ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดปม : ยุทธศาสตร์พลาสติก

สังคม
5 พ.ย. 63
14:05
1,474
Logo Thai PBS
เปิดปม : ยุทธศาสตร์พลาสติก
ยังไม่มีความชัดเจนว่าไทยยังต้องนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศหรือไม่ หลังโควตานำเข้าทั้งหมดสิ้นสุดลงตั้งแต่ ก.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่นโยบายให้ใช้วัตถุดิบในประเทศยังมีข้อโต้แย้งจากภาคอุตสาหกรรม ยุทธศาสตร์พลาสติกเพื่อให้ไทยไม่กลายเป็นถังขยะโลกจะเป็นจริงหรือไม่

เมื่อจีนล้อมรั้วเขียว ขยะพลาสติกไปไหน

ตั้งแต่ปี 2559 – 2560 ประเทศจีนที่เป็นผู้นำเข้าขยะรีไซเคิล เริ่มบอกให้โลกรู้ว่าจะยกเลิกการนำเข้าขยะรีไซเคิลทั้งหมดภายในปี 2563 เหตุผลส่วนหนึ่งเกิดจากแรงขับเคลื่อนของประชาชนที่เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาคุณภาพอากาศ โดยเฉพาะปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในเมืองใหญ่

 

รัฐบาลจีนพบว่า อุตสาหกรรมรีไซเคิลขยะ ไม่ได้ทำกำไรมากนัก ตรงกันข้ามกลับสร้างมลพิษทางน้ำและอากาศให้กับประเทศ ส่งผลให้รัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็นค่ารักษาพยาบาลและดูแลสุขภาพให้กับประชาชน

ปี 2561 จีนประกาศนโยบายต่อต้านมลพิษ กระทรวงคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของจีน ตรวจสอบพบว่า โรงงานรีไซเคิลขยะ 751 บริษัท จากทั้งหมด 1,162 บริษัท หรือคิดเป็นร้อยละ 65 กระทำความผิดและละเมิดกฎหมาย นอกจากนั้น ยังจีนสั่งห้ามนำเข้าขยะจากต่างประเทศรวม 32 รายการโดยเริ่มต้นจากห้ามนำเข้าพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์จากทั่วโลกเข้าไปรีไซเคิลในจีน ตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 เป็นต้นมา

 

น.ส.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ บอกว่า มาตรการนี้ ทำให้โรงงานรีไซเคิลขยะในจีนจำนวนมากปิดตัว และทยอยย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น เช่นเดียวกับ ขยะจากหลายประเทศทั่วโลกที่เคยถูกส่งมายังประเทศจีนก็เปลี่ยนจุดหมายปลายทางเช่นกัน 

ทั่วโลกเคยมีแหล่งรองรับขยะ เหมือนมีถังขยะใบใหญ่มาก วันหนึ่งถังขยะปิด แต่ขยะพลาสติกทั่วโลกมันต้องมีที่ไป ต้องหาที่ใหม่ที่จะเอาไปทิ้ง ก็คือ ต้องดูว่าประเทศไหนที่จะมีองค์ประกอบที่เหมาะสมในการับขยะ คือ การบังคับใช้กฎหมายสิ่งแวดล้อมไม่เข้มงวด มีแรงงาน ข้าราชทุจริตมีความไม่โปร่งใส

มีข้อมูลว่า จำนวนผู้ประกอบการรีไซเคิลในประเทศไทย หลังช่วงเวลานั้น เพิ่มขึ้นประมาณ 40% ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการสัญชาติจีน

จับตาไทยตั้งรับก่อนกลายเป็นถังขยะโลก

ไม่เพียงโรงงานรีไซเคิลจากจีนที่ย้านฐานการผลิตมาที่ประเทศไทย แต่ขยะพลาสติกจากประเทศต่างๆ ที่เคยส่งไปที่จีน ก็เบนเข็มมาที่ไทยทั้งแบบถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย

การตรวจค้นจับกุมโรงงานกำจัดขยะ ที่ อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อปี 2561 เป็นจุดเริ่มต้นให้เห็นปัญหาการไหลทะลักเข้ามาของขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะพลาสติกอย่างผิดกฎหมายโดยการสำแดงเท็จ และประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาต หลังจากจีนมีมาตรการห้ามนำเข้า

 

ช่วงเวลาระหว่างเดือน พ.ค. ถึง ก.ค. 2561 มีการขยายผลจับกุมอย่างต่อเนื่องไปยังพื้นที่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการคัดแยกและรีไซเคิลผิดกฎหมาย

 

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รับมือกับปัญหานี้ด้วยการตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อบูรณาการการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างเป็นระบบ 

ที่ประชุมมีมติเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2561 ให้ยกเลิกการนำเข้าเศษพลาสติกภายใน 2 ปีโดยมีช่วงผ่อนผันให้กระทรวงอุตสาหกรรมอนุญาตให้นำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศได้ไม่เกิน 2 ปี คือ ปี 2562 – 2563

ปีที่ 1 กำหนด โควตา นำเข้าไม่เกิน 70,000 ตัน แบ่งเป็น พลาสติก PET 50,000 ตัน  พลาสติกชนิดอื่นรวม 20,000 ตัน และ มีเงื่อนไขให้ใช้เศษพลาสติกภายในประเทศร่วมด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 30
ปีที่ 2 ให้นำเข้าได้ไม่เกิน 40,000 ตัน และให้นำเศษพลาสติกภายในประเทศมาใช้ร่วมด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 60
ปีที่ 3 ห้ามนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศโดยใบอนุญาตนำเข้าตามโควตา จะสิ้นสุดทั้งหมดในวันที่ 30 ก.ย. 2563 และห้ามนำเข้าอีก
โดยกำหนดเงื่อนไขการนำเข้าเศษพลาสติก พิกัดศุลกากร 3915 ต้องสะอาด ไม่ปนเปื้อน มีขนาดไม่เกิน 2 ซม. 

ข้อมูลปริมาณนำเข้าเศษพลาสติก พิกัดศุลกากร 3915 เศษ เศษตัด และของที่ใช้ไม่ได้ที่เป็นพลาสติก ระหว่างปี 2555 ถึง เดือน ก.ค. 2563 จากศูนย์เทคโนโลยีและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร พบว่า ปริมาณการนำเข้าเศษพลาสติกเพิ่มสูงตั้งแต่ปลายปี 2560 คือ 152,737 ตัน และ เพิ่มสูงสุดเป็น 552,912 ตันในปี 2561 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่จีนห้ามการนำเข้าขยะพลาสติก จากนั้น ปริมาณนำเข้าเศษพลาสติกค่อยๆ ลดลง หลังจาก รัฐบาลไทยมีนโยบายห้ามนำเข้า แต่ยังผ่อนผันให้นำเข้าได้โดยกำหนดโควตา

 

นายวีระ ขวัญเลิศจิตต์ ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก บอกว่า ไม่มีใครคาดคิดว่า จากตัวเลขนำเข้า 7 -8 หมื่นตันจะเพิ่มขึ้นเป็น 5 แสนตัน เนื่องจาก เมื่อจีนปิดประเทศก็น่าจะมีการกระจายไปยังหลายๆ ประเทศในอาเซียน แต่ไม่คิดว่าทุกอย่างจะมาที่ประเทศไทยค่อนข้างมาก ดังนั้น หลังจาก มีตัวเลขนำเข้าห้าแสนกว่าตัน รัฐจึงมีการประกาศควบคุมตัวเลขการนำเข้า

จริงๆ โควตาเริ่มเกิดหลังจาก มีตัวเลขพุ่งขึ้นสูงมากๆ เพราะฉะนั้น จะเห็นว่า หลังจากปีนั้นห้าแสนกว่าตัน ก็เริ่มลดลง เพราะทางรัฐเองเริ่มเห็นแล้วว่า มันมีการนำเข้าผิดสังเกต และมีความเป็นห่วงจากหลายภาคส่วนว่าอาจไม่ใช่การนำเข้าเศษพลาสติก แต่เป็นขยะพลาสติกจริงๆ ที่สกปรก และไม่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ด้วย 

ข้อมูลจากกรมศุลกากรระบุว่า ในช่วงปีงบประมาณ 2561 - 2562 สามารถจับกุมคดีลักลอบและหลีกเลี่ยงนำเข้าเศษพลาสติกได้ทั้งสิ้น 103 คดี คิดเป็นมูลค่า 17 ล้าน 5 แสนบาท น้ำหนักรวม 4,043 ตัน
เฉพาะปี 2561 เพียงปีเดียว จับได้ถึง 86 คดี รวมมูลค่า 14 ล้าน 5 แสนบาท น้ำหนักรวม 3,664 ตัน
ปี 2562 กรมศุลกากรขายตู้สินค้าชนิดขยะ 971 ตู้
ปี 2563 ขายตู้สินค้าชนิดขยะ 134 ตู้
ทั้งหมดเป็นการขายทอดตลาดเพื่อผลักดันออกนอกราชอาณาจักร
ปัจจุบันเหลืออยู่ในท่าเรือ 520 ตู้ และ ยังรอการสำรวจอีก 70 ตู้

ยุทธศาสตร์พลาสติก เป้าหมายที่ยังไปไม่ถึง

แต่ละปี ไทยมีขยะพลาสติกเกิดขึ้นประมาณ 2,000,000 ตัน หรือ คิดเป็นร้อยละ 12 ของขยะทั้งหมดที่เกิดขึ้นในประเทศ

ใน 2,000,000 ตัน สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์เฉลี่ยปีละประมาณ 500,000 ตัน ส่วนที่เหลือประมาณ 1,500,000 ตัน ไม่ได้นำกลับมาใช้ประโยชน์ เพราะส่วนใหญ่เป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว

นี่เป็นข้อมูลที่ปรากฏอยู่ใน โรดแมปการจัดการขยะพลาสติกของประเทศ พ.ศ.2561 - 2573

คณะรัฐมนตรีผ่านร่างโรดแมปนี้เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2562 ข้อมูลภายในโรดแมปกำหนดระยะเวลาดำเนินการ 13 ปี มีการตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติก  เป้าหมายแรกคือ ลดและเลิกการใช้พลาสติก 7 ชนิดด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เป้าหมายที่สอง คือ การนำขยะพลาสติกที่สามารถรีไซเคิลได้กลับมาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ให้ครบร้อยเปอร์เซนต์ภายในปี 2570

 

โรดแมปนี้ มีความเชื่อมโยงกับแผนแม่บทบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตั้งแต่ปี 2559 และ หนึ่งในมาตรการจัดการขยะพลาสติกหลังการบริโภคคือ การสนับสนุนการนำขยะพลาสติกเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล

น.ส.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ บอกว่า  แผนการบริหารจัดการขยะเป็นจริงได้ หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการอย่างจริงจัง จะทำให้วัตถุดิบในประเทศเพียงพอต่อความต้องการของอุตสาหกรรมรีไซเคิลในประเทศ

ถ้ารัฐบาลเอาสิ่งที่บรรจุอยู่ในแผนการจัดการขยะมาปฏิบัติใช้จริงเราเชื่อว่าพอ แล้วก็จัดการระบบให้ดี ในช่วงรอยต่ออาจมีปัญหาขลุกขลักบ้าง เป็นเรื่องปกติของการเปลี่ยนผ่าน แต่หลังปี 2564 เชื่อว่า ถ้าหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศจัดการให้มีการคัดแยกดีจริง เชื่อว่าสิ่งที่คัดแยกภายในประเทศจะมีปริมาณเพียงพอป้อนอุตสาหกรรมรีไซเคิล                             

30 ก.ย. 2563 เป็นวันสุดท้ายที่ประเทศไทยให้นำเข้าขยะหรือเศษพลาสติกจากต่างประเทศ แม้มีเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในประเทศขอนำเข้าเศษพลาสติกต่อไปโดยให้เหตุผลว่า วัตถุดิบภายในประเทศไม่เพียงพอ มีราคาสูง คุณภาพต่ำและ มีการปนเปื้อนสูง

ข้อมูลจากสถาบันพลาสติก ระบุว่า ประเทศไทยใช้เม็ดพลาสติกใหม่ประมาณปีละ 5 ล้านตัน ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ หลายชนิด ใช้ทำบรรจุภัณฑ์หรือประเภทใช้ครั้งเดียวประมาณปีละ 2 ล้านตัน ปัจจุบัน รีไซเคิลได้ประมาณปีละ 400,000 ตัน ที่เหลือประมาณ 1 ล้านหกแสน ตันอยู่ในบ่อขยะกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ

ขณะที่ โรงงานพลาสติกในประเทศไทย ต้องการเศษพลาสติก ประเภท PET , PE ซึ่งประกอบด้วยชนิดย่อยสามชนิด คือ HDPE (พลาสติกประเภทโพลิเอทิลีนความหนาแน่นสูง) , LDPE (พลาสติกประเภทโพลิเอทิลีนความหนาแน่นต่ำ) และ LLDPE (พลาสติกประเภทโพลิเอทิลีนความหนาแน่นต่ำเชิงเส้น)  PP และ PVC ส่วนพลาสติกชนิดอื่น ๆนั้นมีความต้องการน้อย

 

จำนวนที่ต้องการหากเป็นเศษพลาสติก การนำเข้ารวมกันไม่ควรเกิน 100,000 ตันต่อปี  สำหรับเศษพลาสติกในประเทศ หากสะอาดและมีคุณภาพ โรงงานรับได้ไม่จำกัดจำนวนเพราะสามารถผสมเม็ดพลาสติกใหม่ลดต้นทุนการผลิตได้

 

ข้อมูลจากนายชัยยุทธ์ พลเสน นายกสมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า ระบุว่า ปริมาณพลาสติกเพื่อรีไซเคิลที่เก็บรวมรวมได้ในประเทศ รวมทั้งสิ้นประมาณ 1 ล้าน 6 แสนตันต่อปี เพียงพอต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ส่วนกรณีปนเปื้อนนั้น ภาครัฐและเอกชนควรร่วมหาแนวทางแก้ปัญหา เพื่อไม่ให้สวนทางกับนโยบายแก้ปัญหาขยะล้นเมืองของรัฐบาล

บ้านเราคัดด้วยมือ ซาเล้งถ้าสกปรกเขาไม่เอาเขาคัดแต่ที่สะอาด ร้านของเก่าเขามาคัด สกปรกเขาก็ไม่เอาเหมือนกัน คัดจนสะอาดที่สุดแล้วจึงส่งเข้าโรงงาน โรงงานก็มีมาตรฐานตรวจรับ ก็เกินที่กำหนดก็ตีคืน ดังนั้น กระบวนการที่เข้าไป คือ สะอาด มีคุณภาพแน่นอน แต่ของต่างประเทศ มากี่ตู้ต้องรับทั้งหมด ที่เจอกันมาคือ เศษพลาสติก 100% ใช้ได้ 40% อีก 60% คือของเสียใช้งานไม่ได้

ขณะที่ นายวีระ ขวัญเลิศจิตต์ ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก บอกว่า อาจยังมีความจำเป็นต้องนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศ หากผู้ผลิตในประเทศไทยยังมีความต้องการผลิตเพื่อส่งออก แต่เศษพลาสติกในประเทศยังไม่ได้คุณภาพและไม่ได้จำนวนตามที่ต้องการ เพียงแต่ต้องกำหนดให้ชัดเจนว่า เป็นการนำเข้าเพื่อรีไซเคิลสำหรับการส่งออกเท่านั้น แต่ในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่สามารถใช้เศษพลาสติกในประเทศเพียงอย่างเดียวโดยไม่ต้องนำเข้า หากทุกฝ่ายร่วมมือกันพัฒนากระบวนการบริหารจัดการให้อยู่ในทิศทางที่เหมาะสม

 เราสนับสนุนให้ผู้ที่ทำรีไซเคิลหรือทำผลิตภัณฑ์ ใช้เศษพลาสติกในเมืองไทยมากขึ้น ผู้ทำรีไซเคิลเมืองไทย ต้องเริ่มซื้อมา เริ่มคัดแยก เริ่มทำความสะอาด มูลค่าที่ซื้อมาก็ต้องเหมาะสมกับผู้เก็บ จากนั้นกำหนดในขั้นตอนการผลิตให้ใช้เม็ดรีไซเคิลหรือเศษพลาสติกในเมืองไทยมากขึ้น มันก็จะเป็นตัวบังคับเองว่า ราคาทุกอย่างต้องเริ่มพัฒนาและอยู่ในทิศทางที่เหมาะสม ถึงจุดหนึ่ง เราอาจไม่ต้องนำเข้าเลย 


ที่ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ ครั้งที่ 3/2563 มีมติ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ตั้งคณะทำงานเร่งสำรวจปริมาณขยะพลาสติกภายในประเทศ เพื่อหาข้อสรุปว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องนำเข้าขยะพลาสติกหรือไม่ โดยจะใช้เวลาสำรวจไม่เกิน 60 วัน

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บอกว่า หากสำรวจแล้วยังมีความจำเป็นต้องนำเข้า ต้องอยู่ในปริมาณที่ควบคุมได้ และขยายผลไปสู่การห้ามนำเข้าขยะแบบ 100% เป้าหมายเพื่อให้การบริหารจัดการขยะพลาสติกของไทยมีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนั้น ยังให้กรมศุลกากร ศึกษากฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจยึดขยะที่มีผู้ลักลอบนำเข้า เพื่อเร่งแก้ไขกฎระเบียบ ให้สามารถผลักดันขยะคืนสู่ประเทศต้นทางได้โดยเร็ว และจากนี้ไป การพัฒนาเศรษฐกิจจะต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับหนึ่งทั้ง 2 ส่วนจะต้องพัฒนาควบคู่กัน โดยที่ประเทศไทยจะต้องไม่ใช่ถังขยะของโลก

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง