ทีมข่าว THE EXIT ลงพื้นที่ 63 ไร่ 2 งาน 65 ตารางวา ซึ่งปัจจุบันเป็นโรงจอดซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าบีทีเอส และลานจอดรถ กำลังจะกลายเป็นอาคารคอมเพล็กความสูง 36 ชั้น ภายใต้โครงการพัฒนาที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิต
จากการตรวจสอบข้อมูล พบมีความพยามเปลี่ยนพื้นที่บริเวณนี้ให้กลายเป็นคอมเพล็ก ตั้งแต่ปี 2537 แต่ต้องหยุดชะงัก หลังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้วินิจฉัย เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.2554 ว่า โครงการฯ มีมูลค่าเกินกว่า 1,000 ล้านบาท แต่ไม่ได้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมงานฯ ปี 2535 สัญญาที่เกิดขึ้นระหว่างเอกชนกับภาครัฐ ในเวลานั้ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
นอกจากนี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ป.ป.ป.) ตรวจสอบพบหลักฐานว่า มีการสั่งจ่ายเช็คเงินสดจากพนักงานการเงินบริษัท ทานตะวันธุรกิจ จำกัด บริษัทแม่ของบริษัท ซันเอสเตท จำกัด ให้แก่อธิบดีกรมธนารักษ์ ในขณะนั้น จำนวน 6 ฉบับ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 30 ล้านบาท และพบบางส่วนถูกนำเข้าบัญชีธนาคารของอธิบดีกรมธนารักษ์เมื่อวันที่ 28 พ.ย.2538 วันเดียวกันกับที่คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประมูล
ปลายเดือน ก.พ.2542 ป.ป.ป.มีมติชี้มูลความผิดว่า อธิบดีกรมธนารักษ์รับผลประโยชน์ จากบริษัท ซันเอสเตท จำกัด และส่งเรื่องให้กระทรวงการคลังดำเนินการทางวินัยและอาญา อนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) กระทรวงการคลัง มี มติให้ลงโทษด้วยการไล่อธิบดีกรมธนารักษ์ออกจากราชการ ฐานทุจริตต่อหน้าที่และรับสินบน
บ้านนับร้อยหลังถูกเวนคืนเพื่อทางเข้าคอมเพล็ก?
THE EXIT ตรวจสอบข้อมูลพื้นที่โครงการตามที่ระบุเบื้องต้นในการเว็บไซต์ พื้นที่ใช้สอย มีอาคารสำนักงาน อาคารที่พักอาศัย โรงแรม ศูนย์การค้า อาคารจอดรถ ศูนย์ประชุมสถานีรับส่งผู้โดยสาร โดยบริษัท ขนส่ง จำกัด
ขณะที่แผนก่อนหน้านี้จะมีการทำทางเชื่อมจากถนนวิภาวดีรังสิตซอย 5 มาถึงจุดโรงจอดรถไฟฟ้าบีทีเอส และเชื่อมเข้ากับตัวคอมเพล็ก ซึ่งทางยกระดับที่จะทำเพื่อเชื่อมต่อตัวโครงการ มีความกว้างแคบสุด 100 เมตร และกว้างสุด 300 เมตร ต้องเวนคืนที่ดินของชาวบ้าน
ชาวบ้านในพื้นที่ติดป้ายประกาศต่อต้านการก่อสร้างทางยกระดับเชื่อมต่อเข้าพื้นที่โครงการก่อสร้างคอมเพล็ก เนื่องจากเห็นว่าการก่อสร้างทางยกระดับที่ต้องที่ดินเวนคืน กระทบต่อผู้อยู่อาศัย ซึ่งที่ดินบริเวณนั้นเป็นที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์
วินินท์อร ปรีชาพินิจกุล ผู้คัดค้านโครงการฯ ระบุว่า ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนน่าจะประมาณ 100 หลังคาเรือน ที่ชาวบ้านร่วมคัดค้านเพราะอยู่กันมา 40-50 ปี จึงอยากอยู่ในชุมชนเหมือนเดิม อยู่กันมาตั้งแต่ยังไม่พัฒนา และคิดว่าไม่จำเป็น เพราะเป็การทำทางเพื่อเอกชนไม่ใช่ประชาชน
นอกจากนี้คนในชุมชนที่ออกมาคัดค้านทางยกระดับยังตั้งคำถามว่าการก่อสร้างทางยกระดับเพื่อเชื่อมต่อเข้ากับพื้นที่โครงการ ซึ่งรัฐเป็นผู้รับผิดชอบนั้นเป็นการเอื้อประโยชน์สำหรับใครหรือไม่
โครงการนี้มีมาตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว ถ้าโครงการจำเป็นจริงๆ หรือทำเพื่อประชาชนจริงๆ น่าจะได้สร้างแล้วสร้างสำเร็จไปแล้ว พอมีโครงการจะสร้างคอมเพล็กการเวนคืนเพื่อสร้างทางยกระดับด้วย ทำให้คิดว่าทำเพื่อเอกชน
บขส.ปัดหนุนย้ายหมอชิต 2 หวังเช่าพื้นที่น้อยลงแทน
หนึ่งในส่วนสำคัญที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่หมอชิตคอมเพล็ค ชั้นของสถานีขนส่งผู้โดยสารหมอชิตตามแผนพัฒนาระบบการขนส่ง รักษาการผู้จัดการ บริษัท ขนส่ง จำกัด มองว่าไม่เห็นด้วยกับการย้ายสถานีขนส่งหมอชิต 2 กำแพงเพชร กลับไปยังพื้นที่หมอชิตเก่าที่จตุจักร เนื่องจากที่ตั้งปัจจุบันเหมาะแก่การเป็นสถานีขนส่งผู้โดยสารอยู่แล้ว เนื่องจากอยู่ใกล้กับระบบขนส่งอื่นๆ
นายมาโนช สายชูโต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายธุรกิจเดินรถ บริษัทขนส่งจำกัด จะย้ายไม่ย้ายก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของกระทรวงคมนาคม บขส.เอง ในระดับผู้บริหาร ก็มีความเห็นว่าอยากอยู่ที่เดิมอยู่ โดยอาจขอเช่าน้อยลงแทนการย้าย น่าจะได้ผลดีกว่า หากย้ายไปอาคารที่สร้างเป็นอาคารถาวร หากย้ายไปก็จะต้องทุบทิ้งเปลืองงบประมาณชาติอีก
THE EXIT พยามติดต่อกับผู้ประสานงานโครงการ หมอชิตคอมเพล็ค เพื่อขอพูดคุยถึงกระทบและผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น หลายครั้งแต่ยังไม่ได้รับการติดต่อกลับ คงต้องติดตามต่อว่าโครงการพัฒนาที่ดินราชพัสดุหมอชิต หรือ หมอชิตคอมเพล็คที่จะเกิดขึ้น ใครคือผู้ได้ประโยชน์ที่แท้จริง รวมการศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการสร้างทางเชื่อมเข้าพื้นที่โครงการที่ถูกชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบมองว่าอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อานยทุนหรือไม่ จะออกมาในรูปแบบใด