ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"เวียนเทียนออนไลน์" วิถีใหม่ ทุกศาสนาฝ่าวิกฤตยุค COVID ระบาด

สังคม
6 พ.ค. 63
10:04
144,292
Logo Thai PBS
"เวียนเทียนออนไลน์" วิถีใหม่ ทุกศาสนาฝ่าวิกฤตยุค COVID ระบาด
อยู่บ้านก็เวียนเทียนได้ ครั้งแรกที่พุทธศาสนิกชนจะร่วมกิจกรรมวันวิสาขบูชาทางออนไลน์ผ่านหน้าจอมือถือ คอมพิวเตอร์ เช่นเดียวกับทั้งศาสนาคริสต์ และอิสลามที่ต้องปรับตัวทำกิจกรรมและประกอบศาสนกิจในยุคการแพร่ระบาด COVID-19

"วันวิสาขบูชา" 6 พ.ค.นี้ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่พุทธศาสนิกชนจะร่วมกิจกรรมในสำคัญทางศาสนา เวียนเทียนทางออนไลน์อยู่ที่บ้าน ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตใหม่ New Normal เว้นระยะห่างทางสังคม ตามมาตรการอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ จากเดิมที่ตั้งแต่เช้าจนถึงค่ำจะเห็นภาพชาวพุทธเข้าวัด ไหว้พระ สวดมนต์ และเวียนเทียน

มหาเถรสมาคมมีมติให้ทุกวัดทั้งในไทยและต่างประเทศ งดจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มทุกประเภท ยกเว้นการปฏิบัติกิจของสงฆ์ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด COVID-19 อาจเป็นทางเลือกในอนาคตหลังพ้นวิกฤตครั้งนี้ ที่จะลดความแออัดและเพิ่มความสะดวกให้พุทธศาสนิกชนเข้าถึงศาสนา

 

เทคโนโลยีอย่าง "เฟซบุ๊กไลฟ์" เป็นทางเลือกหลักที่วัดใหญ่หลายแห่งนำมาถ่ายทอดสดการประกอบพิธีทางศาสนา ยกตัวอย่างวัดบวรนิเวศวิหาร พระอารามหลวงชั้นเอก จัดกิจกรรม “วิสาขบูชา LIVE : สวดมนต์ เวียนเทียน ฟังธรรมโต้รุ่ง ที่บ้าน” เริ่มเฟซบุ๊กไลฟ์ตั้งแต่เวลา 19.00 น. เมื่อวานนี้ (5 พ.ค.) ในพิธีไหว้ครูปาธยาย หรือไหว้ครูอุปัชฌาย์ ครูอาจารย์ที่สั่งสอนธรรม สวดพุทธาภิเษก มีพุทธศาสนิกชนร่วมชมหลักพันคน  พร้อมแสดงความคิดเห็น ระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ท่ามกลางภาพความสวยงามของพระพุทธชินสีห์ องค์พระประธานภายในพระอุโบสถ

"เวียนเทียน" ออนไลน์

ก่อนเข้ามาภายในพระอุโบสถ พระสงฆ์ทุกรูปต้องผ่านการคัดกรองวัดไข้ ใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ และนั่งเว้นระยะห่างแต่ละรูปอย่างน้อย 1 เมตร เพื่อร่วมสวดมนต์ แสดงพระธรรมเทศนาตลอดรุ่ง ส่วนพุทธศาสนิกชนจะได้ร่วมเวียนเทียนที่บ้านพร้อมพระสงฆ์ที่วัดในเวลา 21.00 น. ของวันที่ 6 พ.ค. โดยระหว่างทำพิธีเล่าสอดแทรกเรื่องราวความสำคัญของวันวิสาขบูชา หรือวันคล้ายวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า รวมทั้งประวัติความเป็นมาของวัด และขั้นตอนของการประกอบพิธี

 

ในวันนี้ยังมีวัดอีกหลายแห่งที่เปิดให้ประชาชนเข้าถึงธรรมมะและร่วมกิจกรรมโดยไม่ต้องเดินทางมาที่วัด เช่น วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เวลา 19.00 น. เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก พร้อมคณะสงฆ์ จะร่วมสวดมนต์ทำวัตรเย็น และเชิญชวนสดับพระธรรมเทศนา 13 กัณฑ์ ตลอดราตรี ผ่านเพจ “สมโภช 150 ปี วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม”

นอกจากนี้ ยังสามารถเวียนเทียนออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ เวียนเทียนออนไลน์.com และแชร์ภาพกราฟฟิกที่ตัวเองเลือก ใส่ชื่อวัด ใส่คำอธิษฐาน ไปยังเฟซบุ๊ก ไลน์ ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม ได้ตามที่ต้องการ

ปรับเทศน์ออนไลน์-ลดเวลาให้พร

ไม่เพียงการปรับรูปแบบกิจกรรมในวันสำคัญทางศาสนาเท่านั้น เชื้อไวรัส COVID-19 ยังส่งผลให้พระสงฆ์ต้องปรับกิจวัตรเพื่อป้องกันโรคด้วย

"พระพยอม กัลยาโณ" พระนักเทศน์ เล่าว่า ต้องใส่หน้ากากอนามัย และทำตามคำแนะนำเว้นระยะห่าง บางครั้งใช้วิธียื่นฝาบาตรให้ญาติโยมถวายอาหาร ลดระยะเวลาให้พร หรือให้พรหลังจากพระฉันท์เสร็จแล้ว

ส่วนพื้นที่วัดค่อนข้างกว้างและเป็นธรรมชาติ มีอากาศถ่ายเท สามารถเว้นระยะห่างฟังบรรยายธรรมได้ แต่สังเกตว่าคนเข้าร่วมน้อยลงจาก 400-500 คน เหลือ 50 คน จึงปรับมาบรรยายธรรมผ่านทางเฟซบุ๊กไลฟ์ เพราะมีคนดูเกือบหมื่นมากกว่าออกไปเทศน์นอกสถานที่ ที่มี 200-300 คน พร้อมขอให้ทุกคนเชื่อว่ายังมีฟ้าหลังฝน เพราะมีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป อย่าเพิ่งรีบท้อแท้ หรือฆ่าตัวตาย ทุกข์มีไว้ให้เรียนรู้ไม่ให้จมอยู่

ช่วงนี้ไม่ควรให้พรนาน อาตมาบางทีก็ไม่ได้ให้เลย เพราะเมื่อต้องอยู่ใกล้ชิดเป็นเวลานานจะมีความเสี่ยงติดเชื้อ เป็นความเปลี่ยนแปลงที่สุดในฐานะพระนักเทศน์ 1 เดือนไม่มีแม้แต่งานเดียวที่ออกไปเทศน์ 

"โบสถ์ออนไลน์" เจอกันทุกอาทิตย์

อัญชลี จงคดีกิจ (ปุ๊) ศิลปินชื่อดัง ที่มักเข้าโบสถ์ทุก ๆ วันอาทิตย์ เล่าว่า ช่วงการแพร่ระบาด COVID-19 มีความรู้สึกอึดอัดเล็กน้อยแม้ปกติจะเป็นคนที่ชอบอยู่บ้าน แต่ก็คิดถึงเพื่อน แฟนเพลง ซึ่งการไปโบสถ์วันอาทิตย์ เหมือนกับได้พบครอบครัว 

ส่วนศาสนาคริสต์ จะมีกิจกรรมนมัสการพระเจ้า การร้องเพลง ฟังเทศน์ สามัคคีธรรม ยกตัวอย่างโบสถ์ที่ตนไปเป็นประจำจะนมัสการฯ ตั้งแต่เวลา 10.30-12.00 น. เมื่อเสร็จกิจกรรมแล้วจะกินข้าวร่วมกัน ใช้เวลาอยู่ด้วยกันในวันอาทิตย์หลายชั่วโมง

เมื่อต้องเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) ทุกโบสถ์จะร่วมกิจกรรมผ่านทางออนไลน์อย่างเฟซบุ๊กไลฟ์ ช่วงแรก ๆ ที่ยังไม่เข้มงวดมากก็จะไลฟ์เฟซบุ๊กโดยรวมกลุ่มเฉพาะทีมนมัสการ หรือนักดนตรี อาจาร์ยที่เทศนา และผู้ที่เกี่ยวข้อง ส่วนสมาชิกคนอื่น ๆ ไม่ต้องมาที่โบสถ์

ต่อมาปรับเป็นการรวมตัวเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องและอัดเทปไว้ 3-4 เทป ใช้ได้ตลอดทั้งเดือน ทำให้การพบปะน้อยลง

นอกจากนี้ เตรียมแผนสำรองกรณีสถานการณ์รุนแรงขึ้น โดยปรับเป็นอัดเทปที่บ้านแบบร้องคนเดียวและใช้กีต้าร์เพียงตัวเดียวอัดเทปไว้ ไม่ต้องเต็มวง และปล่อยเทปวันอาทิตย์ประกอบกับเทปที่อาจารย์อัดไว้เทศนา

ปิดโบสถ์ แต่ไม่ได้ปิดการนมัสการ เหมือนกับปิดบ้านเฝ้าระวัง แต่ไม่ได้ปิดใจกันจากความสัมพันธ์ของเพื่อน ยังติดต่อกันได้ผ่านโซเชียลมีเดีย มีช่องทางดำเนินชีวิตและนมัสการในความเชื่อได้

ผ่อนปรนละหมาดวันศุกร์ ใครไม่สะดวกยังทำที่บ้านได้

แม้สำนักจุฬาราชมนตรีได้ออกประกาศ ฉบับที่ 5 ผ่อนปรนให้ละหมาดวันศุกร์ (ญุมอะห์) แต่ นายสุธรรม บุญมาเลิศ เลขานุการจุฬาราชมนตรี ยืนยันว่ามัสยิดและคนที่เข้าร่วมยังต้องปฏิบัติตามมาตรป้องกัน COVID-19 อย่างเข้มงวด

หากมัสยิดใดทำตามเงื่อนไขไม่ได้ ขอให้งดจัดละหมาดวันศุกร์ต่อไป เช่น ไม่ใช้เครื่องปรับอากาศ เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1.50 เมตร มีเครื่องวัดอุณหภูมิร่างกาย ตั้งจุดเจลล้างมือ หรืออ่างล้างมือด้วยสบู่ สวมหน้ากากอนามัยระหว่างละหมาด ที่สำคัญคือยังไม่ควรสัมผัสมือกัน เพราะไม่แน่ชัดว่าใครติดเชื้อหรือไม่

สถานการณ์เริ่มดีขึ้นตามลำดับและรัฐบาลมีมาตรการผ่อนปรนในบางกิจการ จึงเห็นให้ผ่อนปรนได้ แต่ต้องทำตามเงื่อนไขอย่างเคร่งครัด


ขณะที่นายสันติ เสือสมิง ประธานคณะอนุกรรมการ คณะผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี กล่าวว่า ได้ปรับเงื่อนไขบางส่วนของการละหมาดวันศุกร์ เพราะการสู้รบกับการแพร่ระบาดของโรคครั้งนี้ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข ผู้ว่าราชการจังหวัด และนักวิชาการทางด้านศาสนา ร่วมพิจารณาว่าผ่อนปรนได้หรือไม่ หรืองดไปก่อนในบางพื้นที่ เช่น จ.นราธิวาส จ.ยะลา ที่ให้งดการละหมาดในมัสยิดไปอีก 2 สัปดาห์ เพราะยังพบการแพร่ระบาดอยู่

ส่วนผู้ใดยังมีความกังวลก็สามารถละหมาดที่บ้านได้ แต่หลังจากพ้นวิกฤตแล้วก็จะกลับไปละหมาดที่มัสยิดในรูปแบบเดิม

หลักใหญ่คือปรึกษาหารือกันและท่านจุฬาราชมนตรีเป็นผู้ชี้ขาด คำว่าผ่อนปรนไม่ใช่บังคับ ถ้ามัสยิดใดไม่พร้อมก็ให้งดละหมาดต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง