วันนี้ (29 ก.ย.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ป้ายคัดค้าน "โรงงานรีไซเคิลทุกรูปแบบ" ถูกนำมาชูขึ้น บริเวณด้านหน้า สถานที่ก่อสร้างโรงงาน ต.ธาตุทอง อ.บ่อทอง จ.ชลบุรี หลังชาวบ้านกลุ่มนี้ ได้รับข้อมูลว่าผู้ประกอบการกำลังยื่นขออนุญาต ประกอบกิจการโรงงานประเภท "รีไซเคิล" และขณะนี้ ได้เดินหน้าปรับพื้นที่ ล้อมรั้ว ก่อสร้างอาคาร อย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางเสียงคัดค้าน
บ้านของนางเตือนใจ คำศรี ชาวบ้าน ต.ธาตุทอง อ.บ่อทอง จ.ชลบุรี อยู่ห่างจากโรงงานในรัศมี 1 กิโลเมตร ครอบครัว มีอาชีพปลูกผักขายมากว่า 20 ปี ด้วยสภาพพื้นที่ ที่เรียกได้ว่า ดินดี น้ำดี อากาศดี ทำให้ รายได้ดี ตามไปด้วย ทุกวันนี้ลูกทั้ง 3 คนของนางเตือนใจ ลาออกจากงานโรงงานกลับมาช่วยกันทำสวนผัก
นายกุญชร คำศรี ลูกชายคนโตของนางเตือนใจ บอกว่า เคยทำงานใน "โรงงานหลอมพลาสติก" ซึ่งแม้จะมีมาตรฐานควบคุม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าบางครั้งส่งกลิ่นเหม็นออกไปรบกวนชุมชนโดยรอบ
หวั่นน้ำคลองปนเปื้อนสารตกค้าง
ทั้งนี้ ชาวบ้านบอกว่าในช่วงฤดูฝน พื้นที่บริเวณนี้ จะรองรับน้ำที่หลากลงมาจากภูเขา ตามเส้นทางน้ำธรรมชาติ แต่หลังจากโรงงานเข้ามาถมดิน เพื่อปรับพื้นที่ ทำให้น้ำระบายลงสู่คลองได้ช้ากว่าปกติ อีกข้อกังวล คือเส้นทางไหลของน้ำ จะผ่านเข้าไปยังพื้นที่โรงงาน ก่อนจะไหลลงสู่คลองมือไทร และไหลไปยังอ่างเก็บน้ำคลองหลวงรัชชโลทร หากมีการปนเปื้อนของสารตกค้าง ย่อมส่งผลกระทบต่อคนที่ใช้น้ำกว่า 5 อำเภอ
จากภาพถ่ายมุมสูง พบว่าพื้นที่ของโรงงานขนาด 138 ไร่ ล้อมรอบไปด้วยพื้นที่เกษตรกรรม ภายในกำลังมีการก่อสร้างอาคาร ขุดบ่อบำบัดน้ำเสีย และบ่อน้ำขนาดใหญ่
จากข้อมูล พบผู้ประกอบการยื่นขอใบอนุญาตโรงงานลำดับที่ 105 คือโรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการคัดแยกหรือฝังกลบสิ่งปฏิกูล หรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว และโรงงานลำดับที่ 53 คือโรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์พลาสติก (1) (5) และ (9) ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการทำเม็ดพลาสติกจากพลาสติกที่ใช้แล้ว และการขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เงินลงทุน 60 ล้านบาท เครื่องจักรกำลังรวม 2,200 แรงม้า
ยกเลิกเวทีรับฟังความเห็นกะทันหัน
อย่างไรก็ตาม ตามขั้นตอนขอใบอนุญาต ต้องเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากคนในพื้นที่ ซึ่งเดิมบริษัทกำหนดไว้เป็นวันที่ 19 ก.ย.2563 แต่ก่อนถึงวันนัดเพียง 1 วัน บริษัทได้ทำหนังสือขอยกเลิกเวทีออกไป ยิ่งสร้างข้อกังขาให้กับคนในพื้นที่
ขณะที่ชาวบ้านบางส่วน เชื่อว่าการขอยกเลิกเวทีรับฟังความคิดเห็น เป็นเพียงการชะลอกระแสคัดค้านออกไปเท่านั้น เพราะในเวลาเดียวกัน โรงงานยังคงเดินหน้าก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง พร้อมระบุว่าการไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลที่ชัดเจน ทั้งที่ประเภทกิจการโรงงาน เข้าข่ายสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชน เป็นประเด็นที่น่าตั้งข้อสังเกต
นายทุนจีนยื่นขอทำโรงงานรีไซเคิล
ทีมข่าวไทยพีบีเอส เดินทางไปยังสำนักงานอุตสาหกรรม จ.ชลบุรี ได้รับการยืนยันว่ามีการยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการประเภท คัดแยกวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ที่ไม่เป็นของเสียอันตราย จากโรงงานดังกล่าวจริง และจากข้อมูลยังพบว่าผู้ประกอบการที่ถือหุ้นในบริษัท และเข้ามาติดต่อดำเนินการ มีสัญชาติจีน สอดคล้องกับข้อมูลที่ทีมข่าวได้รับก่อนหน้านี้ว่าธุรกิจประเภท "โรงงานรีไซเคิล" ที่เติบโตเร็วในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เป็นการลงทุนจากผู้ประกอบการชาวจีน
นายอนิรุทธ์ โพธิหล้า หัวหน้ากลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรม จ.ชลบุรี ระบุว่า ตามขั้นตอน ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนบริษัทถูกต้อง สามารถยื่นขอใบอนุญาต และดำเนินการตามขั้นตอนภายใน 45 วัน รวมถึงการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของคนในพื้นที่ให้แล้วเสร็จ กรณีการยื่นขอดำเนินการในพื้นที่ ต.ธาตุทอง อ.บ่อทอง ที่ผ่านมา ครบกำหนด 45 วันแล้ว หลังจากนี้ หากผู้ประกอบการยังมีความจำนง ต้องยื่นเอกสาร และดำเนินการตามขั้นตอนใหม่อีกครั้ง
จากข้อมูลการรวบรวมสถิติของมูลนิธิบูรณะนิเวศ พบว่าตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา จ.ชลบุรี มีการยื่นขอใบอนุญาตโรงงาน ลำดับที่ 53 หรือโรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์พลาสติกมากที่สุด