วันนี้ (27 ส.ค.63) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และเครือข่ายหน่วยงานวิจัย แถลงความร่วมมือทางวิชาการ ด้านการศึกษาวิจัยในประเด็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5
ด้วยกรุงเทพมหานครและปริมณฑลประสบปัญหาค่าความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน เกินค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศในชั้นบรรยากาศ โดยทั่วไปของประเทศไทยในช่วงฤดูหนาวระหว่างเดือน ธ.ค. - ก.พ.ของทุกปี ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และสุขภาพของประชาชน รวมทั้งผลกระทบเชิงลบในภาคธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้ต้องยกระดับมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองเป็นวาระแห่งชาติ โดยความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง
ดังนั้นเพื่อขับเคลื่อนการแก้ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง วช.จึงมีความร่วมมือทางวิชาการ กับ คพ.ในฐานะหน่วยงานหลักที่มีบทบาทในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ของประเทศ และหน่วยงานวิจัย ดำเนินงานแผนงานวิจัยและนวัตกรรมภายใต้ชุดโครงการด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ของประเทศไทยอย่างบูรณาการ เชื่อมโยงผลผลิตเพื่อให้บรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ดังนี้
1) การประเมินมาตรการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง”
2) การประเมินมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม ผลกระทบเชิงสุขภาพ คุณภาพชีวิต และเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5
3) การศึกษาเพื่อนำมาตรการไปสู่การปฏิบัติในการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5ที่สามารถขับเคลื่อนสู่การนำไปใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย “เพื่อให้ประเทศไทยมีอากาศบริสุทธิ์ และประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีจากการมีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น”