วันนี้ (21 เม.ย.2565) ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ครั้งที่ 3 คดีปฏิบัติหน้าที่มิชอบที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ผอ.ศอฉ.) ร่วมกันเป็นโจทก์ ฟ้องนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ, พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ อดีตหัวหน้าชุดสอบสวนคดีการเสียชีวิตของประชาชน และเจ้าหน้าที่รัฐจากเหตุรุนแรงทางการเมืองปี 2553, พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ และ ร.ต.อ.ปิยะ รักสกุล ในฐานะพนักงานสอบสวน ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานเป็นร่วมกันเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต และเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนกระทำการโดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 200 วรรคสอง
กรณีเมื่อระหว่างเดือน ก.ค.2554 - 13 ธ.ค.2555 จำเลยทั้งสี่ ในฐานะพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้สอบสวนและตั้งข้อหากับโจทก์ทั้งสอง ฐานสั่งฆ่าประชาชน ซึ่งเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง และเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ให้ต้องรับโทษ จากการที่ ศอฉ.ออกคำสั่งให้ใช้กำลังเจ้าหน้าที่กระชับพื้นที่การชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553 ที่ชุมนุมขับไล่นายอภิสิทธิ์ ให้ออกจากตำแหน่งนายกฯ จำเลยทั้งสี่ ให้การปฏิเสธ ต่อสู้คดี คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษา ยกฟ้องจำเลยทั้งสี่ โจทก์ทั้งสอง ยื่นอุทธรณ์ ขอให้ลงโทษพวกจำเลยด้วย
ต่อมา ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยทั้งสี่ กระทำผิดตามฟ้องจริง พิพากษากลับให้จำคุกจำเลย คนละ 3 ปี ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยคนละ 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา ขณะที่จำเลยทั้งสี่ได้รับการประกันตัว และยื่นฎีกาต่อ
เมื่อถึงเวลานัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกาวันนี้ ซึ่งเป็นครั้งที่ 3 นายธาริตไม่ได้เดินทางมาศาล นอกจากนี้ ทนายจำเลยได้ยื่นหลักฐานใหม่ในคดี พร้อมวางเงินจำนวน 300,000 บาท เพื่อเป็นการบรรเทาผลร้าย ขณะที่ทนายโจทก์ยื่นคัดค้าน อ้างว่า เป็นพยานหลักฐานที่มีในคดีอยู่แล้ว แต่ปล่อยเวลาเนิ่นนานไม่ยอมยื่นเข้ามาในสำนวนคดี แต่เพิ่งมายื่นหลังจากจะมีคำพิพากษาฎีกา นอกจากนี้ยืนยันไม่ขอรับเงินจำนวน 300,000 บาท เนื่องจากมีสิทธิฟ้องร้องทางแพ่ง และเป็นคดีอาญา
ส่วนนายธาริต จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเลื่อนฟังคำพิพาษาฎีกาออกไปอีก 3 เดือน เนื่องจากมีอาการหายใจไม่ออก เหนื่อยอ่อนเพลีย ขอพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล 3 เดือน ไม่เช่นนั้นอาจมีอันตรายถึงชีวิต ซึ่งทนายความโจกท์ที่ 1 และ 2 ไม่เห็นด้วย เนื่องจากใช้ระยะเวลานานเกินไป และก่อนหน้านี้ก็ขอเลื่อนพักรักษาตัวในโรคอื่นลักษณะเช่นนี้
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เนื่องจากคดีนี้อยู่ในการพิจารณาของศาลฎีกา ให้ส่งคำร้องของจำเลยที่ 1 ประกอบกับจำเลยไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ จึงเห็นควรให้ส่งคำร้องของจำเลยที่ 1 พร้อมเอกสาร สำนวนและซองคำพิพากษาไปยังศาลฎีกาเพื่อพิจารณาก่อน โดยให้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาในวันนี้ หากศาลฎีกามีวันนัดวันใดจะแจ้งวันนัดฟังอีกครั้ง ส่วนเรื่องการขอให้ศาลอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลยที่ 1 จะพิจารณาสั่งเมื่อถึงวันนัดฟังคำพิพาษา