ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ถอดบทเรียน "งบประมาณ" อบจ. เสี่ยงรัดคอ "ผู้บริหาร"

การเมือง
16 ธ.ค. 63
10:13
596
Logo Thai PBS
ถอดบทเรียน "งบประมาณ" อบจ. เสี่ยงรัดคอ "ผู้บริหาร"
การบริหารงาน อบจ. ยังเป็นอุปสรรค! โดยเฉพาะระเบียบเกี่ยวกับการใช้งบฯ ที่อาจจะทำให้ "ผู้บริหาร" เสี่ยงถูกดำเนินคดี

เมื่อพูดถึงกรณีที่ “นายก อบจ.” ต้องเสี่ยงคุกเสี่ยงตาราง มี 2 คดีที่ (ไม่) คลาสสิก แต่เป็นเรื่องร้อนที่เพิ่งผ่านมือ ป.ป.ช. ได้ไม่นาน โดยเฉพาะการวินิจฉัยเรื่อง “อำนาจ” และการใช้ “งบฯ” ของ อบจ.

คดีแรก  คือกรณี นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ที่เพิ่งถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด กรณีสมัยเป็น นายก อบจ.สงขลา ไม่เซ็นรับรถเอนกประสงค์ มูลค่า 50 ล้านบาท

ที่มาที่ไปของเรื่องนี้ เริ่มจาก ปี 2556 อบจ.สงขลา เปิดประมูลซื้อรถเอนกประสงค์ และพลันที่ นายนิพนธ์ เข้ามาก็ต้องเซ็นจ่ายเงิน –เซ็นรับรถ

ทั้งนี้การประมูลดังกล่าวเป็นไปตามขั้นตอน แต่ นายนิพนธ์ ได้รับเรื่องร้องเรียนว่ามีการ “ฮั้วประมูล” นำมาสู่การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ 2 ชุด และสุดท้าย นายนิพนธ์ ไม่ยอมเซ็น! เพราะเชื่อว่ามีการทุจริตของผู้ยื่นประมูล

ขณะที่ เอกชน ยืนยันดำเนินการถูกต้อง ยื่นเรื่องต่อศาลปกครอง ซึ่งศาลวินิจฉัยว่า อบจ.สงขลา ต้องเซ็นรับ เพราะการประมูลถูกต้อง

คดีนี้ถึงมือ ป.ป.ช. และมีมติชี้มูลว่า นายนิพนธ์ ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ “ไม่เซ็น” รับรถ

เรื่องนี้มีข้อสังเกต 2 กรณี ที่จะเป็น “บทเรียน” ให้กับ อบจ. ได้เป็นอย่างนี้ และควรอย่างยิ่งที่ต้องแก้ไขในอนาคต

1. กรณีที่ นายนิพนธ์ ไม่ยอมเซ็นรับรถ เพราะมีข้อมูลชุดใหญ่ ตามที่ นายนิพนธ์ แถลงข่าวไปแล้ว ว่ามีกลิ่นการทุจริต และเรื่องนี้ก็อยู่ระหว่างร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ

ซึ่งหาก นายนิพนธ์ เซ็นรับรถ และตรวจสอบภายหลัง แล้วพบว่ามีการฮั้วจริง นายนิพนธ์ ก็ไม่ได้รอดพ้นจากการดำเนินคดี และอ้างว่าไม่ยอมเซ็นแต่แรก ก็เพราะผลประโยชน์ชาติ ไม่อยากให้ อบจ.เสียหาย

และ 2. ก็ตามที่ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด คือ กรณีที่ “ไม่ยอมเซ็น” ถูกชี้มูลเซ่นฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ กรณี “จงใจ” ไม่ยอมเซ็นอยู่ดี

กรณีแบบนี้พอจะมี “ช่อง” ให้ อบจ. ได้หาทางออกหรือไม่ เพราะ เซ็นก็โดน-ไม่เซ็นก็โดน

คดีของ นายนิพนธ์ ยังไม่จบ จึงยังไม่ครบ “องค์ประกอบ” และจะได้เห็นเป็นบรรทัดฐานต่อไป

คดีที่ 2  แม้คดีจะจบแล้ว แต่ก็ยังมีอีกหลาย อบจ. ที่ต่อคิวลุ้นผล

คดีนี้เป็นคดีของ “ซ้อต่าย” หรือ นางกรุณา ชิดชอบ ภรรยาของ นายเนวิน ชิดชอบ สมัยเป็น นายก อบจ.บุรีรัมย์ กรณีถูกกล่าวหาจ่ายงบฯ อุดหนุนสมาคมกีฬา จ.บุรีรัมย์ ขนคนไปเชียร์ทีมบุรีรัมย์ยูไนเต็ด

เรื่องนี้เริ่มจาก อบจ.บุรีรัมย์ อุดหนุนงบฯ ให้สมาคมกีฬา จ.บุรีรัมย์ ตั้งแต่ ปี 2554 –ปี 2556 ปีละ 20 ล้านบาท คิดเป็นเงิน 60 ล้านบาท จ่ายตรงไปที่สมาคมกีฬาฯ

“วัตถุประสงค์” คือ นำไปใช้ในการศึกษาแก่เด็ก เยาวชน ประชาชน บุคลากรกีฬาไปศึกษาดูงาน เพื่อพัฒนาเป็นนักกีฬาอาชีพในอนาคต

ต่อมา สตง. กลับตรวจพบ สมาคมกีฬา จ.บุรีรัมย์ นำเงินขนคนไปเชียร์ทีมฟุตบอลบุรีรัมย์ยูไนเต็ด

นำเงินไป จ่ายค่าอาหาร ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าป้ายประชาสัมพันธ์ และค่าพาหนะ เป็นเงิน กว่า 59 ล้านบาท จึงเป็นการใช้เงิน “ผิดวัตถุประสงค์”

ข้อสรุปคดีนี้
1.คดีนี้ นางกรุณา รอด-ไม่ถูกดำเนินคดี
2.ให้ อบจ.สั่งลงโทษเจ้าหน้าที่ผิดวินัยไม่ร้ายแรงที่ กรณีไม่ได้ติดตามผลการใช้เงิน
2.ให้ อบจ.เรียกค่าเสียหายทางแพ่ง สมาคมกีฬา จ.บุรีรัมย์

ข้อสังเกตเรื่องนี้ ในทางการเมืองอาจจะพุ่งเป้าไปที่ตัว “ซ้อต่าย” แต่ในเชิงการบริหารมีบทเรียนเช่นกัน

1.การให้สมาคมกีฬาฯ ซึ่งเป็นองค์กรของจังหวัด นำ “งบฯ” ซึ่งมาจากภาษีของคนในจังหวัด ไปใช้ตาม “ความต้องการ” จะถือเป็นเรื่องผิดหรือไม่ เมื่อถอยออกมาพิจารณาในมุมสามัญทั่วไป ไม่ใช่มุมกฎหมายหรือ “ระเบียบ” หรือแท้จริงระเบียบเหล่านี้มีปัญหาหรือไม่

เน้นย้ำว่า ประเด็นแบบนี้ ต้องแยกพิจารณาจากกรณี “ซ้อต่าย” ซึ่งในชั้น ป.ป.ช. ก็มีการตรวจสอบว่า “ซ้อต่าย” ตั้งใจอุดหนุนฯ งบฯไปให้สมาคมกีฬาฯ เพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือไม่ หากมีเจตนาแบบนั้นจริงก็ย่อมเป็นการขัดกันแห่งประโยชน์... ย้ำอีกรอบว่าเป็นคนละเรื่อง

2.กรณีใช้เงิน “ผิดวัตถุประสงค์” การใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ เป็นคนละเรื่องกับการทุจริต (เช่น การทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง ฮั้วประมูล ล็อกสเปก ฯลฯ) แต่จะเห็นว่าคดีลักษณะนี้เกิดขึ้นกับ อบจ. ทั่งประเทศ และมากสุดในกลุ่ม อบต.-เทศบาล ด้วย

ดังนั้นต้องกลับไปพิจารณกรอบของ “วัตถุประสงค์” ที่ว่า ซึ่งท้องถิ่นไทยใช้ ระเบียบ –หลักเกณฑ์ ในลักษณะ “เสื้อตัวเดียว” ที่คิดจากส่วนกลาง ขณะที่ความต้องการ ความหล่องตัว จุดแข็งในการบริหารแต่ละพื้นที่ “แตกต่างกัน”

“เสื้อตัวเดียว” ที่ตัดเป็นโหลๆ เหล่านี้จึงไม่ได้เอื้อสำหรับทุกคน แต่ทุนคน (อบจ.) มักจะถูก สตง. สอบในประเด็นนี้

2 คดีนี้เป็นส่วนใหญ่ ที่สะท้อนภาพการบริหารงานของ อบจ. ที่ตกอยู่บนความเสี่ยงและ “เงื่อนไข” โดยเฉพาะ ระเบียบ-เกณฑ์ ที่เสี่ยงถูกตีความว่าเป็น “ความผิด” ของท้องถิ่น ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ต้องให้ความสำคัญกับ “เสื้อโหล่” ที่ใส่ไม่เข้ารูปเหล่านี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง