วันนี้ (1 ก.ย.2564) นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ อายุรแพทย์ทางด้านโรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC" ระบุว่า ผู้ป่วยโรค COVID-19 หลาย ๆ คน มีปัญหาผมร่วงหลังจากที่หายป่วยไปแล้ว 2-3 เดือน ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากไวรัสโดยตรง แต่เป็นผลพวงจากการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกับร่างกายจากเชื้อไวรัส เช่น ไข้สูง ความเครียด ความวิตกกังวล ที่เป็นอาการที่พบได้จากการติดเชื้อไวรัส COVID-19
โดยปกติแล้วเส้นผมคนเราจะร่วงวันละประมาณ 100 เส้น หลังจากหายป่วยจากโรค COVID-19 ราว 2-3 เดือน ผมอาจร่วงได้ถึงวันละ 300 เส้น ตลอดระยะเวลา 6 เดือน ส่วนใหญ่ผมที่ร่วงไปก็จะค่อย ๆงอกกลับมาใหม่อีกครั้ง และกลับมามีผมเหมือนก่อนป่วยในเวลา 6-9 เดือน
ทั้งนี้ พบเคสผู้ป่วยหญิงไทยอายุ 65 ปี ป่วยเป็นโรค COVID-19 เมื่อวันที่ 16 เม.ย.2564 มีไข้สูง ไอ เหนื่อย เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ขณะนี้หายดีเป็นปกติ ไม่ไอ ไม่เหนื่อย ผมเริ่มร่วงหลังจากหายป่วย 2 เดือนครึ่ง เวลาหวีผม ผมหลุดออกมาเป็นกระจุกหลายร้อยเส้นต่อวัน ผมร่วงต่อเนื่อง 2 เดือน ผมบางลงมากทั้งศีรษะ ลูกสาวที่ป่วยพร้อมกัน ผมก็ร่วงเหมือนกันแต่น้อยกว่า
แนะนำผู้ป่วยไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องวิตกกังวล อีกประมาณ 4 เดือนผมก็จะหยุดร่วงและจะงอกขึ้นมาใหม่เหมือนเดิม
หลังมีผู้ติดเชื้อ COVID-19 รักษาหายแล้วจำนวนมาก ทำให้หลายฝ่ายจับตาถึงอาการหลังหายป่วย ก่อนหน้านี้ นพ.มนูญ ก็เคยโพสต์ถึงกรณีประเทศอินเดียที่เผชิญกับโรคติดเชื้อราดำ (Mucormycosis) อย่างหนักช่วงเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ในผู้ที่กำลังป่วยหรือหายป่วยจากโรค COVID-19 ซึ่งมีสาเหตุสำคัญจากการติดเชื้อ COVID-19 เป็นโรคเบาหวาน และการให้สเตียรอยด์เพื่อลดการอักเสบของปอดจากโรคไวรัส COVID-19
ถ้าให้สเตียรอยด์ขนาดสูงและเป็นเวลานาน มีผลเสียทำให้น้ำตาลในเลือดขึ้นสูง และภูมิต้านทานต่ำ เหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อราดำ
ขณะเดียวกัน รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ก็เคยโพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก นิธิพัฒน์ เจียรกุล ถึงผู้ที่รอดหรือฟื้นตัวหลังจากป่วยด้วยโรค COVID-19 อาจมีความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดที่ตามมาโดยเฉพาะโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน และโรคสมองขาดเลือด จากข้อมูลการศึกษาเชิงระบาดวิทยาในประเทศสวีเดน
โดย รศ.นพ.นิธิพัฒน์ ระบุว่า เหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ของเชื้อไวรัสโคโรนา-2019 คือ นอกจากทำให้เกิดภาวะภูมิคุ้มกันร่างกายทำงานปกป้องตัวเองมากเกินแล้ว ยังทำให้เกิดความผิดปกติหลายอย่างของเซลล์ผนังหลอดเลือด และทำให้เกิดความผิดปกติที่ส่งเสริมในอีกหลากกลไกทั้ง เลือดแข็งตัวง่าย เกล็ดเลือดถูกกระตุ้น และ ACE2 receptor downregulation
ทั้งนี้ โรค COVID-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ที่วงการแพทย์ตั้งศึกษาวิจัยและเก็บข้อมูลตั้งแต่อาการป่วย วิธีการรักษา ยาที่ใช้ วัคซีนที่พัฒนา ไปจนถึงอาการหลังหายป่วยที่เกิดจากไวรัสโดยตรงหรือผลทางอ้อมก็ตาม ซึ่งขณะนี้หลายประเทศต่างเร่งศึกษาและเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องเพื่อปรับปรุงและพัฒนาระบบสาธารณสุขให้พร้อมกับการดูแลรักษาผู้ป่วยในระยะต่อไป