งบประมาณกรุงเทพฯ มีมากเกือบ 8 หมื่นล้านบาท ถือว่าสูงมาก หากเปรียบเทียบกับงบประมาณแผ่นดินปี 64 จะมากกว่างบประมาณในหลายกระทรวง เช่น สำนักนายกฯ 4 หมื่นล้านบาท กระทรวงยุติธรรม 2.7 หมื่นล้านบาท กระทรวงพัฒนาสังคมฯหรือพม. 2.2 ล้านบาท หรือแม้แต่กระทรวงวัฒนธรรม มีงบเพียง 8.7 พันล้านบาท
แม้งบประมาณของกทม.ส่วนใหญ่ จะเป็นเงินเดือนและด้านธุรการกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ แต่ในจำนวนนี้ แยกเป็นงบกลาง ซึ่งอยู่ในอำนาจการตัดสินใจของผู้ว่าฯ ใช้สำหรับโครงการฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 14,417 ล้านบาท
ที่เหลืออีก 64,561 ล้านบาท เป็นงบประมาณสำนักงานในสำนักปลัด กทม. หน่วยงานต่าง ๆ และสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต
หน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบมากสุด คือสำนักการระบายน้ำ 7 พันล้านบาท สำนักสิ่งแวดล้อม 6.8 พันล้านบาท และสำนักการโยธา 6.4 พันล้านบาท
สำนักการแพทย์ 4.4 พันล้านบาท และสำนักการจราจรและขนส่ง 3.8 พันล้านบาท
ส่วนสำนักงานเขตที่มีการจัดซื้อจัดจ้างมากที่สุด 3 อันดับคือ เขตคลองสามวา เขตหนองจอก และเขตมีนบุรี
ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์การต้านคอรัปชันประเทศไทย ระบุว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2558 – 2564 โครงการที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดคอรัปชันของ กทม. มีจำนวนมาก เช่น จัดซื้ออาหารเสริม นม และอาหารกลางวันเด็กนักเรียน 444 โครงการ รวม 1.7 หมื่นล้านบาท
งบลงทุนสร้างตลาดน้ำ 14 แห่ง ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไม่รู้งบประมาณแน่ชัด งบปรับปรุงสวนลุมพินี พื้นที่ 360 ไร่ รวม 1.7 พันล้านบาท งบซื้อยางมะตอยเพื่อซ่อมผิวถนนปีละ 170-190 ล้านบาท การเช่ารถขนขยะแบบผูกขาดต่อเนื่องนับสิบปี จากเอกชนที่เป็นนักการเมืองใหญ่ และโครงการเมกะโปรเจ็คท์อีกมากมาย
นอกจากนี้ ยังมีการคอรัปชันอีก 4 ประเภท ที่คน กทม.ต้องเผชิญมาโดยตลอด
1.รีดไถประชาชน พ่อค้าแม่ค้า นักธุรกิจ เช่น ค่าออกใบอนุญาต ค่าอนุมัติการสร้างและต่อเติมบ้าน อาคาร ร้านค้า อาคารพาณิชย์ บ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม
2.เรียกรับส่วยสินบนจากผู้ประกอบการ แลกกับการทำผิดกฎหมายหรือจ่ายภาษีเข้ารัฐน้อยลง เช่น เรียกเงินใต้โต๊ะจากคนค้าขาย แลกกับการจ่ายภาษีป้าย ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ให้ต่ำกว่าเป็นจริง
3.โกงเงินหลวงในการจัดซื้อจัดจ้างและการให้สิทธิ์ สัมปทานแก่เอกชน เช่น คดีรถและเรือดับเพลิง กรณีอุโมงค์ไฟลานคนเมือง 39 ล้านบาท กรณีสัมปทานรถไฟฟ้า และการจัดอีเว้นท์
4.ใช้อำนาจในทางมิชอบ เช่น กรณีปล่อยให้มีตลาดนัดเถื่อน
ดร.มานะ จึงเรียกร้องให้ผู้สมัครผู้ว่าฯ เปิดนโยบายการต่อต้านการทุจริตในกรุงเทพฯอย่างเป็นรูปธรรม แทนที่จะเน้นเรื่องการขายฝันให้กับคนกรุงเทพฯ
เนื่องจากข้อมูลจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ปปท.) มียอดร้องเรียนที่ศูนย์ต่อต้านการทุจริต (ศปท.) ระหว่าง 22 พ.ค.57-30 ก.ย.64 มีรวมทั้งสิ้น 2,423 เรื่อง เฉพาะกรุงเทพฯ มีร้องเรียนมากถึง 748 เรื่อง โดยมีพฤติการณ์หลัก คือ ปฏิบัติโดยมิชอบ ยักยอก ข่มขู่เรียกรับ และทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง
ขณะที่ข้อมูลร้องเรียน ป.ป.ช. ปีงบประมาณ 2565 ตั้งแต่ ต.ค. 2564-ม.ค. 2565 พบว่า มีจำนวนทั้งสิ้น 2,656 เรื่อง เป็นการร้องเรียนไปยัง ป.ป.ช.โดยตรง จำนวน 1,835 เรื่อง ส่วนหนึ่งก็เป็นร้องเรียนเจ้าหน้าที่และความไม่โปร่งใสของกทม.
ขณะที่ 3 อันดับแรก คือการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต จำนวน 2,031 เรื่อง จัดซื้อจัดจ้าง 393 เรื่อง และอื่น ๆ เช่น ร่ำรวยผิดปกติ การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและส่วนรวม หรือฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม จำนวน 232 เรื่อง เท่ากับเรื่องความโปร่งใส คือสิ่งว่าที่ผู้ว่าฯต้องตระหนัก และน่าจะเป็นเรื่องที่ชาวกรุงเทพฯทั้งหมด ต้องการอยากจะให้เป็น
จุดเริ่มต้นที่ดีที่สุด นอกเหนือจากเรื่องบริหารจัดการโดยคำนึงถึงผลประโยชน์คนส่วนใหญ่ ต้องมีหลักจริยธรรม และเข้าโครงการข้อตกลงคุณธรรม( Integrity Pact) แล้ว การเปิดเผยรายละเอียด และค่าใช้จ่าย ผ่านเว็บไซต์ หรือแพลตฟอร์มที่คนเข้าถึงง่ายและเปิดเผยของกทม. ก็ควรต้องใส่ใจและผลักดันอย่างจริงจัง โดยไม่มีข้ออ้าง ก้าวล่วงหรือละเมิดสิทธิของคนอื่นอย่างที่เป็นอยู่