ปัญหาคนเดินถนนข้ามทางม้าลายที่ประสบอุบัติเหตุถูกรถชนจนเสียชีวิตหรือบาดเจ็บสาหัสไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน และกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้หลายหน่วยงานเริ่มหาทางแก้ไขปัญหานี้
จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยคือหนึ่งในผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมเมื่อ 48 ปีก่อน ด้วย "อุโมงค์ลอดถนนพญาไท" โดยร่วมกันออกเงินสร้างกับเทศบาลนครกรุงเทพ เพื่อเป็นทางเดินเชื่อม ถ.พญาไทระหว่างสถานศึกษาทั้งสองฝั่ง ช่วยให้นิสิต นักเรียน รวมถึงประชาชนได้ใช้ ไม่ต้องเดินข้ามถนนซึ่งมีผู้ถูกรถชนเสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัสหลายคน
เมื่อมีข่าวการสร้างอุโมงค์ลอดถนนพญาไท หน้าจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยออกไปทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นเป็นวงกว้าง ด้วยข้อกังวลว่ากลัวจะพังถล่มลงมา หรือกลัวจะเกิดอาชญากรรมจี้-ปล้นจากพวกมิจฉาชีพ ไปจนถึงวิจารณ์ว่าจะเสียเงินเปล่าเพราะสร้างแล้วไม่มีคนใช้ เนื่องจากเป็นอุโมงค์ลอดถนนที่แรกของประเทศไทย แต่สุดท้ายในวันที่ 26 มี.ค.2517 "อุโมงค์ลอดถนนพญาไท" ก็สร้างเสร็จสมบูรณ์และเปิดให้บริการเป็นวันแรก
จากข้อกังขาในวันนั้นจนถึงวันนี้ที่เกิดเหตุ ตำรวจควบคุมฝูงชนขับขี่รถจักรยานยนต์ชน พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือหมอกระต่าย เสียชีวิตขณะข้ามทางม้าลาย ไทยพีบีเอสออนไลน์สำรวจ "อุโมงค์ลอด" บนถนนพญาไทสายนี้ พบว่า ยังเป็นทางเลือกยอดนิยมที่บรรดานิสิตและประชาชนเลือกใช้เพื่อข้ามถนนแทนทางม้าลาย
"สหณัฐ รอดเจริญ" เจ้าหน้าที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือหนึ่งในผู้ใช้บริการอุโมงค์ลอดถนนพญาไทเป็นทางเลือกข้ามถนนไปมาระหว่างคณะ เนื่องจากไม่กล้าเสี่ยงข้ามบนถนน ด้วยปริมาณรถจำนวนมากและขับด้วยความเร็ว ประกอบกับข่าวอุบัติเหตุต่าง ๆ ที่เคยได้ยินว่ามีคนถูกชนก็ยิ่งทำให้ไม่มั่นใจที่จะข้ามถนน
อุโมงค์ตรงนี้ใช้ประจำ เพราะปลอดภัยดี ไม่ต้องเดินขึ้นสะพานลอย เพราะเดินลงก็จะไม่เมื่อย แต่หากตรงไหนไม่มีก็อยากให้มีสะพานลอย เพราะถนนรถเยอะ อันตรายมาก
ไม่ต่างจาก น.ส.อรพรรณ ศรีนวล นิสิตปี 2 คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ระบุว่า ทางม้าลายตอบโจทย์การข้ามถนนที่สุดเพราะไม่ต้องเดินลงหรือขึ้น แต่พอข้ามทางม้าลายก็กลัวถูกรถชนเช่นกัน
บางทีก็คิดว่า รถต้องกลัวเราสิเพราะเราเป็นคนเดินข้าม อยากให้ประเทศไทยบังคับใช้กฎหมายและเพิ่มโทษมากขึ้น และอยากให้คนขับรถระวังคนข้ามถนนด้วย
อย่างไรก็ตาม น.ส.อรพรรณ มีความกังวลในเรื่องความปลอดภัยระหว่างใช้อุโมงค์ลอดถนนเช่นกันโดยเฉพาะช่วงเวลากลางคืน เนื่องจากเป็นที่ลับตาคน จึงอยากให้มีการติดกล้องวงจรปิดเพิ่มเติมเพื่อความปลอดภัยและสบายใจของคนใช้บริการ
ขณะที่ ชัชวิทย์ ประทีปฉาย อายุ 41 ปี จักรยานยนต์รับจ้างหน้าประตูคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอว่า หากประเทศไทยมีอุโมงค์ลอดถนนทั่วประเทศจะทำให้คนเดินเท้าปลอดภัยที่สุดและจะทำให้ไม่มีคนต้องเสียชีวิตบนถนนอีก เพราะที่ผ่านมาเฉพาะหน้าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพบว่าเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งทั้งรถชนรถหรือรถชนคนด้วย
ใครจะเอาชีวิตไปเสี่ยงบนถนน ถ้าเป็นไปได้ควรจะมีอุโมงค์ทุกที่ เพราะตอบโจทย์ ปลอดภัยที่สุด และจะทำให้ไม่มีคนตายอีก
ทั้งนี้ อุโมงค์ลอดถนนพญาไท เปิดให้บริการในวันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 05.00 - 22.00 น. วันเสาร์เปิดเวลา 06.00 - 18.00 น. ส่วนวันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ปิดให้บริการ
ที่มา : หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ข้ามทางม้าลาย ถ.ราชดำเนินกลาง ไฟเขียวคนข้าม รถก็ข้ามด้วย?
ดรามา! "หมอกระต่าย" เป็นศพนิรนาม 2 ชั่วโมง อ้าง ตร.เก็บหลักฐานยืนยันตัวตนไป
เปิดเส้นทาง "ดูคาติ" คันที่ชน "หมอกระต่าย" ขายเปลี่ยนมือ 5 ครั้ง
กทม.ตีเส้นชะลอความเร็ว จุดชน "หมอกระต่าย" ป้องกันอุบัติเหตุซ้ำ