เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.2564 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในการจัดตั้งศูนย์ตรวจวิเคราะห์สายพันธุ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ในภาคใต้ Center for Emerging SARS-CoV-2 Lineage Investigation in Southern Thailand (CESLIST)
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า ศูนย์ฯ ดังกล่าวจะตรวจวิเคราะห์และรับตัวอย่างจากโรงพยาบาลในเขตภาคใต้ ด้วยชุดตรวจมาตรฐานเดียวกับศูนย์การแพทย์จีโนมิกส์และสนับสนุนนวัตกรรม กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 30 พ.ย.2567
ข้อมูลที่ได้ทั้งหมดจะถูกรายงานเข้าระบบจีเซท หรือถังกลางของโลก เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์สามารถใช้ข้อมูลส่วนนี้ได้ ซึ่งขณะนี้มีห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กว่า 400 แห่ง
ภาพ : กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
ขณะที่ ศ.นพ.สุรศักดิ์ สังขทัต ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ระบุว่า วางเป้าหมายให้ศูนย์ฯ สุ่มตรวจได้เดือนละ 300 ตัวอย่าง เป็นการตรวจแบบถอดรหัสพันธุกรรม หรือโฮจีโนม เป็นการตรวจเชื้อขั้นสูงสุดแบบเปลือยตัวไวรัสทั้งตัว ทำให้ทราบว่าเป็นเชื้อสายพันธุ์ใด โดยจะใช้วิธีสุ่มตรวจเพื่อเฝ้าระวังการแพร่ระบาดในพื้นที่ หากพบการติดเชื้อมากกว่า 50 คนขึ้นไป หรือเป็นการระบาดซ้ำ รวมทั้งการรับวัคซีนแล้วมีการติดเชื้อ
สำหรับการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 ในประเทศไทย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ร่วมกับเครือข่ายห้องปฏิบัติการ ดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-26 พ.ย.ที่ผ่านมา สุ่มตรวจผู้ติดเชื้อ 43,918 คน พบว่าเป็นสายพันธุ์เดลตา 28,705 คน สายพันธุ์อัลฟา 14,523 คน และสายพันธุ์เบตา 690 คน โดยในช่วงเวลาระหว่างวันที่ 30 ต.ค.-26 พ.ย. ซึ่งเป็นช่วงการเปิดประเทศ ข้อมูลจากการสุ่มตรวจผู้ติดเชื้อ 1,955 คน พบว่าส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์เดลตา
ขณะที่การเฝ้าระวังในพื้นที่ภาคใต้ ระหว่างวันที่ 30 ต.ค.-26 พ.ย.ที่ผ่านมา จากการสุ่มตรวจผู้ติดเชื้อ 479 คน ในจำนวนนี้เป็นสายพันธุ์เดลตา 478 คน และสายพันธุ์อัลฟา 1 คน