ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดปม : จับชีพจรตะรุเตา

สังคม
18 พ.ย. 63
15:52
367
Logo Thai PBS
เปิดปม : จับชีพจรตะรุเตา
7 เดือนหลังปิดฤดูการท่องเที่ยวและปิดต่อเนื่องจากผลกระทบโควิด-19 ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล อช.ตะรุเตา จ.สตูล ฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด แต่สภาพเศรษฐกิจที่ยึดโยงกับการท่องเที่ยวกลับยังไม่สามารถฟื้นคืนมาได้

ปะการังเจ็ดสี จุดขายของแหล่งดำน้ำ บริเวณร่องน้ำจาบัง ฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด พบเห็นปลาและสัตว์น้ำชนิดต่างๆ มากขึ้น หลังจาก ที่นี่ ไม่ถูกรบกวนด้วยกิจกรรมการท่องเที่ยวมานาน 7 เดือน

บริเวณนี้ ยังพบปะการังอ่อนหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น ปะการังเขากวาง ปะการังสมอง ปะการังดาวใหญ่ รวมถึงดอกไม้ทะเล ซึ่งเป็นที่อาศัยของปลาการ์ตูน

 

นายอัสลัม สะกะแย นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล อุทยานแห่งชาติตะรุเตา จ.สตูล ดำน้ำสำรวจการฟื้นตัวของทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลตั้งแต่ช่วงปิดฤดูกาลท่องเที่ยวและปิดต่อเนื่องจากสถานการณ์โควิด – 19 ระบาด บอกว่า ก่อนหน้านี้ ร่องน้ำจาบัง เป็นจุดดำน้ำตื้นที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว ทำให้ทรัพยากรที่นี่ถูกใช้เต็มศักยภาพ แม้จะมีการกำหนดขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยว หรือ CC ไว้ที่ 50 คน ต่อ หนึ่งช่วงเวลา และ เรือทุกลำต้องผูกทุ่นห้ามทิ้งสมอเรือก็ตาม

เกาะยาง เป็นจุดดำน้ำอีกแห่งในอุทยานแห่งชาติตะรุเตาที่ทีมสำรวจพบปะการังฟื้นตัว โดยเฉพาะปะการังจาน หรือ ปะการังผักกาด ที่พบทั่วไปในเขตน้ำขึ้นน้ำลงระดับ 2-3 เมตร และ มักได้รับความเสียหายเสื่อมโทรมจากกิจกรรมการท่องเที่ยว

 

นายอัสลัม บอกว่า ด้านทิศตะวันตกของเกาะยาง ซึ่งปิดไม่ให้ท่องเที่ยวมานานกว่า 4 ปี เขาพบปะการังอ่อนฟื้นตัวบนหาดทรายเยอะมาก หลังจาก ได้รับความเสียหายจากการกิจกรรมการท่องเที่ยวเนื่องจากเป็นปะการังน้ำตื้น

เวลามาดำน้ำ บางคนไม่สวมชูชีพ ตรงนี้เป็นปะการังอ่อนน้ำตื้นมาก 2 เมตร เวลาเหยียดตัวตรง ฟิน หรือ ขาไปโดนทำให้ปะการังอ่อนหลุดออกได้ เราเลยปิดเกาะยางฝั่งตะวันตก ไปเปิดให้ท่องเที่ยวฝั่งตะวันออก เพื่อให้ธรรมชาติฟื้นตัว

นายกาญจนพันธ์ คำแหง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติตะรุเตา บอกว่า การมีระยะเวลาให้ทรัพยากรธรรมชาติได้ฟื้นตัวเป็นเรื่องที่ดี อีกทั้ง การระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ผู้ประกอบการรวมถึงนักท่องเที่ยวให้ตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากความแออัดของแหล่งท่องเที่ยวแต่ละจุดมากขึ้น จึงเป็นโอกาสดีต่อการจัดการท่องเที่ยวในอนาคต

6 เดือนเพียงพออยู่แล้ว เปิดฤดูกาลมาทุกปีจะมีสีสันสวยงามของปะการัง ซึ่งเป็นการฟื้นของธรรมชาติ ช่วงมีโควิดหลายอย่างที่เราใช้ เช่น จัดระเบียบสังคม กำหนดจำนวนนักท่องเที่ยว ตรวจวัดอุณหภูมิ ซึ่งทางอุทยานฯ ควบคุมจำนวนนักท่องเที่ยวได้ดีกว่าเมื่อก่อน คิดว่าคงใช้ระบบนี้ยาวไป

ขณะที่ ธรรมชาติใต้ทะเลฟื้นตัว แต่บรรยากาศการท่องเที่ยวหลังจากมาตรการควบคุมการระบาดโควิด-19 เริ่มผ่อนคลายกลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม

 

อ่าวพัทยา หรือ หาดบันดาหยา บนเกาะหลีเป๊ะ ในอุทยานแห่งชาติตะรุเตา เคยเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ
ปี 2562 อุทยานแห่งชาติตะรุเตามีรายได้จากการจัดเก็บค่าเข้าอุทยานกว่า 30 ล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยวกว่า 260,000 คน โดยร้อยละ 60 เป็นนักท่องเที่ยวโซนยุโรป แต่ปีนี้มีเพียงนักท่องเที่ยวชาวไทย และ มีการคาดการณ์ว่า จะได้ส่วนแบ่งนักท่องเที่ยวจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพียงร้อยละ 10

 

โรงแรม ที่พักริมหาด ที่เคยถูกนักท่องเที่ยวต่างชาติจองเต็มข้ามปี ขณะนี้ ต้องปรับลดราคามากกว่าร้อยละ 50 เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวไทย

นายเทวากร อาภาภิรมย์ ผู้จัดการเครือโรงแรมบนเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล บอกว่า แม้มีภาพธรรมชาติฟื้นตัวดึงดูดให้ผู้คนเดินทางมาท่องเที่ยว แต่เดือนแรกของฤดูการท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติตะรุเตาปีนี้ยังคงซบเซา

แต่ก่อนมีทั้งนักท่องเที่ยวที่มาจากปากบารา เกาะลังกาวี ลันตา ภูเก็ต ตอนนี้เหลือเส้นทางเดียวคือ จากปากบารา และในนักท่องเที่ยวจากปากบารา ปกติหลีเป๊ะ 80% เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตอนนี้เหลือเฉพาะคนไทยและชาวต่างชาติที่อยู่เมืองไทย ปกติ 80-90% เต็มจนถึงปีหน้า แต่ปัจจุบันเหลือไม่ถึง 1 ใน 3 ของที่กล่าวมา

วันนี้ ถนนคนเดินบนเกาะหลีเป๊ะที่เคยคึกคักยามค่ำคืน มีนักท่องเที่ยวบางตา

กลุ่มผู้ประกอบการ ประเมินว่า ผลกระทบจากโควิด-19 จะส่งผลต่อเศรษฐกิจที่นี่ต่อไป และอาจต้องใช้เวลาฟื้นตัวไม่น้อยกว่า 2-3 ปี

 

จ.สตูลมีด่านชายแดนติดกับประเทศมาเลเซีย 3 แห่ง 1 ในนั้นคือ ด่านตรวจคนเข้าเมืองเกาะหลีเป๊ะ

ปี 2561 มีนักท่องเที่ยวเข้า-ออก ทางด่านตรวจคนเข้าเมืองบนเกาะหลีเป๊ะ ประมาณ 50,000 คน จากจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดกว่า 200,000 คน มีข้อมูลว่า สัดส่วนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นในเวลานั้น มาจากการเปิดเส้นทางเดินเรือตรงจากเกาะลังกาวีมาที่เกาะหลีเป๊ะโดยมีเรือเฟอรี่ให้บริการมากกว่าวันละ 3 เที่ยว

ข้อมูลจากสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬา จ.สตูล ระบุว่า ปี 2557 ซึ่งเป็นปีแรกของการเปิดด่านตรวจคนเข้าเมืองเกาะหลีเป๊ะ มีรายได้จากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 6,200 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 9,100 ล้านบาทในปี 2561

 

นายพิทักษ์สิทธิ์ ชีวรัฐพัฒน์ ประธานหอการค้า จ.สตูล บอกว่า ควรพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสโดยใช้ด่านตรวจคนเข้าเมืองหลีเป๊ะ ซึ่งถือเป็นจุดแข็งในเรื่องการ Quarantine เข้ามาฟื้นเศรษฐกิจ โดยอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐ สาธารณสุขและเอกชน วางแผนเพื่อกระจายนักท่องเที่ยวไปยังพื้นที่อื่นๆของจังหวัดสตูล ให้เม็ดเงินหมุนเวียน และสร้างโมเดลการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ

ถ้าประเทศไทยยังไม่ใช้จุดแข็งเรื่องการ Quarantine การดูแลสาธารณสุข แล้วเปิดรับนักท่องเที่ยวอย่างมีเงื่อนไขเข้ามา ประเทศไทยคงต้องลำบากกัน จากนี้ไปเราควรมุ่งเน้นนักท่องเที่ยวที่มีรายได้ และ การปรับราคาขึ้นมา 

แม้ข้อเสนอนี้ ดูจะเป็นทางรอดสำหรับภาคธุรกิจแต่ประธานหอการค้าจังหวัดสตูล ยอมรับว่า รูปแบบการท่องเที่ยวหลังโควิด-19 จะต้องเปลี่ยนโฉมไปจากเดิม โดยลดการเน้นจำนวนนักท่องเที่ยว โดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสมกับทรัพยากรที่มี

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง