วันนี้ (1 ก.ย.2564) 15.45 น. นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายด้วยการเปิดคลิปวิดีโอ ที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข พูดในสภาฯ เมื่อวันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา ว่า ในไตรมาส 3 (เดือน ก.ค.-ก.ย.) วัคซีนแอสตราเซเนกา จะมีเต็มแขนคนไทย อยู่เต็มโรงพยาบาล มีจนไม่พอเก็บ
แต่ข้อมูล ณ วันนี้ 1 ก.ย.2564 คนฉีดเข็มแรกมี 23.8 ล้านคน เข็ม 2 มี 8.2 ล้านคน ประชากรทั้งประเทศ 67 ล้านคน หากอย่างนี้เรียกเต็มแขน ประชาชนก็ต้องเต็มกลืน และรู้สึกว่าท่านเกินเยียวยาแล้ว
ผมไม่ได้บอกว่าวัคซีนซิโนแวค ไม่มีประสิทธิผลเลย แต่ซิโนแวคไม่เหมาะกับสถานการณ์ เพราะไม่มีประสิทธิผลเพียงพอที่จะต่อสู้กับเชื้อกลายพันธุ์อย่างสายพันธุ์เดลตา
หากนายอนุทินมีงานวิจัยที่ทำอย่างเป็นระบบตีพิมพ์ในระดับสากล ที่ยืนยันได้ว่าการฉีดคซีนเชื้อตายมีประสิทธิผลที่สูงต่อเชื้อกลายพันธุ์ อย่างสายพันธุ์เดลตา ก็ช่วยเอางานวิจัยมายืนยันกลางสภาด้วย
นายวิโรจน์ กล่าวว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจคราวก่อน เมื่อ 17 ก.พ. ที่ผ่านมา วันนั้นคนระดับรัฐมนตรียืนยัน แล้ว ตนก็เบาใจ ไม่เคยคิดว่าคนระดับรัฐมนตรีจะกล้าโกหกกลางสภา คิดว่ามีการทำสัญญา จองซื้อ หรือลงนามกันแล้ว
แต่ปรากฏว่า หลังอภิปรายไม่ไว้วางใจผ่านเพียง 2 เดือน ถึงเพิ่งจะมามีมติ ครม. แก้สัญญา เมื่อวันที่ 23 ก.พ.64 แก้จากจำนวน 26 ล้านโดส เป็น 61 ล้านโดส
เมื่อวันที่ 24 ก.พ.64 นายอนุทิน บอกว่าว่าประเทศไทยมีวัคซีนโควิดมากสุดในเอเชีย นับเป็นอัตราส่วนประชากร ไทยไม่แพ้ใครในโลกนี้ เป็นใครคงคิดว่าได้ลงนาม ระหว่างคู่สัญญา คือ รัฐบาลไทยกับแอสตราเซเนกาแล้ว
ไม่มีใครกล้าคิดว่า นี้จะแผนจัดหาวัคซีนลวงโลก ภายใต้การบริหารงานและคบคิดกัน ของ พล.อ.ประยุทธ์ และนายอนุทิน ไม่มีใครคิด ตนเพิ่งมาเชื่อ เมื่อไม่นานมานี้
เหตุการณ์การระบาดระลอก 3 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 เม.ย.64 โดยมีจุดเริ่มต้นที่สถานบันเทิงย่านทองหล่อ การระบาดระลอกนี้รุนแรงมาก และสิ่งที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นในอีก 20 วันถัดมา 23 เม.ย. มีประชาชนป่วยตายคาบ้าน ท่ามกลางคำถามว่ารัฐบาลกู้เงินไปแล้ว 1 ล้านล้าน จัดสรรให้กับ กระทรวงสาธารณสุขไปแล้ว 4.5 หมื่นล้าน ทำไมถึงไม่มีความพร้อม
หมายเลข 1668 แต่เดิม โทรได้แค่ 08.00-22.00 น. โทรไปก็ไม่ติดเพราะไม่มีระบบอะไรเลย มีแต่ปากกาลูกลื่นกับกระดาษ มีแค่ตัวกับใจ โทรไปก็ต้องเสียเงิน รอสายเงินก็หายไปเรื่อย ๆ กว่าจะได้โทรฟรีก็เริ่ม 24 ก.ค. เรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ก็รู้ดีเพราะได้ลองโทรไปด้วยตัวเอง
นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า จากการค้นข้อมูลการเบิกจ่าย เมื่อวันที่ 20 ก.ค.2564 ก็ทำให้รู้ความจริงว่า แผนงานและโครงการเพื่อจัดซื้อจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุข ป้องกันวัคซีนโควิด และห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ ที่มีวงเงินอนุมัติสูงถึง 1.5 หมื่นล้านบาท เบิกจ่ายไปได้แค่ 1,081 ล้านบาท เบิกจ่ายได้แค่ร้อยละ 7.09 แผนงานโครงการด้านสาธารณสุข เพื่อรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินมีวงเงินอนุมัติไป 1,727 ล้านบาท เบิกไปได้เพียง 156 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 9.06
การขาดความพร้อมจึงเป็นหลักฐานที่ชี้ชัดได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ และนายอนุทินปล่อยปละละเลย จนขาดความพร้อมที่จะดูแลรักษาชีวิตของประชาชน จะอ้างว่างบฯ ไม่มีไม่ได้
หลายคนต้องป่วยตายคาบ้าน เพราะเข้าไม่ถึงการรักษา อย่าอ้างว่าระเบียบราชการเกี่ยวพันกับหลายหน่วยงาน คนที่อ้างไม่ได้เลย คือ นายกรัฐมนตรี นายอนุทิน ยังอ้างได้บ้าง เพราะตั้งแต่วันที่ 27 เม.ย. พล.อ.ประยุทธ์ มีอำนาจจากพระราชบัญญัติ 31 ฉบับ และพระราชกำหนดฉุกเฉินฯ
หากรัฐบาลเตรียมความพร้อมได้ดีกว่านี้ ประชาชนจะไม่เสียชีวิตมากขนาดนี้ และต่อให้เสียชีวิตด้วยความรุนแรง และความอันตรายของโรค ก็ไม่ต้องเสียชีวิตด้วยความเศร้าสลด และความน่าอนาถขนาดนี้ ผมอยากถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ และนายอนุทินจะชดใช้อย่างไร
ทำไมไทยถึงไม่ร่วมโครงการ Covax
นอกจากนี้ นายวิโรจน์ ตั้งคำถามกรณีไทยไม่เข้าร่วมโครงการ Covax ทั้งที่มีมากกว่า 180 ประเทศเข้าร่วม รวมทั้งทุกประเทศในอาเซียน แต่ไทยอ้างเหตุผลว่า หากเข้าร่วมโครงการดังกล่าวแล้ว ต้องซื้อวัคซีนในราคาแพง ทั้งที่จุดสำคัญคือ การป้องกันความเสี่ยงของประเทศ เพื่อให้เข้าถึงวัคซีนได้มากที่สุด และร่วมมือกับนานาประเทศในการสกัดกั้นการแพร่ระบาด COVID-19
ผมไม่เคยพูดเรื่องราคาวัคซีนแพง เพราะต่อให้แพงแค่ไหน ไม่มีทางแพงไปกว่าชีวิตของประชาชน ค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้น และเงินเยียวที่รัฐบาลต้องจ่าย รวมทั้งความย่อยยับทางเศรษฐกิจ
นายวิโรจน์กล่าวต่อว่า รัฐบาลอ้างอีกเหตุผลที่ไม่เข้าร่วม Covax เพราะวัคซีนส่วนใหญ่เป็นแอสตราเซเนกา ซึ่งซ้ำกับวัคซีนหลัก แต่วันนี้ต้องถามไปยังนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ว่า
ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าแผนจัดสรรวัคซีนแอสตราเซเนกา 61 ล้านโดส คู่สัญญาเพิ่งจะเซ็นวันที่ 4 พ.ค. นายอนุทินมั่นใจได้อย่างไร ว่าการส่งมอบวัคซีนจะไม่เกิดปัญหา สุดท้ายเดือน มิ.ย. ส่งมอบได้ 5 ล้านกว่าโดส ไม่ครบ 6.3 ล้านโดส เดือน ก.ค.ส่งมอบ 5.3 ล้านโดส และเดือน ส.ค.ประเมินว่า จะส่งมอบ 5.8 ล้านโดส ไม่ถึง 10 ล้านโดสตามที่ประชาสัมพันธ์ไว้
อีกทั้งรับบริจาควัคซีนดังกล่าวจากญี่ปุ่น 1 ล้านโดส อังกฤษ 4.15 แสนโดส และยืมภูฏาน 1.5 แสนโดส
ล่าสุดวันที่ 26 ส.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศอยู่ระหว่างติดต่อประเทศทางยุโรป เพื่อขอซื้อวัคซีนไฟเซอร์และแอสตราเซเนกา เดือนละ 2-3 ล้านโดส ทั้งที่โครงการ Covax จะจัดสรรวัคซีนให้ตามประชากร หากไทยเข้าร่วมจะได้แอสตราเซเนกา 2-3 ล้านโดส
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
วาโยชี้ "นายกฯ-อนุทิน" ซื้อซิโนแวคเพิ่ม สวนทางรับมือเดลตาได้ต่ำ