ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ไทม์ไลน์ "ฉากทัศน์โควิดไทย" 63-64 คลายล็อกสวนทางคาดการณ์ระบาด

สังคม
10 ก.ย. 64
14:43
3,741
Logo Thai PBS
ไทม์ไลน์ "ฉากทัศน์โควิดไทย"  63-64 คลายล็อกสวนทางคาดการณ์ระบาด
เปิดไทม์ไลน์ฉากทัศน์ COVID-19 ไทยระหว่างปี 63-64 พบตัวเลขผู้ป่วย และเสียชีวิตไม่นิ่ง ปัจจัยจากการล็อกดาวน์-คลายล็อก เพื่อเดินหน้าเศรษฐกิจ หลังผ่านจุดพีคสูงสุดตามการคาดการณ์ในเดือนส.ค.ที่ผ่านมา แต่ยังต้องจับตาเดือนต.ค.นี้อีกครั้ง

นับตั้งแต่วันแรกที่มีการรายงานพบนักท่องเที่ยวหญิงชาวจีนวัย 61 ปี เดินทางมาจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ติดเชื้อ COVID-19 ในไทยคนแรกเมื่อ12 ม.ค.2563

19 วันต่อมา คนไทยอายุ 50 ปี อาชีพขับแท็กซี่ กลายเป็นผู้ติดเชื้อ COVID-19 “คนแรก” ของไทย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขรายงานอย่างเป็นทางการในวันที่ 31 ม.ค.2563 หลังติดตามตัวคนขับแท็กซี่รายนี้ เพราะเขาเป็นผู้ที่รับผู้โดยสารชาวจีนจากเมืองอู่ฮั่น

คนไทยรายแรกที่ติด COVID-19 โดยไม่เคยมีประวัติเดินทางไปจีนมาก่อน โดยเข้ารักษาตัวที่สถาบันบำราศนราดูร และหายจากโรคกลับบ้านไปใช้ชีวิตตามปกติในวันที่ 5 ก.พ. 2563

ถัดมาอีกไม่กี่วัน 4 ก.พ.2563 มีรายงานพบคนไทยจากอู่ฮั่นติดเชื้อ COVID-19 เป็นรายที่ 2 ทำให้รัฐบาลไทยต้องรับคนไทย 138 คน กลับมาจากเมืองอู่ฮั่น โดยสายการบินไทยแอร์เอเชีย กลับมากักตัว

จากนั้นเป็นต้นมา เริ่มพบการติดเชื้อ COVID-19 ในไทยเพิ่มขึ้น ทั้งจากนักท่องเที่ยวคนไทย และชาวต่างชาติ พนักงานบริการในสนามบิน แพทย์ พนักงานเสิร์ฟ รวมทั้งเด็กวัย 3 ขวบ

แม้จะเป็นตัวเลขหลักเพียงหลัก 10 ไม่ถึง 100 คนในสัปดาห์ที่ 10 ของการระบาดระลอกแรก แต่กลายเป็นจุดเริ่มต้นทำให้คนไทยรู้จักโรค COVID-19 อย่างเป็นทางการ

ฉากทัศน์ COVID-19 ปี 63

ไทยพีบีเอสออนไลน์ พบว่าหลังเริ่มการระบาดระลอกแรก ความตื่นตัวต่อโรคระบาดใหม่ ทำให้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำ scenario หรือฉากทัศน์แรก โดยมีการเปิดเผยต่อสาธารณชน เมื่อวันที่ 13 มี.ค.2563 เป็นการคาดการณ์ติดเชื้อ COVID-19 ระหว่าง พ.ศ.2563-2564)

ข้อมูลตั้งสุมมติฐาน 3 แนวทางแบบ worst case คือถ้าไม่มีควบคุมโรคไม่มีประสิทธิภาพ (รุนแรงที่สุด) ผู้ติดเชื้อ 1 คนจะสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น ได้อีก 2.2 คน การระบาดจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก

จากมี.ค.63 จะพบผู้ป่วยต่อสัปดาห์สูงสุดในเดือน ส.ค.63 จำนวนผู้ป่วยทั้งสิ้น 16.7 ล้านคนใน 1 ปี

 

ขณะที่ scenario ที่ 2 สถานการณ์ที่สามารถชะลอการระบาดได้พอสมควร หากมาตรการควบคุมโรคมีประสิทธิภาพ ประกอบกับการมีความร่วมมือที่ดีจากภาคประชาชน ทำให้ไทยชะลอการแพร่ระบาดของโรคได้ใน ระดับหนึ่ง จนทำให้ผู้ที่ติดเชื้อ 1 คน สามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้เพียง 1.8 คน

การระบาดในวงกว้างจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ จนเข้าสู่จุดที่พบผู้ป่วยต่อสัปดาห์สูงสุดในเดือน ม.ค.-ก.พ.2564 จำนวน 480,000 คนต่อสัปดาห์

ส่วน scenario ที่ 3 สถานการณ์ที่สามารถควบคุมโรคได้ดี จนทำให้ผู้ที่ติดเชื้อ 1 คน สามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้เพียง 1.6 คน เกิดการระบาดตามฤดูกาลในแต่ละปี และกลายเป็นโรคประจำถิ่นคล้ายกับไข้หวัดใหญ่

อ่านข่าวเพิ่ม 3 โมเดล คาดการณ์ 2 ปีเลวร้ายสุด ไทยอาจป่วยถึง 16.7 ล้านคน  

31 ธ.ค.63 ศูนย์บริหารสถานการณ์ COVID-19 (ศบค.) รายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ 194 คน เป็นการติดเชื้อในประเทศ 181 คน ในจำนวนนี้ติดเชื้อในกลุ่มแรงงานต่างด้าวจากการคัดกรองเชิงรุก 9 คน และผู้เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานกักกันโรค(Quarantine) 13 คน

รวมสะสม 6,884 คน แบ่งเป็นการติดเชื้อในประเทศ 4,869 ราย กลุ่มแรงงานต่างด้าว 1,392 คน รักษาหายแล้ว 4,240 ราย เสียชีวิตสะสม 61 คน

ความจริงวันนี้ ฉากทัศน์หลังคลายล็อก?

8 เดือนของปี 64 นับจากการระบาดระลอก 4 ในเดือนเม.ย.เป็นต้นมา ตัวเลขผู้ติดเชื้อไทยขยับสูงขึ้นแตะหลักหมื่นคนต่อวัน ก้าวกระโดดสูงสุด จำนวน 23,418 คน เมื่อวันที่ 13 ส.ค.ที่ผ่านมา ทุบสถิติเป็นครั้งแรก

20 พ.ค.ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมแตะ 1,009,710 คน เสียชีวิตสะสม 8,826 คนเป็นวันแรกเช่นกัน

อ่านข่าวเพิ่ม วันแรก! โควิดไทยแตะ 1 ล้าน ตัวเลขตาย 2,969 คนไม่ได้ฉีดวัคซีน

แม้ว่าในการระบาดของปีนี้ รัฐบาลจะมีการใช้ "ยาแรง" ล็อกดาวน์เป็นครั้งแรก พร้อมกับมีการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ร่วมกับพ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ พ.ศ.2558 เพื่อควบคุมสถานกาณ์ COVID-19 มาหลายครั้ง เพื่อรองรับกับฉากทัศน์ที่ออกมาอีก 2-3 ครั้ง เป็นการประเมินตัวเลขผู้ติดเชื้อ

ตัวคาดการณ์น้อยสุดอยู่ที่ 9,018-12,605 คนต่อวัน ค่ากลางจะพบผู้ติดเชื้อราว 9,695-24,204 คนต่อวัน แต่กรณีสถานการณ์แย่ที่สุดจะพบติดเชื้อ 31,997 คนต่อวัน 

 

ถ้อยแถลงของ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์ COVID-19 (ศบค.) ในวันที่  19 ก.ค.64 นำเสนอการคาดการณ์สถานการณ์ COVID-19 โดยอ้างอิงมาจากการคาดการณ์ และวิเคราะห์ผลของ รศ.ดร.นวลจันทร์ สิงห์คราญ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ม.มหิดล เก็บข้อมูลจาก 12 ม.ค.63 จนถึงปัจจุบัน 

20 ก.ค.64 วันแรกภายใต้มาตรการล็อกดาวน์ ในพื้นที่สีแดงเข้ม รวม 29 จังหวัด เช่น กำหนดเคอร์ฟิวเวลา 21.00-04.00 น. งดการเดินทางข้ามจังหวัด ปิดกิจการ กิจกรรมเสี่ยงทั้งหมด โรงเรียน สถานศึกษา ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว การทำงานที่บ้าน 

7 ส.ค.64 นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ระบุว่า เมื่อเปรียบเทียบจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันที่ได้รับรายงานในสถานกาณ์จริงจากโมเดล พบว่า ตัวเลขคาดการณ์มาตรการล็อกดาวน์ ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค.-31 ส.ค. 64 ที่คาดหวังให้มีประสิทธิภาพลดการติดเชื้อ 20%

“จากตัวเลขที่ประเมินว่าจะสูงถึง 39,953 คนต่อวัน แต่จากสถานการณ์จริง วันนี้ 21,839 คนลดลงจากตัวเลขคาดการณ์ 22,413 คน ดังนั้นการล็อกดาวน์จึงยังมีประสิทธิภาพใกล้เคียงที่ 20%

จับตา ฉากทัศน์เดือนต.ค.คาดแตะ 30,000 อีกครั้ง

6 ก.ย.64 นพ.ทวีศิลป์ ออกมาเปิดเผยข้อมูลการคาดการณ์หลังการมาตรการล็อกดาวน์ โดยผลมาจากการทำงานอย่างหนัก เช่น การปิดร้าน กิจการ กิจกรรมต่างช่วงเดือนส.ค.ที่ผ่านมาก่อนทำให้ตัวเลขการติดเชื้อรายงันเร่มขยับจากวันละ 20,000 คน เหลือเพียง  13,544 คน ผู้ป่วยสะสม 1,265,659 คน (ตั้งแต่ 1 เม.ย.) ผู้ป่วยกำลังรักษา 148,622 คน เสียชีวิต 187 คน

ตามคาดการณ์จะมีแรงเฉื่อย หรือแรงควบคุมไปจนถึงกลางเดือนก.ย.จากนั้นในเดือนต.ค.นี้ เส้นกราฟจะพุ่งขึ้นอีก เพราะมีคนป่วยมากขึ้นกว่านี้อีก หากคุมไม่ดีจะแตะ 30,000 คนต่อวัน จึง ขอความร่วมมือว่าการ์ดอย่าตก

นับถอยหลังจากวันนี้ ต้องรอดูท่าทีของรัฐบาลว่าจะคงมาตรการยาแรง หรือคลายล็อกเพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อ แต่นั่นหมายถึงดูฉากทัศน์ผู้ติดเชื้อ COVID-19 ระลอกใหม่ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้   

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

สธ.ชี้ล็อกดาวน์ได้ผลติดเชื้อโควิดลด 20 % ใกล้โมเดลคาดการณ์ 

ศบค.ชี้คลายล็อกคนออกนอกบ้าน-หวั่นต.ค.นี้โควิดแตะ 30,000 คน

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง