ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

AnimaToey นักวาดภาพสีน้ำชาวไทย ผลงานสดใสสไตล์ญี่ปุ่น

ศิลปะ-บันเทิง
1 เม.ย. 64
14:01
7,629
Logo Thai PBS
AnimaToey  นักวาดภาพสีน้ำชาวไทย ผลงานสดใสสไตล์ญี่ปุ่น
นายฉัตรชัย ธรรมาภิรมย์ หรือที่รู้จักกันในนาม AnimaToey นึกวาดภาพสีน้ำชาวไทย ที่โลดแล่นในแวดวงศิลปะมานานกว่า 10 ปี จนวันนี้มีผลงานภาพวาดสีน้ำที่เป็นเอกลักษณ์สไตล์ญี่ปุ่นและเป็นชื่นชอบของแฟนคลับ

"ฉัตรชัย ธรรมาภิรมย์" หรือ เต้ย ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนาม "AnimaToey" นักวาดภาพสีน้ำชาวไทย ที่โลดแล่นในแวดวงศิลปะมานานกว่า 10 ปี จนวันนี้มีผลงานภาพวาดสีน้ำที่ผสมผสานระหว่างสถานที่โบราณผนวกกับสีสันสดใสสไตล์ญี่ปุ่น จนเป็นที่คุ้นตาแฟนคลับและพัฒนาไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และยืนหยัดในวงการศิลปะจนถึงปัจจุบันที่ทำงานศิลปะในฐานะนักวาดและครูสอนวาดภาพสีน้ำ 

จุดเริ่มต้นในการมาทำงานวาดภาพสีน้ำ มีที่มาอย่างไร

เต้ย : เดิมชอบวาดรูป ชอบวาดการ์ตูน ก็ชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก ก็ประกวด วาดภาพสมัยมัธยม ประกวดหนังสือ มีทั้งขำ ๆ และจริงจัง ตอนเรียนก็เลือกเรียนคณะสถาปัตย์เพราะได้วาดรูป จบมาก็ไม่ได้ทำงานด้านสถาปัตย์ แต่ทำงานด้านแอนิเมชันเลย คือในเส้นทางที่อะไรก็ได้ที่ได้วาดการ์ตูน โดยที่กลับมาวาดภาพจริงจังคือ ภาพวาดสีน้ำ เริ่มวาดในปี 2011 ปีนี้ก็ครบ 10 ปี แต่วาดรูปทำมาตลอด ในเชิงการใช้ชีวิต ไม่ได้จะมามุ่งจริงจังแค่ชอบวาด ชอบทำในสิ่งที่ชอบทำ

 

เดิมเปิดเพจเพียงแค่อยากวาดรูปเล่น เราแค่เป็นนักวาดรูปเล่น ซึ่งก็เริ่มจากเบื่องาน เพราะงานแอนิเมชันได้ออกแบบภาพเคลื่อนไหว วาดฉาก มันสนุก แต่ว่าก็มีทั้งงานที่ต้องทำตามออเดอร์ลูกค้า ซึ่งมีทั้งลูกค้าที่ยอมให้ผมได้ทำตามใจและที่ต้องตามใจลูกค้า และก็สะสมมาตลอดและมีความในใจว่าอยากทำภาพวาดของตัวเองเพราะเรารู้สึกว่าเรามีของมากกว่านั้น มากกว่าที่ลูกค้าให้เราทำก็สะสมเรื่อยมาว่าอยากวาดรูปของตนเอง

ขับรถไปทำงานก็ผ่านตึกที่อยากวาด หรือสถานที่น่าเอามาวาด ก็สะสมมาจนวันหนึ่งก็ลุกขึ้นมาวาดเลย

ส่วนหนึ่งก็มาจากความอัดอั้นตันใจ และด้วยการที่ลูกค้างานหนึ่งไม่ซื้อภาพผมด้วยเหตุผลที่ว่าผมไม่มีชื่อเสียง เหมือนผมอยู่ในฐานะคนทำภาพเคลื่อนไหว แอนิเมชัน เขาก็จะไปเลือกจ้างนักเขียนที่โด่งดังตอนนั้นมาเป็นคนวาดและให้ผมเป็นคนทำภาพเคลื่อนไหวซึ่งตอนนั้นผมยังโนเนม

 

เริ่มทำงานแอนิเมชันตั้งแต่เรียนจบประมาณปี 2542 จบปี 2547 ทำมาประมาณ 8 ปี ก็เริ่มประมาณอิ่มและเหนื่อย เหมือนงานที่ทำมันได้เงินแต่ไม่ตอบโจทย์ภายใน ผมอยากมีผลงาน ซึ่งงานแอนิเมชันชิ้นหนึ่งเวลางาน 1-5 นาที ใช้เวลาทำนาน 1-2 เดือนจึงจะมีงานออกมาให้เห็น แต่งานวาดรูปใน 1 วัน เรามี 1 งานได้ ซึ่งจะมีงานมากกว่า ตอนทำงานแอนิเมชัน พอทำเสร็จก็หนีไปทำอย่างอื่นแล้ว เล่นบาสเก็ตบอล แบดมินตัน

 

เริ่มในปี 2012 แล้วปีนั้นถ้าย้อนไปก็คือ ปีโลกแตก ก็แบบก็เอาวะ ถ้าโลกแตกก็ขอทำอันนี้ละกัน แบบไม่เสียดาย เหมือนเป็นสิ่งที่ต้องทำตอนนั้นเหมือนบ้าแบดมินตันก็เลิก เดินหาโลเกชันมาเป็นแบบวาด 

สุดท้ายการจะหยุดงานแอนิเมชัน แล้วออกมาวาดรูปนี่มีแนวคิดอย่างไร

เต้ย : จริง ๆ ไม่มีอะไรมาก คือ ทำตามใจตัวเอง ก็ลองทำ ซึ่งงานปกติจะมีลูกค้า พองานไม่มีลูกค้าโจทย์ตามใจชอบของเราแล้ว ลองวาดเองตอนนั้นปี 2012 แล้วปีนั้นถ้าย้อนไปก็คือปีโลกแตก ก็แบบก็เอาวะ ถ้าโลกแตกก็ขอทำอันนี้ละกัน แบบไม่เสียดาย เหมือนเป็นสิ่งที่ต้องทำตอนนั้นเหมือนบ้าแบดมินตันก็เลิก เดินหาโลเกชันมาเป็นแบบวาด

 

ตอนนั้นช่วงเรียนสถาปัตย์เคยวาดงานลายเส้นอยู่แล้ว พอวาดออกมาปุ๊บงานมันเหมือนตอนสมัยเรียนเลย ก็ถามตัวเองว่าเรามีอะไรต่างจากตอนเรียน ผมก็คิดว่าผมมีคาแรคเตอร์ ผมทำการ์ตูน มีความรู้ตอนทำแอนิเมชันก็เลยวาดคาแรคเตอร์ใส่ในผลงาน ผลงานจึงมีเอกลักษณ์ขึ้นมาจึงน่าสนใจกว่าวาดฉากเฉย ๆ

ตอนทำแอนิเมชันมันต้องทำฉาก ทำตัวละคร มันจึงจะสมบูรณ์ ก็เลยกลายเป็นสไตล์เป็นจุดเริ่มต้นมาจนถึงปัจจุบัน

เอกลักษณ์ของงานเราคืออะไร ?

เต้ย : คาแรคเตอร์เด่นชัด ใส่เรื่องราวลงไป ผมคิดว่ามีความเด่นชัดในระดับหนึ่ง แต่ระยะหลังวาดแบบไม่มีคาแรคเตอร์แล้วด้วย ซึ่งบางคนก็มองออก บางคนก็ไม่แน่ว่ามองออกมั้ย สำหรับแฟนๆ

 

ช่วงตั้งไข่ในการเริ่มงานด้านวาดภาพสีน้ำจริงจังยากมั้ย ?


เต้ย : ผมทำหนังสือรวมงานวาดมาแล้ว 4 เล่ม เล่มแรกไปแสดงงานแทบจะขายผลงานไม่ได้เลย ขายได้ประมาณ 3-4 ชิ้น ตอนนั้นไม่ได้คิดเลย ไม่ได้คิดไปไกลเกินกว่าแค่แสดงงาน อยากแสดงงานให้ได้สักครั้งหนึ่ง ส่วนคำถามมันยากมั้ยในการขาย เล่มแรก ๆ เล่ม 1-2 ยังเป็นช่วงลอง ๆ ขายได้น้อย แต่มีเป้าหมายว่าสุดท้ายมันจะกลายเป็นหนังสือ

ผมไม่ค่อยรู้หรอกวิธีการวาดมันจะขายงานอะไรยังไง พอเล่ม 3 ได้ไปที่ญี่ปุ่น แสดงงานครั้งแรกที่เกียวโต เล่ม 3 พบว่างานขายได้เกือบทั้งหมด เหมือนเริ่มเข้าใจ เริ่มจับทางได้ว่า ลูกค้าเราต้องการซื้องานประมาณไหน ซึ่งทำมาเล่ม 3 ก็ผ่านมาประมาณ 3-4 ปี เริ่มขายได้เริ่มจับทางได้จนปัจจุบัน จนปัจจุบันค่อนข้างมั่นใจว่า ภาพไหนที่คิดว่าขายได้มันก็ขายได้ มันมีเจ้าของ

 

นอกจากนี้ ยังมีช่วงที่ศึกษาชีวิตศิลปินคนอื่น ซึ่งมีทั้งคนที่ทำงานควบคู่การวาดไปด้วยและคนที่วัดใจเลย เช่นออกจากงานประจำมา โดยเก็บเงินสำหรับอยู่ได้ 1-2 ปี และช่วงนั้นเก็บตัวก็ทำงานศิลปะอย่างเดียว ก็วัดใจไปเลย ถ้า 2 ปีนี้ถ้าไม่ได้ก็อาจจะกลับมาทำงานประจำก็ว่ากัน ลองให้เต็มที่ไปเลย แต่ผมก็ไม่ขนาดนั้นผมมาจากสายทำงานสถาปัตย์ไม่รู้งานในสายนี้จนเริ่มมีลูกค้า เราเริ่มรู้สึกว่าเราเพิ่มมูลค่างานได้ในแนวที่เติบโตได้

ตอนนี้นิยามตัวเองว่าอะไร

เต้ย : บทบาทหนึ่งผมก็เป็นครูจะเรียกผมว่าเป็นหรือไม่ก็ได้ ไม่ได้ซีเรียส ในแง่ศิลปะ เรียกว่าเป็นนักวาดดีกว่า เพราะแต่เดิมเปิดเพจเพราะเพียงแค่อยากวาดรูปเล่น เราแต่อยากวาดรูปเล่น

 

โอกาสในการเห็นภาพวาดสถานที่ในประเทศไทยหรือไม่

เต้ย : มีความคิดว่าจะทำ แต่คิดว่าจะไม่รับปาก แต่มีภาพเก็บไว้ที่อยากวาดอยู่ ก็เป็นภาพท้องถนน เป็นช่วงเวลาของ ณ เวลานั้น จะไม่เชิงเป็นสถานที่ พวกวัด แต่ก็มีที่คิดอยากจะวาดวัดเหมือนกัน คือ ถ้ายังไม่มีโอกาสได้ไปญี่ปุ่นก็อาจจะต้องหาโลเกชันในไทย แต่ว่ามีวัตถุดิบภาพของญี่ปุ่นที่เก็บไว้ที่อยากวาดอีกเหมือนกัน

 

ในแต่ละวันจัดตารางชีวิตอย่างไร

เต้ย : ตอนนี้มีงานที่ต้องรับผิดชอบ คือ งานออนไลน์ที่สอนวาดภาพ ทำหนังสือ ทำเสื้อ ทำโปรดักส์ต่าง ๆ ส่วนงานวาดจะรู้สึกเหมืองงานพักผ่อน เป็นงานที่รู้สึกดีตอนทำมันจะสลับกันระหว่างงานที่ต้องทำและอยากทำ เหมือนถ้าได้วาดรูปเหมือนรู้สึกได้ผ่อนคลายได้เติมพลัง ได้รีแลกซ์ตัวเอง แล้วก็มาทำงานที่ต้องทำ เช่นงานตรวจการบ้านนักเรียน งานสอน การทำหนังสือ ตารางเวลาอาจไม่เป๊ะมากแต่ที่ต้องเป๊ะจะเป็นช่วงขายคอร์สสอนวาดภาพ ต้องลงเวลาขาย และล็อกงานที่ต้องเปิดต้องเป๊ะ 

จากยุคแอนาล็อกมาสู่ดิจิทัล และโซเชียลมีเดีย แตกต่างกันอย่างไร

เต้ย : เป็นปัจจัยบวกเพราะหากไม่มีที่แสดงผลงานในโลกโซเชียล ก็ต้องไปแสดงงานที่แกลลอรีเพื่อโชว์ผลงาน ซึ่งถ้าไม่ออกงานหนังสือก็ต้องแกลลอรี หรือ ออกทีวี ซึ่งพอมีโซเชียลมีเดียก็จะสามารถสร้างงานคนที่ติดตามเราได้ รวมถึงข้อดีคือโชว์ระหว่างการทำงานได้ (Work in Process) ซึ่งจะช่วยให้คนทั่วไปเข้าใจกระบวนการคิด ขั้นตอนการทำงาน ทำให้เข้าใจว่างานศิลปะกว่าจะออกมาต้องใช้อะไรบ้าง ใช้เวลานานเท่าไหร่ ให้คนเข้าใจงานเรามากขึ้น

 

จุดแรกเริ่มจากการที่เปิดเพจวาดรูป และได้รับเชิญให้ไปเปิดคอร์สสอนวาดภาพสีน้ำที่สถ่าบันฯต่าง ๆ และสังเกตว่านักเรียนมาจากไหนเยอะแยะ ถูกเชิญไปสอนที่ไหนห้องก็เต็ม ฉะนั้นถ้าจะเปิดสอนน่าจะไหว และลองเปิดเองและเป็นรายได้ต่อเนื่องช่วงแรกเปิดสอนที่สตูดิโอ พอมายุค COVID-19 ก็กระโดดมาเป็นออนไลน์ ก็รู้สึกว่าก็เติบโตของมันงานหลักตอนนี้จะมี 2 อย่าง คือ เปิดคอร์สอนวาดภาพสีน้ำและวาดภาพ

ความยากที่สุดในการทำงานคืออะไร

เต้ย : คือ ความสม่ำเสมอที่จะอดทนทำต่อเนื่องจนกว่าจะผลิดอกออกผล ซึ่งทำมา 10 กว่าปีแล้วหวยจึงจะออก ตอนจบผมการันตีไม่ได้ว่าทุกคน หรือ 10 คน ทำงานต่อเนื่องมา 4 ปี จะทำงานที่มีเอกลักษณ์เป็นตัวของตัวเองได้ มันมีเรื่องของ Passion(หลงใหล) ความชอบส่วนบุคคลอีกของแต่ละคนอีก อย่างผมมีความชอบญี่ปุ่น ชอบคาแรคเตอร์ แต่ละคนภายในมันไม่เหมือนกัน

 

การทำต่อเนื่องได้ มันต้องมีความสนุก ความอยากทำ ความกระหาย ที่อยากวาดนู่น อยากวาดนี่ แต่ถ้าให้ผมมาวิดพื้นทุกวัน ซิทอัพทุกวัน โดยช่วงที่ทำแรกๆ มันไม่สนุกหรอก มันทรมาน หรือยังไม่เห็นผลว่าเราจะได้ซิกแพ็คอะไร ผมก็คงไม่มีวินัยที่จะทำเรื่องนั้นอย่างต่อเนื่อง แต่ถ้าเป็นผมไปวาดรูป ผมบ้าแบดมินตัน ก็โอเคไม่มีปัญหากับการทำต่อเนื่องทุกวัน ก็จะเป็นเรื่องที่ทำต่อเนื่องมีความสนุก มีความที่จะอยากทำมันอยู่เรื่อย ๆ เพราะถ้าไม่ชอบแบบนั้นมันจะทรมาน

จะยังทำงานศิลปะต่อไปจนถึงเมื่อไหร่

เต้ย : ผมเคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อว่า “ชีวิตผมเปลี่ยนไป เมื่อได้เทพช้างมาเป็นกุนซือ” ซึ่งเกี่ยวกับชีวิตคนสำคัญ เช่น โทมัส อัลวา เอดิสัน แต่ที่รู้สึกว่าเหมือนตัวเองก็คือ เท็ตสึกะ โอซามุ รู้สึกว่าเหมือนเขาคือ ทำงานหนัก โดยเท็ตสึกะรับวาดการ์ตูนเป็น 10 เรื่องเขาทำเพราะสนุกที่ได้ทำ จนถึงช่วงที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งในช่วงสุดท้ายของชีวิตก็ยังเขียนการ์ตูนเพราะมันสนุก ซึ่งมันค่อนข้างตรงกับผมเพราะมันสนุก แต่ถ้าจะทำได้ก็ต้องมีข้าวกินเหมือนกัน แต่ถ้ามีเรื่องที่ต้องรับผิดชอบก็ต้องทำเหมือนกัน

ปัจจัยพื้นฐานต้องไม่ติดอะไร พอมีแรงเหลือก็มาทำอะไรที่อยากทำ อย่างผมที่มาทำได้กลางวันทำแอนิเมชัน ที่เหลือก็มาวาดรูปทำเพจ พอเริ่มมาได้เรื่อย ๆ ก็ค่อย ๆ ผันตัวมาวาดรูป


แนะนำน้อง ๆ ที่ชอบศิลปะ ที่ชอบวาดรูปเพื่อที่จะขายงานได้ และแตกไลน์ไปสู่ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ

เต้ย : ต้องใช้ระยะเวลาประมาณหนึ่งในการสร้างฐาน ลองคาแรคเตอร์ที่คนชอบ ซึ่งพอมีโซเชียลก็พอเป็นตัวทดสอบได้ ว่าโพสต์ไหนมันเวิร์กโพสต์ไหนไม่เวิร์ก ตรงไหนคนชอบ ก็จะเริ่มจับทางขึ้นมาได้ ซึ่งส่วนตัวใช้เวลาสะสมประมาณหนึ่ง อาจพูดไม่ได้ว่าทำต่อเนื่อง เพราะผมก็ทำงานอื่นเหมือนกัน แต่เห็นโมเดลของนักเขียนที่ประสบความสำเร็จ เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน ถ้าทำสายคาแรคเตอร์ ถ้าทำแล้วจับได้ ก็ต่อยอดไปทำสินค้ามากมายก็จะเป็นโมเดลหนึ่ง

 

แต่ถ้าสายผมงานวาดหรือสไตล์ ของผลงาน ต้องมีช่วงที่ต้องใช้เวลาค้นหางานที่เป็นสไตล์ของตัวเราเองหรือคาแรคเตอร์ที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเราเองที่คนอื่นจะมาลอกเลียนลำบาก และใครจะมาซื้องานแบบต้องคนนี้แหละ ซึ่งหากคนอื่นทำแบบ A B C ทำเหมือนกันหมด คล้ายกันหมด ก็จะไม่โดดเด่น 

 

ขณะที่การแตกไลน์ของผลงาน ในฐานะคนทำงานศิปะมันมีความยากเหมือนกัน เพราะหากไม่รู้เรื่องการตลาด ก็ไม่รู้ไปต่ออย่างไร มองว่า คนทำงานศิลปะจะค่อนข้างอ่อนไหว (Sensitive) มีอารมณ์ (Emotion) เวลาผิดพลาด (Fail) ก็จะดิ่ง จะจ๋อยง่าย ช่วงหลังได้แฟนช่วยในเรื่องการตลาด เรียนรู้มากขึ้น ถ้าจะให้เวิร์ก ต้องมีทีม คอนซัพพอร์ตในเรื่องที่เราไม่ถนัด เช่นรู้เรื่องการขายดีกว่าเรา คนที่ผลิตในทีมที่ชำนาญกว่าเรา เช่น บัญชี เราก็จะเน้นมุ่งการไปทำผลงานเพียงอย่างเดียว 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

นักวาดภาพสีน้ำชาวไทย ฝากผลงานบนรถบัสเมืองโบราณญี่ปุ่น

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง