ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ประภัตร" ยืนยันเร่งแก้ปัญหาเนื้อหมูแพง-โรคระบาด ASF

เศรษฐกิจ
13 ม.ค. 65
16:01
276
Logo Thai PBS
"ประภัตร" ยืนยันเร่งแก้ปัญหาเนื้อหมูแพง-โรคระบาด ASF
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
รมช.เกษตรฯ ยืนยันไม่ได้นิ่งเฉยแก้ปัญหาโรค ASF และเนื้อหมูราคาแพง พร้องเร่งหาทางช่วยเหลือผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ได้รับเงินชดเชย พร้อมเตรียมมาตรการเพิ่มแม่สุกร

วันนี้ (13 ม.ค.2565) นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงการแก้ปัญหาการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) และเนื้อหมูราคาแพง ว่า งบประมาณที่ได้รับอนุมัติจาก ครม.เพื่อใช้ในการควบคุมป้องกันโรคในระยะที่ผ่านมา หลักๆ แล้วเป็นค่าชดเชยเพื่อทำลายสุกร ซึ่งขั้นตอนการดำเนินการ กรมปศุสัตว์จะตั้งคณะกรรมการในระดับพื้นที่ เพื่อประเมินค่าความเสียหายและค่าชดเชยสำหรับเกษตรกรทุกราย

สำหรับกรณีที่ผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยบางราย ได้ทำลายสุกรไปแล้วโดยที่เจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ไม่ได้สั่ง ซึ่งจะทำให้ไม่เข้าหลักเกณฑ์การได้รับเงินชดเชยดังกล่าวนั้น อย่างไรก็ตามจะรับเรื่องนี้ไปหารือกับผู้เกี่ยวข้องหาเพื่อแนวทางในการช่วยเหลือ

พร้อมยืนยันว่า กระทรวงเกษตรฯ ไม่ได้นิ่งเฉยเรื่องการระบาดของโรค AFS แต่การออกมาพูดจะต้องได้รับการยืนยันจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหลังจากนี้เมื่อมีการตรวจยืนยันว่าพบเชื้อที่ฟาร์มไหน กรมปศุสัตว์จะมีมาตรการควบคุมโรคอย่างเข้มข้น รวมถึงการทำลายเชื้อตามหลักวิชาการ และจะต้องพักคอกหยุดเลี้ยงในพื้นที่ดังกล่าว จนกว่าจะมีการตรวจสอบหรือประเมินความเสี่ยงแล้วว่ามีความปลอดภัย จึงจะสามารถลงเลี้ยงใหม่ได้อีกครั้ง

เตรียมมาตรการเพิ่มแม่สุกรผลิตลูกเข้าระบบ

ส่วนการแก้ปัญหาเนื้อสุกรมีราคาแพง รมช.เกษตรฯ กล่าวว่า จากข้อมูลสุกรรายสัปดาห์ พบว่า ในปี 2564 มีลูกสุกรเข้าคอกเลี้ยงเฉลี่ยราว 350,000 ตัว และข้อมูลสัปดาห์แรกของเดือน ม.ค.2565 จำนวนลูกสุกรเข้าเลี้ยงยังมีตัวเลขใกล้เคียงกัน

นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ยังได้เตรียมมาตรการที่จะเพิ่มแม่สุกรให้กับหน่วยงานของกรมปศุสัตว์ ตลอดจนฟาร์มเครือข่ายสัตว์พันธุ์ดีของกรมปศุสัตว์ รวมทั้งในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ที่มีการเรียนการสอนด้านสัตวบาล เพื่อผลิตลูกสุกรเข้าสู่ระบบคู่ขนานกันไปด้วย ดังนั้นเชื่อมั่นว่ามาตรการต่างๆ ที่ได้ดำเนินการ ทั้งมาตรการเร่งด่วน มาตรการระยะสั้นและระยะยาว จะสามารถเพิ่มการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการในการบริโภคได้

จากการลงพื้นที่พบว่า มีเกษตรกรจำนวนไม่น้อยที่ต้องการกลับมาเลี้ยงสุกรรอบใหม่ ซึ่งกรมปศุสัตว์จะต้องสแกนพื้นที่ เพื่อตรวจสอบเบื้องต้นว่ามีความปลอดภัยหรือมีความเสี่ยงต่อเกษตรกรอยู่หรือไม่ จากนั้นจะคัดกรองเกษตรกร พร้อมตรวจสอบสภาพความพร้อมและความเหมาะสมของฟาร์ม ในการยกระดับมาตรฐานฟาร์มให้มีความปลอดภัยด้านการควบคุมโรคที่สูงขึ้น เช่น GFM หรือ GAP กรมปศุสัตว์จึงจะสามารถอนุญาตให้เกษตรกรกลับเข้าสู่อาชีพในครั้งต่อไปได้

รมช.เกษตรฯ กล่าวอีกว่า จำนวนผู้เลี้ยงสุกรรายเล็กและรายย่อยทั้งประเทศ มีรวมกันถึงกว่า 185,000 ราย โดยในภาคอีสานนี้มีผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยประมาณ 77,000 ราย อีกทั้งยังมีค่าเฉลี่ยของอัตราการบริโภคเนื้อสุกรของคนไทยอยู่ที่ 20-22 กิโลกรัม/คน/ปี กระทรวงเกษตรฯ จึงมีแนวทางส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสุกรให้กับเกษตรที่มีความสนใจ รวมถึงอาชีพด้านปศุสัตว์อื่นๆ ด้านพืชและด้านประมง ภายใต้โครงการ "สานฝันสร้างอาชีพ และยกระดับรายได้เกษตรกร" ที่ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

ทั้งนี้ เกษตรที่สนใจสามารถยื่นความประสงค์ขอกู้ตามโครงการได้ 2 ช่องทาง คือ 1.ยื่นขอกู้เงินที่ธนาคาร ธ.ก.ส. สาขาที่ตนเองมีภูมิลำเนา หรือที่ตั้งของโครงการ และ 2.ให้ผู้ขอกู้ลงทะเบียนยื่นขอสินเชื่อผ่านช่องทาง Line Official : BAAC Family และนัดหมายผู้ขอกู้ผ่านระบบนัดหมาย โดยวงเงินกู้สูงสุดรายละไม่เกิน 100,000 บาท แต่ต้องไม่เกินค่าใช้จ่าย และ/หรือค่าลงทุนจริงของผู้ขอกู้แต่ละราย

 

อ่านข่าวอื่นๆ

ด่วน! พบ ASF ในพื้นที่นครปฐม-ประกาศเขตโรคระบาดสัตว์

ครม.ไฟเขียว 574 ล้าน ชดเชยโรค ASF ทำลายหมูแล้ว 1.5 แสนตัว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง