ผู้ร้องเรียนส่งภาพและข้อความให้ญาติที่ประเทศไทยเพื่อขอความช่วยเหลือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
จากข้อความและภาพที่ส่งมา สันนิษฐานว่า สภาพเท้าที่บวมอาจเกิดจากการถูกทำโทษ บังคับให้วิ่ง เมื่อผู้ร้องเรียนทำงานไม่ได้ตามเป้าหมายที่นายจ้างกำหนด และ ยังมีข้อความที่บอกว่า หากทำยอดไม่ได้ก็ต้องวิ่งอีก 120 รอบโดยไม่ได้พัก ซึ่งอาจเป็นที่มาของอาการบาดเจ็บ
นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนไทยกลุ่มหนึ่งที่ลักลอบออกจากประเทศไทย เมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 ทั้งหมดไปทำงานเป็นแอดมินให้กับแอปพลิเคชันของนายทุนชาวจีนรายหนึ่ง ที่จังหวัดพระสีหนุ ประเทศกัมพูชา
จากข้อมูลในบัตรประชาชนที่เป็นเอกสารสำคัญสำหรับใช้ขอความช่วยเหลือ ทำให้ทีมงาน The EXIT พบว่า คนไทยกลุ่มนี้รวมถึงผู้ร้องเรียนเกือบทุกคนมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดเชียงราย
ชะตากรรมของคนไทยกลุ่มนี้ ชัดเจนขึ้นเมื่อถูกถ่ายทอดผ่าน หนึ่งในคนไทยที่ทนสภาพการทำงานภายใต้ความกดดันไม่ไหว ตัดสินใจ ไถ่ถอนตัวเองออกมาก่อนหน้านี้ ด้วยเงิน 85,000 บาท
เขาบอกว่า รายได้กว่า 24,000 บาทต่อเดือนในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เป็นแรงจูงใจอย่างดี ทำให้ตัดสินใจเชื่อคำชักชวนของเพื่อนที่ทำงานอยู่กรุงพนมเปญของกัมพูชา ซื้อตั๋วเครื่องบินเดินทางจากเชียงรายมากรุงเทพ
จากนั้น นั่งรถตู้เดินทางไปที่จังหวัดสระแก้ว เพื่อไปลักลอบข้ามแดนที่อำเภออรัญประเทศ
แต่ปลายทางของเขาไม่ได้จบที่กรุงพนมเปญ กลับถูกส่งตัวไปให้นายจ้างชาวจีนที่ทำแอปพลิเคชันรายหนึ่งในจังหวัดพระสีหนุ งานใหม่ไม่เป็นไปตามที่ตกลงไว้แต่แรก นอกจากไม่ได้เงินเดือนตามที่สัญญาไว้แล้ว ยังมาพร้อมหนี้สินที่เขารู้ภายหลังว่า เป็นค่าหัวที่นายจ้างจ่ายให้กับนายหน้า
แต่ละวันคนไทยที่ทำงานกับแอปพลิเคชันนี้ในตำแหน่งแอดมิน ต้องหาลูกค้าคนไทยเข้ามาลงทุนผ่านแอปฯ ให้ได้วันละ 20 คน หากทำไม่ได้ตามเป้าหมายที่นายจ้างกำหนด จะถูกทำโทษให้อดข้าวอดน้ำ วิ่งติดต่อกันเป็นเวลานานๆ โดยไม่ให้หยุดพัก และ ข่มขู่ว่าจะขายต่อให้กับนายจ้างคนอื่น
นายรัฏฐาธิป พรหมแก้ว เลขานุการ (ฝ่ายกงสุล) ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา บอกว่า สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงพนมเปญ ได้รับเรื่องของคนไทยตกทุกข์กลุ่มนี้ และทำหนังสือขอความช่วยเหลือไปที่สำนักงานตำรวจแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาแล้ว
เคสนี้จะค่อนข้างใช้เวลานานตรงที่ว่า เกิดขึ้นที่ จ.พระสีหนุ เพราะฉะนั้นจะมีขั้นตอนของการสั่งการจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เป็นส่วนกลางไปยังตำรวจในพื้นที่
ยังมีคนไทยอีก 2 กลุ่มอยู่ในกระบวนการช่วยเหลือจากสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงพนมเปญ กลุ่มหนึ่งเป็นคนไทย 3 คนทำงานกับเว็บไซต์พนันออนไลน์ที่กรุงพนมเปญ อีกกลุ่มเป็นคนไทย 3 คนทำงานในกาสิโนจังหวัดกัมปอต
นายรัฏฐาธิป พรหมแก้ว เลขานุการ (ฝ่ายกงสุล) ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา บอกว่า การพิจารณาว่าจะดำเนินการหรือไม่ เมื่อไร อย่างไร เป็นดุลยพินิจของตำรวจกัมพูชา
การที่ให้ตำรวจกัมพูชาได้คุยกับผู้เสียหายโดยตรง ได้รับฟังว่าคนไทยตกทุกข์ที่ขอความช่วยเหลือน้ำเสียงเป็นอย่างไรเรื่องราวเป็นอย่างไร เขาจะได้เห็นภาพจะได้เข้าใจว่ามีความเร่งด่วนจริงๆ จะได้รีบเข้าไปดำเนินการครับ
เกือบ 100 คน คือจำนวนคนไทย ที่ได้รับความช่วยเหลือกลับมาจากกัมพูชาตั้งแต่ต้นปี 2564 ถึงวันนี้ ที่เหมือนกันคือ ถูกหลอกไปทำงาน และ เสี่ยงถูกขายต่อเป็นทอดๆ ไม่ต่างกับการค้ามนุษย์
หนึ่งในคนไทยที่เพิ่งได้รับความช่วยเหลือกลับมาประเทศไทย บอกว่า การลอบไปทำงานที่กัมพูชาแบบผิดกฎหมายเป็นการเอาชีวิตไปเสี่ยง
อยากบอกว่าอย่าไปเลย คิดผิดมากๆ เหมือนเอาชีวิตไปติดในคุก แล้วเขาก็ไม่ได้ให้เราตามที่เขาพูด เขาก็เอาเราไปใช้นี่แหละ ถ้าเราทำไม่ได้เขาก็ไล่คุณออก เผลอๆเขาอาจเอาคุณไปขายอีกต่อก็ได้
นายรัฏฐาธิป พรหมแก้ว เลขานุการ (ฝ่ายกงสุล) ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ระบุว่า ถ้าทำงานไม่ได้ตามที่บริษัทต้องการ จะถูกขายให้นายจ้างคนอื่น
การถูกขายให้นายจ้างคนอื่นจะทำให้ค่าหัวสูงขึ้น มันจะมีผลว่าถ้าคนไทยต้องการออกจากงาน ค่าหัวค่าไถ่ตัวจะสูงขึ้นมีตั้งแต่ 2,000 - 3,000 ดอลลาร์ ถึงขึ้นไปเป็นแสนสองแสนบาทมีหมดเลย
ขณะนี้ คนไทย 3 คน ที่จังหวัดกัมปอตได้รับการช่วยเหลือ เข้าสู่กระบวนการรอเนรเทศจากกัมพูชากลับประเทศไทย
The EXIT : แฉขบวนการพาข้ามแดนเย้ยโควิด
The EXIT : ยอดพุ่งลอบข้ามแดนหนองหญ้าแก้ว จ.สระแก้ว