ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กทม.พัฒนาห้องตรวจหาเชื้อ COVID-19 เพิ่ม 2 แห่ง

สังคม
9 มิ.ย. 63
15:22
462
Logo Thai PBS
กทม.พัฒนาห้องตรวจหาเชื้อ COVID-19 เพิ่ม 2 แห่ง
กรุงเทพมหานครพัฒนาระบบการตรวจทางห้องปฏิบัติการตรวจหาเชื้อไวรัส COVID-19 ของโรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ เพิ่ม 2 แห่ง หลังผ่านการทดสอบความชำนาญทางห้องปฏิบัติการจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และอยู่ระหว่างการพัฒนาอีก 1 แห่ง

วันนี้ (9 มิ.ย.2563) พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 กรุงเทพมหานคร หรือ ศบค.กทม. ระบุว่า ผลการปฏิบัติการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เชิงรุก ในประชากรกลุ่มเสี่ยงและสถานที่เสี่ยง (Sentinel Surveillance) ด้วยการตรวจหาเชื้อ COVID-19 ในน้ำลาย ซึ่ง กทม.ได้รับการสนับสนุนชุดทดสอบจากกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 15,210 ชุด และต้องตรวจสอบกลุ่มเป้าหมายให้ครบภายในเดือน มิ.ย.นี้ 

โดยเริ่มดำเนินการเก็บตัวอย่างส่งตรวจ มาตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค. 63 นับถึงปัจจุบัน (7 มิ.ย. 63) ได้เก็บตัวอย่างส่งตรวจแล้ว 7,255 คน ผลการตรวจไม่พบเชื้อ 4,766 คน อยู่ระหว่างรอผลตรวจ 2,489 คน คิดเป็นสัดส่วนการเก็บตัวอย่างส่งตรวจแล้วประมาณ 47% คงเหลือประมาณ 53% ซึ่งจะสามารถเก็บตัวอย่างตรวจครบ 15,210 คน ภายในเดือนนี้

นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาระบบการตรวจทางห้องปฏิบัติการโดยสามารถตรวจหาเชื้อไวรัส COVID-19 ซึ่งผ่านการทดสอบความชำนาญทางห้องปฏิบัติการจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขเรียบร้อยแล้ว จำนวน 2 แห่ง คือ โรงพยาบาลตากสิน และโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ ทำให้ปัจจุบันสถานพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร สามารถตรวจหาเชื้อ COVID-19 ได้แล้ว 3 แห่ง ประกอบด้วย 1.คณะแพทยศาสตร์และวชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และ โรงพยาบาลทั้ง 2แห่ง ส่วนห้องปฏิบัติการโรงพยาบาลกลางซึ่งอยู่ในระหว่างการพัฒนา หากผ่านการตรวจรับรอง กทม.จะมีห้องปฏิบัติการตรวจหาเชื้อ COVID-19 จำนวน 4 แห่ง 

ทั้งนี้ คณะทำงานด้านการรักษาพยาบาลผู้ป่วย สำนักการแพทย์ กทม.ยังได้ให้โรงพยาบาลในสังกัด ปรับปรุงการให้บริการผู้ป่วยของโรงพยาบาลต่างๆ เช่น การรักษาระยะห่างระหว่างบุคคลโดยการใช้ระบบ แพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” เพื่อเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งติดตั้งในโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ทุกแห่ง การแบ่งปันการใช้วัสดุ อุปกรณ์การแพทย์ระหว่างโรงพยาบาลในสังกัด การจัดตั้งคลินิกตรวจโรคระบบทางเดินหายใจ (ARI Clinic) ในโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ทุกแห่ง โดยแยกส่วนออกจากการให้บริการผู้ป่วยทั่วไป การพัฒนารูปแบบการให้บริการรูปแบบใหม่ที่เหมาะสมโดยการนำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น การพัฒนาระบบการรักษาทางไกล Tele Medicine ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เป็นต้น ประการสำคัญ คือ การดูแลให้บุคลากรทางการแพทย์มีความปลอดภัยในการปฏิบัติงานและใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง