วันนี้ (2 ธ.ค.2564) นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีมาตอบกระทู้ถามสดด้วยวาจาของ นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ ส.ส.ชัยภูมิ พรรคเพื่อไทย เรื่องมาตรการของรัฐบาลในการรับมือสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ที่ยังคงนโยบายเปิดประเทศ เพราะขณะนี้บางประเทศปิดรับท่องเที่ยวไปแล้ว
นายสาธิต เปิดเผยว่า นโยบายเปิดประเทศ รัฐบาลไม่ได้ลุกลี้ลุกลน แต่เป็นการฟื้นเศรษฐกิจ ภายใต้การดำเนินการมาตรการด้านสาธารณสุข-คุมตัวเลขผู้ติดเชื้อ ซึ่งประเมินแล้วศักยภาพการรับมือของกระทรวงสาธารณสุขยังสามารถรับได้ ทั้งการฉีดวัคซีน การจัดการคัดกรองบุคคล ซึ่งพยายามป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 ทุกสายพันธุ์
ส่วนไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ยอมรับว่าการยับยั้งไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างที่เคยพยายามหยุดยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์เบต้า ที่ระบาดในพื้นที่ภาคใต้ แต่จะต้องควบคุมและสอบสวนโรคให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจะต้องนำผู้ที่สัมผัสและกลุ่มผู้เสี่ยงสูงเข้ากระบวนการกักตัวควบคุมโรคให้ได้ 100%
ทั้งนี้ หลังมีการแพร่ระบาด "โอมิครอน" นายกรัฐมนตรีสั่งปิดรับลงทะเบียนเข้าประเทศไทยจาก 9 ประเทศในแอฟริกาที่มีการระบาดสูง ส่วนกลุ่มบุคคลที่เข้ามาก่อนหน้านี้จะต้องมีการกักตัวและตรวจค้นหาเชื้อถึง 3 ครั้ง ซึ่งมีผู้ที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย รวมจนถึงปัจจุบัน 800 คน
นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข
โดยยืนยันจะไม่ตื่นตระหนกบนสถานการณ์ข้อมูลที่ยังไม่ชัดเจน หากมีอัตราตัวเลขผู้ติดเชื้อ สายพันธุ์โอมิครอน 1,000 คน ก็ยังไม่มากพอที่จะสามารถนำไปประกอบการพิจารณาฟันธงว่าจะปิดประเทศหรือไม่ เพราะส่วนใหญ่มีอาการคล้ายกับสายพันธุ์เดลต้า
ขณะเดียวกัน ยังไม่มีการยืนยันการรายงานเกี่ยวกับผู้เสียชีวิตสาเหตุจากการติดเชื้อดังกล่าว ซึ่งการฉีดวัคซีนในแอฟริกาใต้ อัตราค่าเฉลี่ยยังต่ำอยู่ที่ร้อยละ 40 และบางพื้นที่เพียงแค่ร้อยละ 10 เท่านั้น
นายสาธิต กล่าวว่า มีโอกาสที่ผู้สูงอายุ หรือผู้มีโรคประจำตัวจะเสียชีวิตจากการติดเชื้อ "โอมิครอน" ซึ่งบนพื้นฐานข้อมูลเท่านี้ยังไม่สามารถที่จะผลีผลามตัดสินใจ แต่ไม่ได้ประมาท เพราะไม่สามารถปิดกั้นทุกช่องทางของโรคระบาดได้
โดยนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากประเทศเสี่ยง 252 คน และมีการตรวจคัดกรองพบว่ามีความเสี่ยง ซึ่งเดินทางมาจากประเทศที่มีการแพร่ระบาด 122 คน โดยมีผู้ที่เดินทางออกจากนอกราชอาณาจักรไทยไปแล้ว 4 คน และควบคุมดูแลสังเกตแล้ว 11 คน
โดยมีการตรวจค้นหาเชื้อซ้ำแล้ว พบว่าทั้งหมดมีผลเป็นลบ ส่วนอีก 16 คน หากครบ 14 วันตามหลักเกณฑ์ ถือเป็นไปตามเกณฑ์การควบคุมโรคของโควิด-19 ทุกสายพันธุ์ ยกเว้นหากมีข้อมูลว่า "โอมิครอน" จะใช้ระยะเวลาฟักตัวเกิน 14 วัน ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ ส.ส.ชัยภูมิ พรรคเพื่อไทย
แม้ขณะนี้มี 32 ประเทศที่ติดเชื้อโอมิครอนไปแล้ว รวมถึงสิงคโปร์ ญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง จึงได้สั่งอธิบดีกรมควบคุมโรครายงานเกี่ยวกับความคืบหน้าสถานการณ์ในต่างประเทศและในประเทศไทย ตลอด 24 ชั่วโมง และสั่งให้ตรวจทุกคนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ซึ่งวันนี้ตรวจไปแล้ว 90 คน พบว่ายังเป็นสายพันธุ์เดลต้าทั้งหมด
ส่วนวันนี้จะได้รับรายงานว่าที่เดินทางเข้ามาทั้งหมดว่ามีสถานการณ์อย่างไร ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีมาตรการป้องกันอย่างเข้มงวด และจะติดตามข้อมูลให้ครบถ้วน หากมีข้อมูลที่สามารถตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็จะนำเสนอไปยังนายกรัฐมนตรี พิจารณาถึงกรณีที่จะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ ส่วนแนวทางดำเนินการตามมาตรการมาจนถึงขณะนี้พอใจแล้ว
นอกจากนี้ นพ.สุวิทย์ ฝากรัฐบาลเตรียมการจัดหาวัคซีนที่รองรับกับการแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งนายสาธิตชี้แจงว่าการผลิตวัคซีนของบริษัทในต่างประเทศแต่ละยี่ห้อ เชื่อว่าอาจจะกำลังติดตามศึกษาสถานการณ์ไวรัสโอมิครอน ทั้งของแอสตร้าเซเนก้า ไฟเซอร์ และซิโนแวค ที่ได้มีการพูดคุยกัน
โดยอ้างอิงข้อมูลข่าวว่าไฟเซอร์แสดงความพร้อมวัคซีนชนิดใหม่ที่รองรับไวรัสโอมิครอนมาอีก 100 วันข้างหน้า และจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน อยู่ระหว่างทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีนต่อเชื้อกลายพันธุ์ไวรัสชนิดนี้ คาดว่าอีก 2-3 สัปดาห์ จะทราบผล เป็นต้น
อ่านข่าวเพิ่มเติม
"พิพัฒน์" ระบุโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ไม่กระทบท่องเที่ยว
เร่งติดตาม 252 นักท่องเที่ยวกลุ่มเสี่ยง นายกฯ ยันไม่ปิดประเทศ
ตำรวจ ปทส.รับตรวจสอบกรณีออกโฉนดที่ดินเกาะนุ้ยนอก จ.กระบี่
น้ำป่าเทือกเขาหลวงทะลัก ตัวเมืองนครศรีฯ เสี่ยงน้ำท่วม
รถไฟลาว-จีน ให้บริการระยะแรกเส้นทาง "เวียงจันทน์ - บ่อเต็น" เริ่ม 4 ธ.ค.นี้