้บังคับกับเตาเผาศพในเขตพื้นที่ กทม.เขตเมืองพัทยา เขตเทศบาลนคร และเขตเทศบาลเมือง ส่วนพื้นที่อื่น ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 3 ปี
ยืนยันว่าคพ.จะไม่ไปไล่ตรวจ หรือจับวัดไม่ปล่อยมลพิษจากเตาเผาศพ เป็นการออกประกาศเพื่อให้มีมาตรฐานการเผาศพต้องไม่ก่อมลพิษ ซึ่งท้องถิ่น กทม.เทศบาล กรมอนามัยจะเป็นฝ่ายปฏิบัติ แต่ละวันวัดเผาศพต่อเนื่องวันละ 1-2 ศพ แต่หากเป็นวัดใหญ่เฉลี่ยมากกว่านี้
นายอรรถพล กล่าวว่า ภาพรวมไม่ห่วงวัดในกทม.และเมืองใหญ่ๆ เพราะส่วนใหญ่ 90% มีการปรับปรุงเตาเผาศพปลอดมลพิษมาระยะหนึ่ง ซึ่งวัดอาจต้องลงทุนเตาเผาศพให้ได้มาตรฐานเฉลี่ย 200,000-400,000 บาท ซึ่งทางพศ.มีงบอุดหนุนให้วัดปรับปรุงเฉลี่ย 1.5-2 ล้านบาทต่อแห่ง จึงต้องเตรียมความพร้อมสำหรับวัดในต่างจังหวัด ขณะที่พบว่าวัดหลายแห่งตื่นตัว มีการสอบถามข้อมูลมาที่คพ.เรื่องมาตรฐานเตาเผาศพ ดังนั้นในสัปดาห์หน้า คพ.จะนัดหารือกับทาง พศ.และตัวแทนวัดเพื่อซักซ้อมและทำความเข้าใจในประเด็นนี้
วัดทั่วประเทศ 42,655 แห่ง
ปัจจุบันมีจำนวนวัดทั่วประเทศทั้งหมด 42,655 วัด มีจำนวนเตาเผาศพประมาณ 25,500 เตา เป็นเตาเผาศพในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา เทศบาลนคร และเทศบาลเมือง ประมาณ 8,000 เตา และเป็นเตาเผาศพในพื้นที่อื่น ประมาณ 17,500 เตา
จากการสำรวจของ คพ.พบว่าเตาเผาศพในกทม.และเมืองใหญ่ สามารถควบคุมมลพิษได้ตามมาตรฐานอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นเตาเผาแบบ 2 ห้องเผาแล้ว และผู้ควบคุมเตาเผาศพปลอดมลพิษ จะต้องมีการควบคุมอุณหภูมิ ตลอดการเผาศพให้สูงกว่า 800 องศาเซลเซียส หากมีการจัดการควบคุมเตาที่ดีจะเผา ทำลายสารมลพิษทางอากาศ รวมทั้งควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ไม่สร้างผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ราชกิจจานุเบกษาฯ เผยแพร่ประกาศ “เตาเผาศพ” แหล่งกำเนิดมลพิษ