ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

THE EXIT : ฟื้นชีพ "ตะรุเตา" ตอน 2

ภูมิภาค
10 พ.ย. 63
18:56
542
Logo Thai PBS
THE EXIT : ฟื้นชีพ "ตะรุเตา" ตอน 2
แม้ทรัพยากรตามจุดท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตาหลายแห่งจะฟื้นตัวกลับมาสวยงาม แต่แหล่งเศรษฐกิจที่เคยมีเม็ดเงินหมุนเวียน จากการท่องเที่ยวอย่าง "เกาะหลีเป๊ะ" กลับยังซบเซา

 

"ร่องน้ำจาบัง" หนึ่งในจุดดำน้ำตื้น ปกติถูกกำหนดขีดความสามารถรองรับนักท่องเที่ยว (CC) ไว้ที่ 50 คน ต่อหนึ่งช่วงเวลา ก่อนสถานการณ์ COVID - 19 ทรัพยากรที่นี่ ถูกใช้เต็มศักยภาพ จากการดำสำรวจของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติตะรุเตา ตั้งแต่ช่วงปิดฤดูกาล และปิดต่อเนื่องจากสถานการณ์ COVID - 19 รวมกันนานกว่า 7 เดือน พบ ปะการังอ่อน จุดขายของแหล่งดำน้ำบริเวณนี้ ฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด ปลา และสัตว์น้ำ มีมากขึ้น เพราะไม่ถูกรบกวน ที่นี่ยังพบปะการังหลากหลายชนิด ทั้งปะการังเขากวาง ปะการังสมอง ปะการังดาวใหญ่ รวมถึงดอกไม้ทะเล ซึ่งเป็นที่อาศัยของปลาการ์ตูน

ยิ่งน้ำเชี่ยว ปะการังยิ่งพองตัว ยิ่งสวย ปะการัง 7 สี ที่ร้องน้ำจาบังสวยมาก แล้วก็มีปลาหลากหลายชนิดมาก

นายอัสลัม สะกะแย นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล อุทยานแห่งชาติตะรุเตา กล่าวว่า แม้ทรัพยากรตามจุดท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตาหลายแห่งจะฟื้นตัวกลับมาสวยงาม แต่แหล่งเศรษฐกิจที่เคยมีเม็ดเงินหมุนเวียนจากการท่องเที่ยวอย่าง "เกาะหลีเป๊ะ" กลับยังซบเซา โรงแรม ที่พักริมชายหาดจากที่เคยถูกจองเต็มข้ามปี จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ต้องปรับลดราคามากกว่าร้อยละ 50 เพื่อดึงนักท่องเที่ยวไทย

 

นายเทวากร อาภาภิรมย์ ผู้จัดการเครือโรงแรมบนเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล บนเกาะหลีเป๊ะ รายนี้ บอกว่า ด้วยข้อจำกัดหลายด้าน รวมถึงการปรับตัวไม่ทันของผู้ประกอบการหลายราย ก็ทำให้เดือนแรกของฤดูการท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติตะรุเตาปีนี้ ภาคธุรกิจยังไม่สามารถฟื้นตัวได้

 

ถนนคนเดินที่เคยคึกครื้นยามค่ำคืน มีนักท่องเที่ยวบางตา ร้านค้า ร้านอาหาร เปิดให้บริการเพียงร้อยละ 10 นายนันทพวงศ์ นาคถาวร ตัวแทนสมาคมผู้ประกอบการบนเกาะหลีเป๊ะ ระบุว่า ผู้ประกอบการที่ต้องจ่ายค่าเช่าที่ รายเดือนในอัตราสูง ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าจ้าง และค่าดูแลพนักงาน หลายร้านเลือกปิดต่อเนื่อง ด้วยเหตุผลไม่คุ้มทุน

 

ขณะที่ร้านอาหารที่ยังเปิดอยู่ สามารถทำได้เพียงแค่ประคองกิจการให้อยู่รอดไปแต่ละวันเท่านั้น อาจจะได้กำไรบ้างเล็กน้อย ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ กลุ่มผู้ประกอบการประเมินว่าผลกระทบจาก COVID - 19 เศรษฐกิจบนเกาะหลีเป๊ะอาจต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวไม่ต่ำกว่า 2-3 ปี

 

ด้วยศักยภาพของที่ตั้ง จ.สตูล ที่มีด่านชายแดนติดกับประเทศมาเลเซียถึง 3 แห่ง และ 1 ในนั้น คือ ด่านตรวจคนเข้าเมืองเกาะหลีเป๊ะเป็นจุดแข็งที่ประธานหอการค้าจังหวัดสตูลมองว่า สามารถใช้พลิกวิกฤติเป็นโอกาสดึงนักท่องเที่ยวมาเลเซียกลับเข้าจังหวัดสตูล ภายใต้เงื่อนไข Quarantine หรือมาตรการกักตัวควบคุมโรค

 

ย้อนกลับไปดูข้อมูลจำนวนนักท่องเที่ยว หลังมีจุดตรวจคนเข้าเมืองบนเกาะหลีเป๊ะ พบว่า ตัวเลขเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยปี 2561 เฉพาะนักท่องเที่ยวที่เข้าออกทางจุดตรวจคนเข้าเมืองบนเกาะ อยู่ที่ 50,000 คน จากจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดกว่า 200,000 คน

 

ตัวเลขจากสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสตูล พบว่า รายได้จากการท่องเที่ยว ปี 2557 ปีแรกของการเปิด ตม.หลีเป๊ะ อยู่ที่ 6,200 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 9,100 ล้านบาทในปี 2561 แต่การจะใช้จุดแข็งนี้ เข้ามาพลิกฟื้นเศรษฐกิจสตูลได้ นายพิทักษ์สิทธิ์ ชีวรัฐพัฒน์ ประธานหอการค้า ยอมรับว่า ต้องอาศัยความร่วมมือของหลายภาคส่วน ทั้งหน่วยงานรัฐ , สาธารณสุข และเอกชน รวมถึงการวางแผนเพื่อกระจายนักท่องเที่ยวไปยังพื้นที่อื่น ๆ ของ จ.สตูล ให้เม็ดเงินเกิดการหมุนเวียน เพราะการกระจุกตัวของรายได้ก่อนหน้านี้ ก็สร้างความขัดแย้งให้กับคนในจังหวัด

 

แม้ข้อเสนอนี้ ดูจะเป็นทางรอดสำหรับภาคธุรกิจ แต่ประธานหอการค้าจังหวัดสตูล ยอมรับว่า รูปแบบการท่องเที่ยวหลัง COVID - 19 จะต้องเปลี่ยนโฉมไปจากเดิม ลดการเน้นจำนวนนักท่องเที่ยวโดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสมกับทรัพยากรที่มีและสร้างโมเดลการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ

 

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

THE EXIT : ฟื้นชีพ "ตะรุเตา" ตอน 1

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง