ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ลูกหาบภูกระดึง" ในวันเปิดประเทศ รายได้บนความเสี่ยง

เศรษฐกิจ
1 พ.ย. 64
16:33
8,539
Logo Thai PBS
"ลูกหาบภูกระดึง" ในวันเปิดประเทศ รายได้บนความเสี่ยง
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
"โอเล่" ตัวแทนลูกหาบภูกระดึง สะท้อนความกังวลในวันเปิดประเทศ ต้อนรับนักท่องเที่ยวพิชิตความสูงภูกระดึง ท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 ที่ต้องเลือกระหว่างรายได้กับความเสี่ยง

หากพูดถึงอุทยานแห่งชาติยอดฮิต ในภาคอีสาน เชื่อว่านักท่องเที่ยวสายแบกเป้ ต้องไม่พลาดอุทยานแห่งชาติภูกระดึง จ.เลย ภาพชินตาที่อยู่คู่กับการพิชิตยอดภูกระดึง คือกลุ่มลูกหาบแห่งบ้านศรีฐาน อ.ภูกระดึง จ.เลย 

บางครอบครัวสืบทอดอาชีพลูกหาบมาตั้งแต่รุ่นพ่อ ทั้งผู้ชาย และผู้หญิง รายได้ของพวกเขามาจากหยาดเหงื่อในการแบกสัมภาระ ข้าวของเครื่องใช้ขึ้นภูกระดึงที่มีความสูง 1,316 เมตร 

“โอเล่” วันที หมวกโคกสูง หนุ่มวัย 44 ปี ลูกหาบภูกระดึง เป็นหนึ่งใน 20 กว่าชีวิตที่มารอคิวแบกสัมภาระของนักท่องเที่ยวในเช้าวันนี้ ตั้งแต่พระอาทิตย์เริ่มขึ้น พร้อมกับการเริ่มต้นของลูกหาบกว่า 20 ชีวิต เริ่มประจำการที่จุดสัมภาระ อุทยานแห่งชาติภูกระดึง

วันที บอกว่า ก่อนหน้านี้อุทยานแห่งชาติภูกระดึง หยุดฟื้นฟูธรรมชาติมา 4 เดือน ประกอบกับช่วง COVID-19 ลูกหาบบางคน จึงเลือกที่จะไปทำงานรับจ้างใน กทม.แต่ตัวเองเลือกที่ทำงานรับจ้างทำไร่ ทำนา ทำสวนในหมู่บ้าน และรอวันที่อุทยานภูกระดึง เปิดรับนักท่องเที่ยว

ไม้หาบคู่กายที่เขาใช้มานาน 10 ปี ถูกเตรียมพร้อม และเปลี่ยนเบาะรองบ่าใหม่ เพราะเป็นจุดที่ต้องอยู่บนบ่านาน 5-6 ชั่วโมง ในระหว่างเส้นทางคดเคี้ยว ลาดชันขึ้นสู่ยอดภู กระติ๊บข้าวเหนียว น้ำ และที่ขาดไม่ได้ได้คือเสียง เพลงขับกล่อมจากวิทยุเครื่องเล็ก เพื่อกล่อมให้หายเหนื่อยระหว่างทำงาน 

พอรู้ว่าสถานการณ์ท่องเที่ยวกลับมา ก็เริ่มมีความหวังขึ้นมา เพราะรายได้ของลูกหาบภูกระดึงขึ้นกับจำนวนนักท่องเที่ยว ถ้านักท่องเที่ยวมาเยอะ ก็หมายถึงรายได้เยอะ  

ปิด-เปิดประเทศบนความหวังรายได้

ส่วนการเปิดประเทศรอบนี้ วันที บอกว่า  คนส่วนใหญ่เชื่อว่าการเปิดประเทศท่องเที่ยว จะทำให้รายได้กลับมา โดยเฉพาะอาชีพลูกหาบ ก่อน COVID-19 มีนักท่องเที่ยวเยอะ ทำให้มีรายได้วันละ 1,600-1,700 บาทต่อวัน จากการแบกสัมภาระขึ้นภูกระดึงวันละ 1 เที่ยว รายได้เฉลี่ยก็ตกเกือบ 30,000 บาทต่อเดือน

นักท่องเที่ยวเริ่มกลับมา แต่ก็ยังน้อยอยู่ เพราะเดือนต.ค.ป็นปลายฝนต้นหนาว นักท่องเที่ยวขึ้นมาจะลำบาก บางสัปดาห์รอคิวแบกของ 2 วันกว่าจะได้ขึ้นภูกระดึง 

การทำอาชีพลูกหาบมานานถึง 15 ปี ท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 ทำให้วันที กังวลว่าการเปิดประเทศอาจไม่ใช่ความหวังทั้งหมด เพราะหากเปิดรับคนต่างชาติเข้ามามาก แต่ตัวเลขการติดเชื้อในประเทศยังสูง แม้จะนำรายได้เข้าประเทศ แต่หากเกิดสถานการณ์ระบาดระลอกใหม่ขึ้น ลูกหาบก็ต้องหยุดงานยาว

ลูกหาบ ถือว่ามีความเสี่ยง เพราะเวลาที่ทำงาน 5-6 ชั่วโมงในการแบกสัมภาระขึ้นไปบนภู ต้องสัมผัส สัมภาระผู้ว่าจ้าง และในระหว่างการขึ้นภูกระดึง ลูกหาบใส่แมสก์ไม่ได้ และไม่สามารถหลีกเลี่ยงต้องจับราวบันได

 

ดังนั้นการเปิดประเทศของวันที จึงไม่ใช่คำตอบทั้งหมด เขากลับมองว่า ถ้าไม่เปิดประเทศก็ยังพออยู่ได้ เพราะตัวเลขลูกหาบที่ลดลงไปกว่าครึ่ง แม้จะมีนักท่องเที่ยวลดลง ไม่มีชาวต่างชาติเหมือนแต่ก่อน บวกกับการจำกัดนักท่องเที่ยว ก็อาจจะไม่ถึงขั้นทำให้รายได้ของลูกหาบหายไปมากนัก 

การเปิดประเทศสำหรับลูกหาบ ผมคิดว่าจะเป็นจุดเสี่ยงมากกว่าถ้าเปิดประเทศ อาจจะตายแน่ๆเลย ถ้าเขาเอาโรคเข้ามาแล้วทำให้เราต้องหยุดงานยาวๆ 

จำกัดตัวเลขนักท่องเที่ยว

สอดคล้องกับข้อมูลของ สมปอง ตาแก้ว เจ้าหน้าที่งานสัมภาระ อุทยานแห่งชาติภูกระดึง บอกว่า ภูกระดึง เพิ่งเปิดฤดูกาลท่องเที่ยว เมื่อ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา หลังปิดให้ธรรมชาติฟื้นตัวมา 4 เดือนตั้งแต่ 1 มิ.ย.-30 ก.ย. ซึ่งก่อนสถานการณ์ COVID-19 ภูกระดึงเคยรับรักท่องเที่ยวได้ถึง 5,000 คนต่อวัน

สมปอง บอกว่า แต่ปีนี้มีการจำกัดตัวเลขนักท่องเที่ยวเหลือเพียง 1,000 คนต่อวัน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยกำหนดให้ต้องลงทะเบียนผ่านระบบแอปพลิเคชัน QQ และทุกคนต้องโชว์ใบรับรองการฉีดวัคซีน และหากไม่มีต้องตรวจหาเชื้อด้วย ATK โดยคัดกรองอย่างเข้มงวด
ช่วงเดือนแรกของฤดูกาลท่องเที่ยว พบว่ามีเพียงวันที่ 22 ต.ค.เพียงวันเดียว ที่มีนักท่องเที่ยวมาภูกระดึง 1,072 คน ส่วนศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ 500 คน และวันธรรมดา 100-200 คนต่อวัน

นักท่องเที่ยวลดรายได้ลูกหาบหาย

สมปอง บอกว่า ตัวเลขนักท่องเที่ยวมีผลต่อรายได้ของลูกหาบภูกระดึง โดยตรง หากเป็นหลายปีก่อนความคึกคักของการพิชิตยอดภูกระดึงที่มีนักท่องเที่ยวหลักพันต้อวัน ทำให้ลูกหาบก็มีรายได้ตามจากการรับจ้างแบกสัมภาระขึ้นภูที่มีกำหนดราคากิโลกรัมละ 30 บาทสำหรับลูกหาบชายไม่เกิน 60-70 กิโลกรัม ส่วนลูกหาบผู้หญิงไม่เกิน 50 กิโลกรัม

ช่วง ต.ค.นี้มีลูกหาบมาขึ้นทะเบียนเพียง 166 คนลดลงจากปีก่อนที่มีถึง 270 คนโดยให้ต่อใบอนุญาตคนละ 1,000 บาท สำหรับการทำหน้าที่ลูกหาบ 1 ปี

สาเหตุที่ลูกหาบหายเยอะไปเพราะนักท่องเที่ยวลดลงด้วย เพราะรายได้ของลูกหาบขึ้นกับนักท่องเที่ยว ซึ่งต้องเรียงลำดับคิวในการรับงาน ซึ่งบางวันอาจจะมา 100 คน แต่อาจใช้บริการลูกหาบแค่ 10 คนส่วนที่เหลือก็รันตามคิว

1 พ.ย.นี้ สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดให้บริการท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติทั่วประเทศ 118 แห่ง และปิดการท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ 37 แห่ง ซึ่งบางอุทยานก็เปิดเฉพาะบางแหล่งท่องเที่ยวจาก 155 แห่ง

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง