Thailand Web Stat
ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ร้านอาหารหวังรัฐฉีดวัคซีนทั่วถึง - เร่งกระตุ้นกำลังซื้อ

เศรษฐกิจ
29 มิ.ย. 64
07:46
306
Logo Thai PBS
ร้านอาหารหวังรัฐฉีดวัคซีนทั่วถึง - เร่งกระตุ้นกำลังซื้อ
ร้านอาหารบางส่วนยังคงเรียกร้องให้ภาครัฐอนุญาตให้ลูกค้ากินที่ร้าน เพราะจะมีรายได้มากกว่าเงินเยียวยาที่ภาครัฐจะให้ พร้อมคาดหวังให้เร่งกระจายวัคซีนให้ทั่วถึงมากกว่าการออกมาตรการแจกเงิน หรือกระตุ้นกำลังซื้อ

เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2564 บรรยากาศร้านก๋วยเตี๋ยวของนางพัชญ์ตา ธนวัตเรืองกิตต์ มีลูกค้าค่อนข้างบางตา ซึ่งแตกต่างจากช่วงเวลาปกติที่จะเต็มไปด้วยลูกค้าทั้งขาประจำและขาจร

แต่หลังจากมีการห้ามนั่งทานอาหาร เครื่องดื่มในร้าน ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย. - 27 ก.ค.2564 ทำให้ร้านขายเฉพาะซื้อกลับบ้านเท่านั้น ส่งผลให้รายได้หายไปกว่าร้อยละ 80 และต้องลดการจ้างงานลูกจ้างรายวันจากวันละ 8 คน เหลือวันละ 2 คน

ส่วนมาตรการที่ภาครัฐออกมาช่วยเหลือทั้งการจ่ายชดเชยให้กับร้านอาหารและลูกจ้าง แม้ว่าจะไม่มาก เมื่อเทียบกับรายได้จากการขายต่อวัน แต่เจ้าของร้านก็หวังว่าการรับเงินช่วยเหลือจะไม่มีเงื่อนไขที่ซับซ้อนเกินไป

ขณะที่นางนงนุช ศิริ ลูกจ้างร้านก๋วยเตี๋ยว เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ ตนเองและสามีทำงานร้านอาหารกลางคืน แต่เมื่อภาครัฐสั่งปิดจึงตกงานทั้งคู่ จึงมาสมัครทำงานร้านก๋วยเตี๋ยว แต่จากมาตรการควบคุม COVID-19 รอบนี้ ทำให้เหมือนตกงานซ้ำอีกครั้ง เพราะจากที่เคยทำงานทุกวัน เหลือเพียง 3 วัน หยุด 2 วัน สลับกับเพื่อนร่วมงานคนอื่น

เช่นเดียวกันร้านขายข้าวมันไก่ ยินดีที่ภาครัฐจะช่วยเหลือ เพราะขณะนี้ยอดขายลดลงไปมาก เเถมที่ร้านเองไม่ได้ขายผ่านทางแอปพลิเคชัน

น.ส.ประภัสสร รังสิโรจน์ นายกสมาคมร้านอาหารไทยและสตรีทฟู้ด กล่าวว่า ยอมรับการเยียวยาที่ภาครัฐให้ความสำคัญ เพื่อพยุงกิจการในช่วง 1 เดือน ที่ต้องเสียโอกาสให้ลูกค้านั่งทานในร้าน แม้ว่าไม่สามารถทดแทนการเปิดนั่งทานอาหารในร้านได้

ส่วนร้านค้าของรายย่อยที่ไม่ได้อยู่ในระบบ ภาครัฐควรช่วยอำนวยความสะดวก ทั้งการเข้าสู่ระบบประกันสังคม หรือการสมัครแอปพลิเคชันถุงเงิน เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงการเยียวยาไม่มีใครตกหล่น

ขณะเดียวกัน รู้สึกยินดีที่รัฐบาลไม่เลื่อนโครงการคนละครึ่งออกไป ยังหวังว่าโครงการนี้จะช่วยหนุนร้านอาหารรายย่อยให้พอมีรายได้เพิ่มอีกทาง

สำหรับความช่วยเหลือที่ภาครัฐเคาะจากมาตรการปิดพื้นที่ก่อสร้าง 1 เดือน และห้ามนั่งรับประทานอาหารในร้าน ครอบคลุมพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ และสมุทรสาคร คาดว่าจะมีแรงงานในระบบที่ได้รับผลกระทบไม่น้อยกว่า 690,000 คน

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช.เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า พิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือลูกจ้าง และนายจ้างที่ได้รับผลกระทบ เป็นเวลา 1 เดือน ได้แก่ มาตรการจ่ายเงินช่วยเหลือลูกจ้าง สัญชาติไทย ในระบบประกันสังคมเท่านั้น รายละ 2,000 บาท

ขณะเดียวกัน สำนักงานประกันสังคมจ่ายเงินกรณีชดเชยขาดรายได้ให้ผู้ประกันตน ร้อยละ 50 ของเงินเดือน แต่ไม่เกินคนละ 7,500 บาท ส่วนแรงงานนอกระบบ สามารถสมัครขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน ก็จะได้รับสิทธิดังกล่าวได้เช่นกัน

นอกจากนี้ รัฐบาลยังเตรียมบรรเทาผลกระทบนายจ้าง โดยจ่ายเงินดูแลลูกจ้างอีก 3,000 บาท ต่อจำนวนลูกจ้าง 1 คน แต่ไม่เกิน 200 คน พร้อมกำหนดเงื่อนไข ที่ต้องรับเงินดังกล่าวผ่านแอปพลิเคชัน "ถุงเงิน" เท่านั้น

ส่วนร้านอาหารและเครื่องดื่ม นอกระบบประกันสังคม เนื่องจากไม่มีลูกจ้าง ก็สามารถรับเงินช่วยเหลือดังกล่าวได้เช่นกัน แต่ต้องให้กระทรวงมหาดไทยพิสูจน์ก่อน คาดว่าจะใช้เงินกู้ และเงินจากประกันสังคม สำหรับดำเนินมาตรการไม่น้อยกว่า 7,500 ล้านบาท

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Failed to load player resources

Please refresh the page to try again.

ERROR_BYTEARK_PLAYER_REACT_100001

00:00

00:00

ให้คะแนนการอ่านข่าวนี้