ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดปม : ทุ่นระเบิดสังหาร

สังคม
1 ก.ค. 63
13:24
1,209
Logo Thai PBS
เปิดปม : ทุ่นระเบิดสังหาร
ขณะนี้ ประเทศไทยมีพื้นที่ปนเปื้อนทุ่นระเบิดสังหารกว่า 220 ล้านตารางเมตร โดยพื้นที่กว่าร้อยละ 90 อยู่ที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ตั้งเป้าว่าจะปลดปล่อยพื้นที่ทั้งหมดให้ได้ภายใน 3 ปีตามพันธกรณีที่ได้ให้ไว้ในอนุสัญญาออตตาวา

ปฏิบัติการเก็บกู้และทำลายทุ่นระเบิดของประเทศไทยเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2542 เป็นผลจากการลงนามเข้าร่วมเป็นรัฐภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ สะสม ผลิตและโอน และการทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคล หรือ อนุสัญญาออตตาวา

ส่วนหนึ่งของพันธกรณีที่รัฐภาคีต้องปฏิบัติตาม คือ ต้องทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคลที่เก็บสะสมไว้ในคลังทั้งหมดภายใน 4 ปี รวมถึงต้องเก็บกู้และทำลายทุ่นระเบิดสังหารบุคคลที่ฝังอยู่ในพื้นดินภายใน 10 ปี หลังจากอนุสัญญาฯ มีผลบังคับใช้ 

 

ปัจจุบันการลงนามในอนุสัญญาฯ ล่วงเลยมานานกว่า 20 ปีแล้ว แต่ประเทศไทยยังไม่สามารถเป็นประเทศที่ปลอดจากทุ่นระเบิดตามพันธกรณีของอนุสัญญาฯ ได้

พล.ท.สิทธิพล นิ่มนวล ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติให้ข้อมูลว่า พ.ศ. 2542 ประเทศไทยมีพื้นที่ปนเปื้อนทุ่นระเบิดสังหารกว่า 900 แห่ง รวมเนื้อที่กว่า 2,556,000,000 ตร.ม. 

 

ตลอด 21 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยสามารถเก็บกู้ทุ่นระเบิดจนเหลือพื้นที่ปนเปื้อนอยู่ประมาณ 220,000,000 ตร.ม. ในจำนวนนี้กว่าร้อยละ 90 ของพื้นที่อยู่บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา อุปสรรคสำคัญที่ทำให้การเก็บกู้ไม่แล้วเสร็จ คือ เส้นเขตแดนระหว่าง 2 ประเทศที่ยังไม่มีความชัดเจนทำให้การเก็บกู้ทุ่นระเบิดในพื้นที่ใกล้ชายแดนทำได้ไม่สะดวก

ชายแดนไทย-กัมพูชาแทบทั้งหมด ยังไม่มีการปักปันเขตแดน ทั้งสองฝ่ายจึงต้องเฝ้าระวังไม่ให้อีกฝ่ายเข้าไปใกล้เขตแดนเพราะเกรงว่าอาจทำให้เส้นหลักฐานตามแนวชายแดนเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น เมื่อเจ้าหน้าที่หน่วยเก็บกู้ทุ่นระเบิดของไทยเข้าไปในพื้นที่ก็ถูกฝ่ายกัมพูชาประท้วง งานจึงหยุดชะงักหรือบางครั้งอาจมีอันตรายได้เพราะเจ้าหน้าที่กัมพูชาเป็นเจ้าหน้าที่ติดอาวุธ

เมื่อมีทุ่นระเบิดตกค้างอยู่ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบ ข้อมูลจากกองกำลังบูรพา ระบุว่า ในพื้นที่ 4 อำเภอของจ.สระแก้ว ที่มีอาณาเขตติดต่อชายแดนไทย-กัมพูชา พบผู้ประสบภัยจากทุ่นระเบิดที่ยังมีชีวิตอยู่ 228 คน ในจำนวนนี้พบว่า อยู่ในพื้นที่อ.อรัญประเทศมากที่สุดจำนวน 107 คน รองลงมาคือ อ.ตาพระยา 68 คน  อ.โคกสูง 34 คน และ อ.คลองหาด 19 คน

อีกส่วนหนึ่งคือการเสียประโยชน์จากการไม่สามารถเข้าใช้พื้นที่ได้ เช่น นางอำพร พูลแก้ว อายุ 52 ปี ชาวบ้านแสง์ ต.ทัพเสด็จ อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว ที่ได้รับสืบทอดที่ดินจำนวน 105 ไร่มาจากพ่อ แต่ทุกวันนี้สามารถเข้าทำประโยชน์ได้เพียง 49 ไร่ ส่วนที่ดินอีก 56 ไร่ ยังมีทุ่นระเบิดตกค้างอยู่ จึงไม่สามารถเข้าทำประโยชน์ และถูกทิ้งร้างมานานกว่า 40 ปี

 

นางอำพรเล่าว่า พ.ศ.2520 กองทัพเขมรแดงเข้าโจมตีพื้นที่ อ.ตาพระยา ทางการจึงประกาศให้ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง รวมถึงนางอำพรอพยพออกจากพื้นที่ หลังจากเหตุการณ์นั้นราว 4-5 ปี เมื่อเหตุการณ์เริ่มสงบ นางอำพรกลับเข้าไปในพื้นที่ทำกินอีกครั้ง แต่พบว่าที่ดินของครอบครัวยังมีทุ่นระเบิดตกค้างอยู่จำนวนมาก

ที่รู้ก็เพราะว่ามีแนวรั้วลวดหนาม ประกอบกับทางการไทยก็แจ้งว่าไม่ให้เข้าไปเพราะน่าจะมีวัตถุระเบิดอยู่ ซึ่งก็เป็นจริงเพราะชาวบ้านบางคนเข้าไปก็โดนระเบิดจริงๆ

ปัจจุบันใน จ.สระแก้ว ยังเหลือพื้นที่ต้องสงสัยว่ามีทุ่นระเบิดตกค้างอยู่ 15 พื้นที่

ศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติระบุเป้าหมายใน พ.ศ. 2563 ไว้ว่าจะดำเนินการเก็บกู้ทุ่นระเบิดในพื้นที่ อ.ตาพระยา ให้ได้จนหมด จากนั้นจึงจะดำเนินการเก็บกู้ในอำเภออื่น ๆ ของ จ.สระแก้วในปีต่อ ๆ ไป

 

พื้นที่สุดท้ายที่เจ้าหน้าที่จะเข้าดำเนินการเก็บกู้ทุ่นระเบิดสังหาร คือ พื้นที่ ต.ป่าไร่ อ.อรัญประเทศ เนื้อที่ 1,500,000 ตร.ม. ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาเขตแดนทับซ้อนรุนแรงที่สุดใน จ.สระแก้ว คาดว่าจะสามารถดำเนินการเก็บกู้ทุ่นระเบิดและปลดปล่อยพื้นที่ได้ทั้งหมดภายใน พ.ศ. 2566 ตามพันธกรณีที่ได้ให้ตามพันธกรณีที่ได้ให้ไว้ในอนุสัญญาห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง