วันนี้ (1 ก.ย.2564) พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค.แถลงตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. - 1 ก.ย.2564 ซึ่งในวันนี้ (1 ก.ย.) พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ รวม 14,802 คน หายป่วยกลับบ้านเพิ่ม 18,996 คน และเสียชีวิตเพิ่ม 252 คน ส่วนตัวเลขผู้ป่วยอาการหนัก หรือยังใช้เครื่องช่วยหายใจ ยังมีทิศทางลงอยู่บ้าง
ในส่วนของวัคซีน ตอนนี้มียอดฉีดรวมทั้งประเทศที่ 32 ล้านโดส ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขรายงานยอดวัคซีนเข้ามาในประเทศอยู่ที่ประมาณ 40 ล้านโดส ซึ่งแสดงว่าอีก 8 ล้านโดส อยู่ในระบบ จำนวนนี้อาจจะเป็นการฉีดแล้ว แต่ยังไม่ลงข้อมูลในม็อกไอซี ขอความร่วมมือจุดฉีดทุกแห่งทั่วประเทศ ลงไปที่ต่างจังหวัดทั่วถึง โดยเน้นฉีดวัคซีนใน 29 จังหวัดที่อยู่ในควบคุมสูงสุดและเข้มงวดก่อน ขอให้ลงระบบด้วย หรือหากยังไม่ได้เป็นการฉีดขอให้เร่งระดมฉีดในเดือน ก.ย.นี้ เพื่อที่จะรองรับมาตรการที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ได้
ส่วนตัวเลขผู้เสียชีวิต กทม.ยังลดลง แต่ยังสูงสุด และกลุ่มผู้เสียชีวิตยังเป็นกลุ่มที่มีโรคประจำตัวและสูงอายุ ซึ่งกรมควบคุมโรครายงานว่าตัวเลขที่เป็นค่ากลางอายุ 66 ปี แต่ถ้านับจำนวนผู้ที่มีอายุ 50 ปีลงไปด้วย และเสียชีวิต จะพบว่าอัตราผู้เสียชีวิตเป็น 80% ทำให้ทางกระทรวงสาธารณสุขกำลังเร่งพิจารณาเพิ่มผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ให้เข้ารับการฉีดวัคซีนเร่งด่วน
ขณะเดียวกัน กรมควบคุมโรคเตรียมปรับการรายงานยอดผู้เสียชีวิตตามวันที่เสียชีวิต เพื่อให้ตัวเลขมีความเป็นจริงมากที่สุด ก่อนหน้านี้ จะมีรายงานเป็นวันที่รายงานการเสียชีวิต ซึ่งหลายจังหวัดมีการรายงานย้อนหลัง 3-4 วัน เพราะว่าจำเป็นเคลียร์ข้อมูลให้มีความถูกต้องก่อน ซึ่งกรมควบคุมโรคจะดูย้อนไปถึงวันที่ผู้เสียชีวิตรายนั้น เสียชีวิตด้วย เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำ นำมาบริหารสถานการณ์ได้แม่นยำมากยิ่งขึ้น
ส่วนผู้ติดเชื้อยังพบว่า กทม.และปริมณฑล เทียบกับต่างจังหวัดยังเป็นสัดส่วนคงเดิม เกือบที่จะใกล้กัน ก่อนหน้านี้ที่ต่างจังหวัดค่อนข้างสูง ตอนนี้ค่อนข้างเป็น 50-50 วันนี้มี 33 จังหวัดที่มีรายงานยอดผู้ติดเชื้อเกิน 100 คน แม่ฮ่องสอน หรือหลายจังหวัดทางภาคเหนือค่อนข้างมีตัวเลขเล็กลง ซึ่งในส่วนของภาคเหนือมีตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงไปในทิศทางที่ดี
นอกจากนี้ ยังเน้นย้ำว่าบางจังหวัดแม้ว่าจะมีทิศทางตัวเลขที่ลดลง แต่ว่าอย่าเพิ่งย่อหย่อนมาตรการ ยังคงต้องค้นหาผู้ป่วย เพราะว่ายังพบรายงานผู้ป่วยจากคลัสเตอร์ต่างๆ รวมทั้งบุคลากรทางการแพทย์ หรือกลุ่มโรงงาน เช่น พบที่ ระยอง ชลบุรี สุพรรณบุรี ส่วนแคมป์คนงานยังพบในหลายพื้นที่ รวมทั้งตลาด ชุมชน ขอให้ทุกจังหวัดเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง โดยจะสุ่มตรวจในพื้นที่เสี่ยง เช่น จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นรายงานการสุ่มตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อในพื้นที่ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง โดยประกาศกรมอนามัย เช่น ชุมชนแรงงานข้ามชาติ ตลาดสด ตลาดนัด โรงงาน สถานประกอบการ ธนาคาร ศูนย์เด็กเล็ก ศาสนสถาน สถานีขนส่งสาธารณะ เป็นต้น
ทั้งนี้ ที่ประชุม EOC หารือเกี่ยวกับความเสี่ยงว่าเมื่อแคมป์คนงานก่อสร้างปิด ก็จะเดินทางกลับภูมิลำเนา ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.นี้ เมื่อมีการเปิดกิจการ แคมป์คนงาน ประชาชนกลุ่มนี้อาจจะเดินทางกลับเข้าสู่ กทม.และปริมณฑล ขอให้ทุกจังหวัดพยายามมีการติดตาม คัดกรองประชาชนกลุ่มนี้อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งวันนี้เป็นการประกาศบังคับใช้ข้อกำหนดที่ 32 หลายกิจการเปิดดำเนินการ อาจจะเห็นประชาชนจากภาคอีสาน ภาคเหนือ เดินทางกลับเข้ามา โดยเฉพาะแคมป์คนงาน
ที่ผ่านมา มีการระดมฉีดวัคซีนให้กับคนงานที่อยู่ในแคมป์ และมีความจำเป็นต้องตรวจสอบว่าคนที่เดินทางกลับมาจากภูมิลำเนาฉีดวัคซีนหรือยัง รวมทั้งตรวจหาเชื้อหรือไม่ รวมทั้งความเสี่ยงสถานีขนส่งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ เพราะวันที่ 1 ก.ย. เริ่มเปิดให้บริการเกือบจะเป็นปกติ ยังเต็มครบ 100% แต่ว่าขอให้ทุกภาคส่วนทั้งทุกพื้นที่จังหวัดให้ความสำคัญและเฝ้าระวังในพื้นที่เสี่ยงเหล่านี้ด้วย
สำหรับมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจปลอดภัย เป็นมาตรการที่ ศบค.ให้ความเห็นชอบในส่วนที่กระทรวงสาธารณสุขนำเสนอวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยกระทรวงสาธารณสุขได้เน้นย้ำมาตรการนี้ สมาคมผู้ประกอบการ สมาคม สภาหอการค้าต่างๆ นำเรื่องเสนอกระทรวงสาธารณสุข เพื่อพิจารณาให้มีการอนุญาตให้เปิดกิจการ กิจกรรม ซึ่ง ศบค.เห็นชอบ ถือว่าเป็นมาตรการควบคุมโรคแนวใหม่ อย่างสมดุล เพื่อให้เกิดการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างปลอดภัย
ทั้งนี้ มาตรการดังกลาวจะเป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งเป็นการอนุญาตให้เปิดกิจการแบบทยอยเปิด ซึ่งมีผลใน 29 จังหวัดที่เป็นจังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ซึ่งมาตรการนี้ไม่ได้เป็นการบังคับ แต่เป็นการขอความร่วมมือ พยายามให้เป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ประกอบการ เป็นการนำร่อง จังหวัดใดพร้อม พื้นที่หรือสถานประกอบการใดพร้อม สามารถที่จะดำเนินการตามมาตรการได้เลย