ปี่กลองเลือกตั้งกรุงเทพฯ เริ่มขึ้นแล้ว นับตั้งแต่เปิดรับสมัครวันแรกที่ กทม.2 ดินแดง เมื่อเช้าวันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม
ทั้งบริเวณลานพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ หรือลานช้าง และภายในอาคารไอราวัตพัฒนา คราคร่ำไปด้วยผู้คน ทั้งผู้สมัครผู้ว่าฯ ผู้สมัครส.ก. ผู้ติดตาม กองเชียร์ ประชาชนผู้สนใจ รวมทั้งสื่อสำนักต่างๆ และสื่อสมัครเล่น ต่างช่วยสร้างสีสันความตื่นตาตื่นใจ และชวนให้ตื่นเต้นโดยทั่วหน้า
ขนาดไม่อนุญาตให้มีขบวนกลองยาว ขบวนแห่ หรือกิจกรรมเรียกร้องดึงดูดความสนใจของผู้คนตามข้อบัญญัติห้ามของกฎหมายเลือกตั้ง ยังชวนสนุกครึกครื้นสดใสจากเสื้อทีมและป้ายหาเสียงสาระพัดสี
วันแรกวันเดียว มีผู้สมัครผู้ว่าฯ ถึง 17 คน ดังนี้
1. วิโรจน์ ลักขณาอดิศร หมายเลข 1
2. พ.ท.ญ.ฐิฎา รังสิตพล มานิตกุล หมายเลข 2
3. สกลธี ภัททิยกุล หมายเลข 3
4. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หมายเลข 4
5. วีรชัย เหล่าเรืองวัฒนะ หมายเลข 5
6. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง หมายเลข 6
7. รสนา โตสิตระกูล หมายเลข 7
8. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ หมายเลข 8
9. วัชรี วรรณศรี หมายเลข 9
10.ศุภชัย ตันติคมน์ หมายเลข10
11. น.ต.ศิธา ทิวารี หมายเลข 11
12. ประยูร ครองยศ หมายเลข 12
13. พิศาล กิตติเยาวมาลย์ หมายเลข 13
14. ธเนตร วงษา หมายเลข 14
15. พล.อ.ต.ทูตปรีชา เลิศสันทัดวาที หมายเลข 15
16. ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ หมายเลข 16
17.นายอุเทน ชาติภิญโญ หมายเลข 17
ขณะที่ผู้สมัครสมาชิกสภากรุงเทพฯ หรือ ส.ก.ก็คึกคักไม่แพ้กัน มีผู้ยื่นสมัครวันแรกแล้ว รวม 327 คน ในจำนวนนี้ รวมทั้งพรรคการเมืองที่ไม่ได้ส่งผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ด้วย เช่น พรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย พรรคกล้า และพรรครวมไทยยูไนเต็ด
ก่อนที่ขบวนรถหาเสียงของผู้สมัครทั้งผู้ว่าฯ และส.ก.จะเคลื่อนออกจากศาลา กทม.2 ดินแดง กระจายไปยังจุดต่าง ๆ ในเขตกรุงเทพฯ ท่ามกลางการเกาะติด และนำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่องทั้งวันของสื่อประเภทต่าง
นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพฯ ในฐานะผู้อำนวยการการเลือกตั้งท้องถิ่น กรุงเทพฯ คาดหมายว่า จะมีผู้มาสมัครเพิ่มอีกจนกว่าจะถึงวันปิดรับสมัครวันสุดท้าย คือวันที่ 4 เม.ย. เวลา 16.30 น. สะท้อนภาพความตื่นตัวของทั้งผู้สมัคร และคนกรุงเทพฯ ที่ไม่ได้ใช้สิทธิ์เลือกผู้ว่าฯและส.ก.มานานถึง 9 ปีแล้ว นับตั้งแต่เลือกตั้งผู้ว่าฯครั้งสุดท้าย ปี 2556
การเลือกตั้ง 22 พฤษภาคม 2565 จึงเป็นวันที่คนกรุงเทพฯผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ซึ่งมีอยู่ประมาณ 4.5 ล้านคน รวมทั้งคนต่างจังหวัดที่เข้ามาอาศัย หรือทำงาน หรือศึกษาเล่าเรียนในกรุงเทพฯ เฝ้ารอคอ
ในจำนวนนี้ รวมทั้งนิว โหวตเตอร์ หรือคนรุ่นใหม่ที่จะได้ใช้สิทธิ์เลือกตั้ง(ผู้ว่าฯและส.ก.)เป็นครั้งแรก โดยข้อมูลของกรมการปกครองและสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อเดือนตุลาคม 2563 ระบุคนอายุ 17 ปี (ปัจจุบันอายุ 19 ปี) มีประมาณ 6.1 หมื่นคน และเฉพาะอายุ 16 ปี (ปัจจุบันอายุ 18 ปี) มีอีกประมาณ 6.1 หมื่นคน
สองกลุ่มนี้ มีรวมกันมากถึง 1.2 แสนคน ซึ่งมากพอที่อาจมีผลต่อการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ที่กำลังจะมีขึ้นในอีกเกือบ 2 เดือนข้างหน้าได้