วันนี้ (14 เม.ย. 63) นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยข้อมูลสถิติคดีความผิดตามพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้นทั่วประเทศว่า ศูนย์ข้อมูลคดี สำนักแผนงานและงบประมาณ สำนักงานศาลยุติธรรม ได้รวบรวมสถิติคดีตั้งแต่ภายหลังรัฐบาลประกาศเคอร์ฟิว ห้ามบุคคลใดออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 22.00 - 04.00 น. โดยไม่มีความจำเป็น และได้มีการผ่อนปรนข้อยกเว้นการห้ามออกนอกเคหสถานในช่วงเคอร์ฟิวสำหรับบางอาชีพเพิ่มเติมตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 3) ซึ่งมีผลคับใช้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2563 ที่ผ่านมา
สถิติจำนวนคดีเพียงวันเดียวกว่า 1,300 คดี
ทั้งนี้ พบว่าในวันที่ 13 เม.ย.2563 ซึ่งเป็นวันแรกของเทศกาลสงกรานต์ มีจำนวนคดีที่เข้าสู่การพิจารณาของศาล ดังนี้
กลุ่มศาลอาญา ศาลจังหวัด และศาลแขวง มีจำนวนคดีที่ขึ้นสู่การพิจารณาทั้งหมด 1,320 คดี มีจำนวนคดีที่พิพากษาแล้วเสร็จทั้งหมด 1,211 คดี หรือคิดเป็นร้อยละ 91.74 สำหรับข้อหาที่มีการกระทำความผิดสูงสุด คือฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มีจำนวน 1,553 คน (สัญชาติไทย 1,469 คน / สัญชาติอื่น 84 คน) ตามด้วยพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 มี จำนวน 39 คน (สัญชาติไทย 38 คน / สัญชาติอื่น 1 คน)
จังหวัด 3 อันดับแรก ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ขณะที่จังหวัดที่มีผู้กระทำความผิด สูงสุด 3 อันดับ ในคดีฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ได้แก่ อันดับ 1 ชลบุรี จำนวน 110 คน และกรุงเทพมหานคร จำนวน 110 คน อันดับ 2 ระยอง จำนวน 75 คน อันดับ 3 ลพบุรี จำนวน 64 คน ส่วนความผิดพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ได้แก่ อันดับ 1 ชลบุรี จำนวน 18 คน อันดับ 2 ยะลา จำนวน 12 คน อันดับ 3 สมุทรสาคร มีจำนวน 3 คน
ด้านกลุ่มศาลเยาวชนและครอบครัว มีจำนวนคำร้องที่ขอตรวจสอบการจับ รวมทั้งสิ้น 68 คำร้อง ข้อหาที่เข้าสู่การตรวจสอบจับกุม ได้แก่ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 จำนวน 68 คน (สัญชาติไทย 65 คน / สัญชาติอื่น 3 คน) ผลการตรวจสอบการจับ ชอบด้วยกฎหมาย จำนวน 68 คน
สถิติสะสม 10 วัน คดีพุ่งทะลุกว่า 9,000 คดี
สรุปสถิติคดีสะสมตั้งแต่วันที่ 3 - 13 เม.ย.2563 มีดังนี้ กลุ่มศาลอาญา ศาลจังหวัด และศาลแขวง มีจำนวนคดีที่ขึ้นสู่การพิจารณาทั้งหมด 9,007 คดี และจำนวนคดีที่พิพากษาแล้วเสร็จทั้งหมด 8,515 คดี หรือคิดเป็นร้อยละ 94.54 ส่วนข้อหาที่มีการกระทำความผิด แยกเป็นความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 จำนวน 10,089 คน (สัญชาติไทย 9,460 คน / สัญชาติอื่น 629 คน) ส่วนความผิดตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 จำนวน 115 คน (สัญชาติไทย 107 คน / สัญชาติอื่น 8 คน) และความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 มีจำนวน 2 คน (สัญชาติไทย 2 คน / สัญชาติอื่น - คน)
กทม.ครองแชมป์ยอดฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ขณะที่จังหวัดที่มีผู้กระทำความผิด สูงสุด 3 อันดับ ในแต่ละข้อหานั้น แยกเป็นความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ได้แก่ อันดับ 1 กรุงเทพมหานคร จำนวน 730 คน อันดับ 2 ชลบุรี จำนวน 462 คน อันดับ 3 ปทุมธานี จำนวน 455 คน ส่วนความผิดตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ได้แก่ อันดับ 1 ชลบุรี จำนวน 42 คน อันดับ 2 สมุทรสาคร จำนวน 27 คน อันดับ 3 ยะลา จำนวน 14 คน ขณะที่ความผิดพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ได้แก่ อันดับ 1 นนทบุรี จำนวน 1 คน และนราธิวาส จำนวน 1 คน
คดีเยาวชนมีจำนวนคำร้องมากถึง 540 คำร้อง
กลุ่มศาลเยาวชนและครอบครัว มีจำนวนคำร้องที่ขอตรวจสอบการจับ รวมทั้งสิ้น 540 คำร้อง ได้แก่ ข้อหาที่เข้าสู่การตรวจสอบจับกุม มีความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 จำนวน 548 คน (สัญชาติไทย 530 คน / สัญชาติอื่น 18 คน) และความผิดตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 จำนวน 4 คน (สัญชาติไทย 4 คน / สัญชาติอื่น - คน) รวมผลการตรวจสอบการจับ จำนวน 554 คน
มิจฉาชีพฉวยโอกาสช่วงเคอร์ฟิวก่อเหตุลักทรัพย์
เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า แม้ช่วงนี้จะเป็นเทศกาลสงกรานต์ แต่ในปีนี้รัฐบาลประกาศให้งดกิจกรรมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 แต่ยังพบว่ามีผู้กระทำผิดรวมกลุ่มดื่มสุราและเล่นน้ำสงกรานต์อยู่ นอกจากนี้ ยังมีผู้อาศัยช่วงเวลาเคอร์ฟิวก่อเหตุลักทรัพย์ในหลายพื้นที่ ซึ่งเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน จึงอยากฝากความห่วงใยและขอความร่วมมือประชาชนให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด