ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ชนิดใหม่ของโลก! นักวิจัย ม.เกษตรฯ ค้นพบ "แมลงชีปะขาวปัญหา"

สิ่งแวดล้อม
26 ก.พ. 65
08:56
1,319
Logo Thai PBS
ชนิดใหม่ของโลก! นักวิจัย ม.เกษตรฯ ค้นพบ "แมลงชีปะขาวปัญหา"
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
นักวิจัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ค้นพบ "แมลงชีปะขาวปัญหา" แมลงชีปะขาวชนิดใหม่ของโลก ที่ จ.กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี เลย และเชียงราย

วันนี้ (26 ก.พ.2565) ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประกอบด้วย ดร.ชนาพร สุทธินันท์ (นักวิจัย) และ รศ.ดร.บุญเสฐียร บุญสูง (อาจารย์ประจำ) ภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ Dr. Jean-Luc Gattolliat สังกัด Museum of Zoology เมืองโลซาน สมาพันธรัฐสวิส ได้ค้นพบ "แมลงชีปะขาว" (Tenuibaetis panhai) ชนิดใหม่ของโลก โดยพบในลำธาร จ.กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี เลย และเชียงราย สะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพ และทรัพยากรสัตว์น้ำในประเทศไทย

ภาพ : Kasetsart University

ภาพ : Kasetsart University

ภาพ : Kasetsart University

 

ดร.ชนาพร เปิดเผยว่า ตนได้ศึกษาความหลากหลายของตัวอ่อนแมลงชีปะขาววงศ์ Baetidae ในภาคตะวันตกและภาคใต้ของประเทศไทย และได้ค้นพบตัวอ่อนแมลงชีปะขาวชนิดใหม่ของโลก แมลงชีปะขาว Tenuibaetis panhai ในลำธาร จ.กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี เลย และเชียงราย โดยงานวิจัยชิ้นนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (BDC-PG4-161004) และโครงการทุนเรียนดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย

ภาพ : Kasetsart University

ภาพ : Kasetsart University

ภาพ : Kasetsart University

ลักษณะที่บ่งบอกว่าเป็น ชนิดใหม่ของโลก

ลักษณะทั่วไปของแมลงชีปะขาว ถิ่นกำเนิด และลักษณะที่บ่งบอกว่าเป็นชนิดใหม่ของโลก แมลงชีปะขาวสกุล Tenuibaetis Kang & Yang, 1994 (วงศ์ Baetidae) ถือเป็นรายงานครั้งแรกในประเทศไทย ทั่วโลกพบ 8 ชนิด แมลงชีปะขาวชนิดใหม่ มีลักษณะเด่นที่แตกต่างจากชนิดอื่นอย่างเห็นได้ชัด คือ การไม่พบตุ่มปีกคู่หลัง

เมื่อวิเคราะห์ดีเอ็นเอบาร์โค้ดด้วยยีน COI เทียบกับชนิดอื่นพบว่ามีค่าระยะห่างทางพันธุกรรมระหว่างชนิดร้อยละ 17-27

ภาพ : Kasetsart University

ภาพ : Kasetsart University

ภาพ : Kasetsart University

 

นอกจากนี้ยังพบชนิดซ่อนเร้น (cryptic species) คือ Tenuibaetis cf. panhai sp. I และ Tenuibaetis cf. panhai sp. II ซึ่งได้จัดเป็น Molecular Operational Taxonomic Units (MOTUs) เนื่องจากสัณฐานวิทยาไม่แตกต่างจากชนิดใหม่อย่างชัดเจน จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคต

สำหรับชื่อสามัญแมลงชีปะขาว และชื่อทางวิทยาศาสตร์ของแมลงชีปะขาวชนิดใหม่ของโลก คือ Tenuibaetis panhai Suttinun, Gattolliat & Boonsoong, 2022 โดยตั้งชื่อเป็นเกียรติแด่ ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา (ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ศาสตราจารย์วิจัยดีเด่นและราชบัณฑิต ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ผู้พัฒนาองค์ความรู้ด้านอนุกรมวิธาน และ ซิสเทมาติคส์ของสัตว์ในประเทศไทย 

แมลงชีปะขาวสกุลใหม่ ชนิดใหม่เพิ่มขึ้นในไทย

ด้านความหลากหลาย และการอนุรักษ์แมลงชีปะขาว ดร.ชนาพร กล่าวว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเริ่มมีนักวิจัยศึกษาอนุกรมวิธานของแมลงชีปะขาวมากขึ้น ทำให้มีข้อมูลอนุกรมวิธาน และซิสเทมาติคส์ของตัวอ่อนแมลงชีปะขาวของประเทศไทยเพิ่มขึ้น มีรายงานพบแมลงชีปะขาวสกุลใหม่ และชนิดใหม่เพิ่มขึ้นในประเทศไทย สกุลใหม่ของแมลงชีปะขาวที่พบครั้งแรกในประเทศไทย จำนวน 6 สกุล ได้แก่

  • สกุล Sangpradubina Boonsoong & Sartori, 2016
  • สกุล Mekongellina Malzacher, 2019
  • สกุล Cymbalcloeon Suttinun
  • Gattolliat & Boonsoong, 2020
  • สกุล Elatosara Malzacher, 2020
  • สกุล Thainis Malzacher, 2020
ภาพ : Kasetsart University

ภาพ : Kasetsart University

ภาพ : Kasetsart University

 

นอกจากนี้ยังพบสกุลที่รายงานครั้งแรกในประเทศไทยหลายสกุล เช่น

  • สกุล Paegniodes Eaton, 1881
  • สกุล Procerobaetis Kaltenbach & Gattolliat, 2020
  • สกุล Securiops Jacobus, McCafferty & Gattolliat, 2006
  • สกุล Tenuibaetis Kang & Yang, 1994 (การศึกษาครั้งนี้)
แมลงชีปะขาวชนิดใหม่มีการค้นพบมากกว่า 20 ชนิดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คาดว่าจะมีการพบสกุลใหม่ และชนิดใหม่ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต


การค้นพบตัวอ่อนแมลงชีปะขาวสกุลใหม่ และชนิดใหม่ของโลก สะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพ และทรัพยากรสัตว์น้ำในประเทศไทย ยังเป็นข้อมูลเพิ่มเติมจากรายงานเดิมที่มีอยู่ ทำให้มีจำนวนสกุล และชนิดของแมลงชีปะขาวเพิ่มขึ้นข้อมูลอนุกรมวิธานเป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญในการนำไปต่อยอดการศึกษานิเวศวิทยา การอนุรักษ์และการใช้เป็นดัชนีชี้วัดคุณภาพน้ำร่วมกับแมลงน้ำกลุ่มอื่นในอนาคต

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง