"ศรัณยู วงษ์กระจ่าง" อดีตศิลปินผู้ล่วงลับ ร่วมขับเคลื่อนการชุมนุมในฐานะแนวร่วมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และเป็นเวทีที่ทำให้จุดยืนทางการเมืองเด่นชัดเรื่อยมานับจากนั้น
แม้ปรากฏภาพ "ศรัณยู" และครอบครัวตามสื่อบ่อยครั้งทั้งในฐานะที่ร่วมทำกิจกรรมทางการเมือง และกิจกรรมอื่น แต่ไม่มีครั้งไหนที่บุคคลในครอบครัววงษ์กระจ่าง จะถูกกระแสวิพากษ์วิจารณ์กระทบใส่จนเป็นประเด็นข้ามประเทศ
เมื่อ "ศีตลา วงษ์กระจ่าง" ลูกสาวของศรัณยู ถูกกระแสต่อต้านจากแฟนเพลงและผู้เห็นต่างทางการเมืองชาวไทย ภายหลังมีรายงานข่าวเตรียมเปิดตัวในฐานะศิลปินวง H1-KEY เกิร์ลกรุ๊ปจากเกาหลีใต้ ความคิดเห็นที่ปรากฏส่วนใหญ่ ชัดเจนว่าจะไม่สนับสนุน จนทำให้ #SITALA ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ไทย และมีบางส่วนแสดงความคิดเห็นตรงกันข้าม
ผศ.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นในมุมมองนักจิตวิทยาว่า ความคิดเห็นที่ปรากฎในขณะนี้ คือภาพสะท้อนความรู้สึกต่อผู้คนที่มีความแตกต่างทางการเมือง
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่สะท้อนภาพที่เกิดขึ้นในสังคมเรา ความรู้สึกของคนที่คิดเหมือนหรือคิดต่างอย่างรุนแรง ซึ่งหากไม่มีพื้นที่ให้สนทนา ทางออกก็จะไม่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม มีผู้หยิบยกเหตุการณ์คล้ายกันในอดีตมาเปรียบเทียบ ทั้งกรณีลูกสาวของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ถูกระบุชื่อในจดหมายเปิดผนึกของกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า นิเทศฯ จุฬาฯ รุ่น 40 เนื้อหาพาดพิงถึงการบริหารราชการแผ่นดินของ พล.อ.ประยุทธ์ ไปจนถึงกรณีลูกชายอดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกผู้ชุมนุมกลุ่ม กปปส.เป่านกหวีดใส่ในช่วงเวลาของการชุมนุม
นอกจากนี้ ยังมีกรณีคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภรรยาของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ถูก ทยา ทีปสุวรรณ แนวร่วมกลุ่ม กปปส.เป่านกหวีดใส่เมื่อเผชิญหน้ากันในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง
คณบดีคณะจิตวิทยา ระบุว่า กระแสความโกรธของมวลชนที่ปรากฏขณะนี้ ถือเป็นสิ่งพื้นฐานที่มีอยู่ในทุกคน ประเด็นสำคัญที่จะใช้หาทางออกจากความขัดแย้งนี้ จึงมีเพียงความพยายามเปิดพื้นที่พูดคุยกันเท่านั้น