ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สธ.เร่งคุมโควิด-19 ระบาด 4 จังหวัดชายแดนใต้ ส่งวัคซีนเพิ่มอีก 5 แสนโดส

สังคม
21 ต.ค. 64
16:27
4,415
Logo Thai PBS
สธ.เร่งคุมโควิด-19 ระบาด 4 จังหวัดชายแดนใต้ ส่งวัคซีนเพิ่มอีก 5 แสนโดส
กระทรวงสาธารณสุข คาดว่าอีกไม่นานจำนวนผู้ป่วยจะต่ำกว่า 1,000 คน และภายในต้นเดือน ธ.ค.จะฉีดวัคซีนครบ 100 ล้านโดสตามเป้าหมาย ส่วนพื้นที่ระบาด 4 จังหวัดชายแดนใต้ เตรียมจัดส่งวัคซีนเพิ่มอีก 500,000 โดส

วันนี้ (21 ต.ค.2564) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่าสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล เริ่มดีขึ้น สอดคล้องกับสถานการณ์การควบคุมโรค ตลอดจนการฉีดวัคซีน ซึ่งทำได้ดี เชื่อว่าจำนวนผู้ป่วยจะต่ำกว่า 1,000 คน ในอีกไม่นาน

 

แต่พื้นที่ต้องจับตา คือ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยสัปดาห์นี้กระทรวงสาธารณสุข จะส่งวัคซีนเพิ่มเติมอีก 500,000 โดส จากที่ส่งไปแล้วก่อนหน้านี้ 500,000 โดส เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดไม่ให้ลุกลามไปยังพื้นที่อื่น เช่นเดียวกับ จ.เชียงใหม่และขอนแก่น หลังพบจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น

ขณะนี้ ภาพรวมการฉีดวัคซีนของประเทศเกินเป้าหมายร้อยละ 70 ฉีดวัคซีนได้มากถึง 68 ล้านคน และภายในต้นเดือน ธ.ค.นี้ จะฉีดวัคซีนให้ได้ 100 ล้านโดส ตามเป้าหมายของนายกรัฐมนตรี และเดือน พ.ย.จะเปิดพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวอีก 15-16 จังหวัด

ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม นร.อายุ 12 ปีขึ้นไป 

ส่วนการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กับเด็กนักเรียนอายุ 12 ปีขึ้นไป อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าที่ประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคพิจารณาแล้วว่า หากฉีดวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม ระดับภูมิคุ้มกันสูงต่อต้านเชื้อสายพันธุ์เดลตาได้ รวมทั้งมีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากกว่าผลข้างเคียงที่ได้รับ จึงมีคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนเข็ม 2 กับเด็กชายได้ ตามความสมัครใจของผู้ปกครองและนักเรียน

 

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังพิจารณาฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้กับผู้ที่รับวัคซีนซิโนฟาร์มครบ 2 เข็ม ใช้หลักการเดียวกันกับผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม ซึ่งจะครบประมาณเดือน ก.ค.เป็นต้นไป โดยได้ให้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ รวบรวมข้อมูลและส่งมาให้ประกอบการพิจารณา ก่อนจะประกาศฉีดวัคซีนให้กับประชาชน คาดว่าจะเริ่มฉีดเข็มกระตุ้นได้ปลายเดือน พ.ย.หรือต้นเดือน ธ.ค.นี้

องค์การอนามัยโลก แนะฉีดวัคซีนกระตุ้นต่างชนิด

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังแจ้งว่า องค์การอนามัยโลก มีคำแนะนำเรื่องการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นต่างชนิดกันได้ เหมือนเช่นที่ไทยดำเนินการอยู่ขณะนี้ โดยฉีดวัคซีนเชื้อตายก่อน จากนั้นฉีดวัคซีนชนิดไวรัลเวกเตอร์ และเอ็มอาร์เอ็นเอ ปรับให้เข้ากับสถานการณ์และปริมาณวัคซีนที่มี ซึ่งพบข้อดีว่า แต่ละวัคซีนช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันไม่เหมือนกันและช่วยปูพื้นวัคซีนได้ค่อนข้างดี

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง