กว่า 10 ปี ที่คนไทยพลัดถิ่นจาก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง ชุมพรและพังงา ต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิในสัญชาติไทยกลับคืนให้กับตัวเองจนประสบความสำเร็จ เมื่อมีการแก้ไขพระราชบัญญัติสัญชาติ ฉบับที่ 5 พ.ศ.2555 คนไทยพลัดถิ่นทั่วประเทศจึงทยอยได้สัญชาติไทยคืนนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ถึงวันนี้เวลาผ่านไปกว่า 8 ปี แต่คนไทยพลัดถิ่นจำนวนไม่น้อยยังไม่มีความมั่นคงในชีวิต แม้ได้ชื่อว่าเป็นคนสัญชาติไทย แต่ปัญหาเรื่องสิทธิในที่ดิน ยังเป็นสิ่งที่พวกเขารอให้ภาครัฐแก้ไข
ประชากรกว่าร้อยละ 90 ที่ บ.ไร่เครา ต.คลองวาฬ อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นคนไทยพลัดถิ่นที่เรียกตัวเองว่าคนไทยสิงขร นางตุ้ม บันเทิง อายุ 41 ปี เป็นหนึ่งในอดีตคนไทยพลัดถิ่น ซึ่งผ่านการพิสูจน์ความเป็นคนไทยพลัดถิ่นและได้รับการลงรายการสัญชาติไทยเมื่อ พ.ศ.2560
ครอบครัวของนางตุ้มย้ายมาอยู่ที่ บ.ไร่เครา ตั้งแต่ พ.ศ. 2546 หลังจากนั้นประมาณ 1 ปีสำนักงานการปฏิรูปที่ดิน หรือ ส.ป.ก.ประจวบคีรีขันธ์ จึงเข้ามาสำรวจเพื่อออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน ประเภทที่อยู่อาศัย หรือ ส.ป.ก.4-01 ให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ที่ บ.ไร่เครา แต่ในขณะนั้น นางตุ้ม ยังเป็นคนไร้สัญชาติ จึงไม่มีสิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก เพราะกฎหมายกำหนดคุณสมบัติไว้ว่า ผู้ที่จะได้รับสิทธิต้องมีสัญชาติไทยเท่านั้น การออกหนังสืออนุญาตให้ทำประโยชน์ในที่ดินของนางตุ้ม จึงถูกระงับไว้ก่อนจนกว่านางตุ้มจะมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด
ใน พ.ศ.2560 เมื่อนางตุ้มได้รับสัญชาติไทยแล้ว เธอจึงเดินทางไปที่ ส.ป.ก.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อขอให้ออกเอกสาร ส.ป.ก.4-01 ให้ แต่ถึงวันนี้ผ่านไปนานกว่า 3 ปี นางตุ้มยังไม่ได้รับเอกสารดังกล่าว
ปัญหาที่ตามมาจากการไม่มีเอกสารหลักฐานในที่ดิน คือ นางตุ้มไม่สามารถขอทะเบียนบ้านเป็นของตัวเองได้ เพราะการออกทะเบียนบ้าน ต้องใช้เอกสารสิทธิที่ดินเป็นหลักฐาน เป็นเหตุให้เมื่อนางตุ้มและสมาชิกครอบครัวคนอื่น ๆ ได้สัญชาติไทยแล้ว ต้องนำชื่อตนเองไปอาศัยในทะเบียนบ้านของเพื่อนบ้าน ทำให้เกิดความไม่สะดวกเมื่อมีเหตุจำเป็นต้องใช้สำเนาทะเบียนบ้าน
การไม่มีเอกสารสิทธิที่ดินยังส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ตามมา เพราะเมื่อไม่มีทะเบียนบ้านนางตุ้มจะไม่สามารถใช้ชื่อตัวเองขอมิเตอร์ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และไม่สามารถใช้ชื่อตัวเองเป็นผู้ใช้น้ำประปาได้ เพราะการดำเนินการทั้งสองอย่างนี้ต้องใช้สำเนาทะเบียนบ้านเป็นหลักฐาน นางตุ้มจึงต้องใช้มิเตอร์ไฟฟ้าและประปาร่วมกับเพื่อนบ้านคนอื่นที่เป็นบุคคลสัญชาติไทยดั้งเดิม
อยากมีทะเบียนบ้าน อยากได้บ้านเลขที่ ตอนนี้ต้องอาศัยบ้านคนอื่นอยู่ ที่บ้านมี 3 คนต้องเอาชื่อไปไว้ 3 บ้าน เวลามีธุระต้องใช้ทะเบียนบ้านก็ต้องไปยืมเขามา ลำบากมาก อยากได้บ้านเลขที่ตัวเอง อยากมีไฟฟ้าใช้เป็นของตัวเอง เพราะเรามีบัตรประชาชนแล้ว
นายบุญเสริม ประกอบปราณ คณะกรรมการเครือข่ายแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทย 4 จังหวัด ซึ่งเป็นหนึ่งในคนไทยสิงขรกลุ่มแรก ๆ ที่เข้ามาตั้งรกรากอยู่ที่ บ.ไร่เครา เล่าถึงประวัติของคนไทยสิงขรว่า ในช่วงแรกที่เข้ามาอาศัยในประเทศไทย พวกเขายังมีสถานะเป็นบุคคลไร้สัญชาติ ไม่สามารถเดินทางออกนอกพื้นที่ที่รัฐไทยกำหนด จึงต้องอาศัยพื้นที่เกษตรของชาวบ้านซึ่งอยู่ใกล้กับแนวชายแดนเป็นที่พักอาศัย
กระทั่งมีคนไทยคนหนึ่งซึ่งบุกเบิกและจับจองพื้นที่บริเวณบ้านไร่เครามาตั้งแต่อดีต เกิดความเห็นใจและแบ่งพื้นที่ให้กับคนไทยพลัดถิ่นที่ไม่มีที่อยู่ คนไทยพลัดถิ่นจึงเริ่มเข้ามาจับจองพื้นที่และสร้างบ้านเรือนจนกลายเป็นหมู่บ้านไร่เคราในปัจจุบัน เป็นเหตุให้ประชากรที่นี่กว่าร้อยละ 90 เป็นคนไทยพลัดถิ่น
ใน พ.ศ.2548 ส.ป.ก. ประกาศเขตปฏิรูปที่ดินที่บริเวณ บ.ไร่เครา และส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาสำรวจสิทธิการเข้าทำประโยชน์เพื่อออกหนังสือ ส.ป.ก.4-01 ให้กับชาวบ้าน และ พบว่ามีผู้เข้าทำประโยชน์ทั้งหมด 74 ราย ในจำนวนนี้เป็นคนไทยพลัดถิ่นที่ยังไม่มีสัญชาติกว่า 50 ราย การออกหนังสือส.ป.ก.4-01 จึงทำได้เฉพาะส่วนที่ทำประโยชน์โดยบุคคลสัญชาติไทยเท่านั้น ส่วนที่เหลือต้องระงับไว้ก่อนจนกว่าจะได้สัญชาติไทยจึงดำเนินการต่อได้
นายบุญเสริม บอกว่า ปัจจุบัน คนไทยพลัดถิ่นในบ้านไร่เคราได้สัญชาติไทยกันเกือบทั้งหมดแล้ว แต่ส่วนใหญ่กลับยังไม่ได้รับ ส.ป.ก.4-01 ตามสิทธิที่พวกเขาควรได้
ความจริงควรจะแก้ได้แล้ว แต่มันติดที่พื้นที่นี่แหละ ที่มีปัญหา เขามีหลักฐานพร้อมแล้วก็ควรจะแก้ให้เขา มันก็ลำบากเรื่องทะเบียนบ้าน เรื่องไฟฟ้าก็ต้องไปพ่วงคนอื่น ทำอะไรมันก็ลำบาก
ตัวแทนคนไทยพลัดถิ่น บ้านไร่เครา มองว่าสำนักงานการปฏิรูปที่ดิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ควรเร่งแก้ไขปัญหาการออกหนังสือส.ป.ก.4-01 ให้กับชาวบ้าน เพราะการไม่มีหลักฐานการทำประโยชน์ในที่ดิน เป็นต้นเหตุที่นำไปสู่ปัญหาการเข้าไม่ถึงสิทธิอื่น ๆ ตามมา ทั้งการขอออกทะเบียนบ้านไม่ได้ และไม่สามารถขอใช้ไฟฟ้าและน้ำประปาโดยใช้ชื่อตัวเอง