ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

13 ชุมชนสะท้อน “ชัชชาติ” แก้เศรษฐกิจปากท้อง-ของแพง

การเมือง
29 เม.ย. 65
13:13
1,071
Logo Thai PBS
13 ชุมชนสะท้อน “ชัชชาติ” แก้เศรษฐกิจปากท้อง-ของแพง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
“ชัชชาติ” ลงพื้นที่ ธนบุรี-บางกอกใหญ่ รับฟังปัญหาจากผู้นำ 13 ชุมชน ที่ขอให้ช่วยฟื้นเศรษฐกิจปากท้อง สินค้าราคาแพง ฯลฯ พร้อมให้บริการพื้นฐานที่มีคุณภาพ เช่น การศึกษา สาธารณสุข ฯลฯ

วันนี้ (29 เม.ย.2565) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 8 ลงพื้นที่หาเสียงเขตธนบุรีและเขตบางกอกใหญ่ เข้าร่วมเวทีประชาคม ที่ลานวัดหงส์รัตนาราม รับฟังปัญหาจากผู้นำชุมชนกว่า 40 คน ใน 13 ชุมชนเขตบางกอกใหญ่ ทำให้ทราบปัญหาสำคัญในพื้นที่ดังกล่าวคือ

ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง ยาเสพติด และปัญหาสิ่งอำนวยความสะดวกภายในชุมชน ก่อนเดินพบปะประชาชน ที่ตลาดวัดจันทารามวรวิหาร และชุมชนโดยรอบ เพื่อรับฟังปัญหาจากประชาชนถึงประตูบ้าน

นายชัชชาติกล่าวว่า การเข้าใจปัญหาประชาชน คือหัวใจสำคัญในการพัฒนานโยบาย กทม. ต้องออกแบบวิธีจัดการปัญหา โดยที่ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้

การค้าขายริมทางที่ยังมีความจำเป็นต่อเมือง เนื่องจากเป็นแหล่งจำหน่ายอาหารราคาถูก แต่ กทม. จะจัดการพื้นที่อย่างไรไม่ให้ร้านค้าเบียดบังทางเท้า

นายชัชชาติกล่าวว่า หากได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. จะลงพื้นที่ 50 เขต ภายใน 1 ปี ตามโครงการ “ผู้ว่าฯ สัญจร” เพื่อทำความเข้าใจปัญหา กทม. ให้ดีขึ้น และเป็นช่องทางให้ชุมชนได้ร้องเรียนปัญหาถึงผู้ว่าฯ กทม.โดยตรงอีกด้วย

 

จากการลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ประเด็นที่น่ากังวลที่สุดคือ ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง เงินเฟ้อ สินค้าราคาแพง และผู้ได้รับผลกระทบคือผู้มีรายได้น้อย

กทม.จะต้องช่วยลดค่าใช้จ่ายของประชาชน โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น เงินใต้โต๊ะ ส่วย ต้องยกเลิก พร้อมให้บริการพื้นฐานที่มีคุณภาพ เช่น การศึกษา การสาธารณสุข ฯลฯ เพื่อฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ได้โดยเร็ว เพื่อจะเปิดประเทศ เปิดกิจการต่าง ๆ ให้นักท่องเที่ยวกลับมา

นายชัชชาติกล่าวต่อว่า จะดึงอัตลักษณ์ของย่าน 50 ย่าน 12 เทศกาล มาเสริมสร้างเศรษฐกิจ สร้างกิจกรรมดึงดูดนักท่องเที่ยว และสร้างหารายได้ให้กับประชาชนในแต่ละแห่ง

“เราต้องหาคุณค่าที่ซ่อนอยู่ในชุมชน เช่น เขตบางกอกใหญ่ มีพื้นที่วังเดิมที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เราสามารถเชื่อมโยงสถานที่สำคัญกับคลองให้เกิดแหล่งท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย และเกิดการสร้างงาน โดยเฉพาะการจ้างงานกลุ่มผู้สูงอายุ กทม." นายชัชชาติกล่าว

นายชัชชาติกล่าวด้วยว่า ในภาวะที่ทุกคนเดือดร้อนเรื่องเศรษฐกิจ ข้าราชการเจ้าหน้าที่ กทม. ต้องเอาใจใส่ประชาชนให้มากขึ้น ตนเชื่อว่า กทม. มีบุคลากรที่มีคุณภาพจำนวนมาก เพียงปรับเปลี่ยนมุมมองการทำงานให้เป็นการ "หันหลังให้ผู้ว่าฯ หันหน้าให้ประชาชน" แล้วนำทรัพยากรที่มีลงไปช่วยเหลือประชาชนให้เต็มที่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง