แต่มีหลายวิธีบอกผ่านความคิดถึง ทั้งคนใกล้-คนไกลบ้าน ถึงจะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ชีวิตใช่จะมีแต่ความเหงา เรื่องราวที่ดีในช่วงเก็บตัว-หยุดเชื้อเพื่อชาติ
บางมุมคุณก็ยิ้มได้...
เล่าผ่าน 4 ชีวิต ของคนใกล้-คนไกลบ้าน บางคนต้องติดเกาะ-กักตัวอยู่ในที่พัก เพราะมาตรการปิดเมือง แต่บางที่งานหด กลับเป็นโอกาสดีที่ทำให้ได้ "กลับบ้าน"
1.
ติดเกาะที่ "ภูเก็ต"
"หมอฟ้า" สัตวแพทย์หญิง พรรณภา กึ่งวงษ์ ผู้เคยผ่านเวทีประกวดสู้เพื่อ "มง" (มงกุฎ) ผันตัวมาสู้เพื่อ "หมา" และบรรดาสัตว์เลี้ยงเต็มตัว
"หมอฟ้า" เป็นคนลำพูน จบการศึกษา ป.ตรี คณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.)
ตลอดวัยเรียน นอกจากเดินเปลี่ยนห้องเรียน เธอสลับเดินบนเวทีต่อเนื่อง โดยเฉพาะเวทีนางงามที่ประกวดมาแล้วหลายเวทีของประเทศ แต่เมื่อเรียนจบและบินออกจากเชียงใหม่เมื่อปี 2559 ก็ย้ายมาทำงานที่คลินิกสัตว์เลี้ยงแห่งหนึ่งใน จ.ภูเก็ต อยู่เป็นนานถึงปัจจุบัน
ซ้าย-ฟ้า พรรณภา กึ่งวงษ์
ถ้าเป็นสถานการณ์ปกติคงไม่เป็นไร เพราะเธอคนนี้ บินไป-บินมา ระหว่าง ภูเก็ต-เชียงใหม่ เป็นประจำ
แต่เมื่อภูเก็ตกลายเป็นพื้นที่ระบาด บางช่วงอัตราผู้ติดเชื้อต่อประชากรสูงเสียยิ่งกว่ากรุงเทพฯ
เธอจึงติดเกาะ... เมื่อภูเก็ตปิดเมือง
เพราะหากเป็นช่วงนี้ของปีที่แล้ว เธอคงจะ... "ปกติฮา (คำเรียกตัวเองของคนเหนือ) อยู่บ้านแล้ว รดน้ำดำหัว ไปเที่ยวหาญาติๆ พักผ่อน ไปดูคนเล่นน้ำที่เชียงใหม่แต่ไม่เล่นนะ"
นั่นแหละนะ วิถีปกติ-ที่ไม่ปกติ ไม่แปลกที่จะตอบแบบนั้น เพราะหากเป็นช่วงเวลานี้ ที่คนเหนือเรียกว่า "ปี๋ใหม่เมือง" พ่อแม่คงพาลูกๆ ไปรดน้ำดำหัวปู่ย่าตายาย หรือไม่คงรวมตัวกันร้องคาราโอเกะที่ไหนซักที่
ติดเกาะเพราะปิดเมือง นอกจากปิดสนามบิน บางพื้นที่ห้ามเดินทางข้ามตำบล
แม้อยู่ที่ภูเก็ต "ไม่มีคนให้ข้าวน้ำ เอาใจเหมือนอยู่บ้าน" ตามคำเธอว่า แต่หน้างานที่เธอรับผิดชอบอยู่ตอนนี้ ไม่มีคำว่า เหงา -เบื่อ
"หมอหมา" หรือสัตวแพทย์ เป็นอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไม่ต่างจากอาชีพอื่น ยิ่งสถานพยาบาลสัตว์ใหญ่ๆ ถ้ามีทั้งโรงแรม ร้านค้า และคลินิก ต้องบริหารคนให้พอดีกับงาน แต่กับบางหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ "ชีวิต" งานหนักกว่าเดิม
ที่ทำงานของ "หมอฟ้า" แบ่งงาน-แบ่งเวลาทำงานเหมือนกัน แม้บางกะบางเวรคนทำงานจะน้อยลง แต่คนเข้าบริการไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะภูเก็ต "ล็อกดาวน์" และบางพื้นที่ห้ามเดินทางข้ามตำบล
"3 วันมานี้ คนมาเยอะกรูกันมาเลย เพราะหมาที่ต้องรับยาเป็นประจำ ถ้าเขามาไม่ได้มาก็ลำบาก อย่าว่าแต่คนรักสัตว์เลี้ยงเลย เราเองข้ามตำบลไม่ได้ ไปซื้อหาอาหารยังลำบาก อย่างเตรียมของกินไม่เคยทำก็ต้องทำ ยิ่งแถวบ้านโลตัสก็ไม่มี แมคโครก็ไม่มี (ฮา)"
อาจจะมีบ้างที่คนไกลบ้านไม่ได้กลับบ้านไปรับการดูแลจากครอบครัว แต่จะให้เธอเหงาได้อย่างไร ในเมื่อหมา-แมว ที่เธอรักยังรอการรักษา
ไม่ง่อมหนา (ไม่เหงานะ) มีงานให้ทำตลอด แต่ก็คิดถึงแม่
ส่วน "แม่" ที่เธอแสนคิดถึงนั้น Video Call คุยกันทุกวัน วันไหนอยู่นอกบ้านการโทรศัพท์ก็พอใช้ได้
2.
ปีนี้ได้กลับบ้าน
"ช่วงเวลานี้ ทุกปีคงไม่ได้กลับบ้าน"
คุณเจ เจนนรินทร์ ทองคำมาพัสตราภรณ์ อดีตช่างแต่งหน้า (บางครั้งยังรับแต่งหน้าอยู่) ผันตัวมาเป็นผู้ออกแบบและผลิตเครื่องประดับโบราณ และหลายงาน คุณเจ คือ "ผู้จัด" ที่ดีไซด์งานให้เป็นรูปเป็นร่าง
แต่เมื่อเชียงใหม่ ศูนย์กลางการท่องเที่ยวภาคเหนือ "ปิด" แม้ไม่ปิดด้วยคำสั่ง แต่การท่องเที่ยวก็ปิดตัวโดยปริยาย เมื่อไม่มี Event สงกรานต์ที่เป็นงานใหญ่อย่างทุกปี
คุณเจ อ่านเกมขาดแต่ต้น ตั้งแต่ต้นปีเมื่อมีโควิด-19 ระบาด และเชียงใหม่ได้รับผลกระทบตั้งแต่ เดือน ก.พ.- มี.ค.
ผู้อยู่ในวงการจึงอ่านสัญญาณได้ไม่ยาก
"ซบยาว" คุณเจ เชื่ออย่างนั้น จึงตัดสินใจกลับบ้านเกิดที่ จ.สุโขทัย แต่เนิ่นๆ ยอมกักตัว 14 วัน และอยู่ที่นั่นจนถึงวันนี้
พูดอีกครั้ง "ถ้าไม่มีโควิด ก็คงไม่ได้หยุดอยู่ที่บ้าน" ที่ว่านาน นานหลายปีตั้งแต่ คุณเจ เรียนจบ เพราะช่วงเวลานี้ คือ "เงินทอง" ของคนในวงการ Event
"ปีนี้กลับบ้าน โดนยกเลิกงานตั้งแต่ช่วงแรก กลุ่มที่ตัดสินใจกลับบ้านถือว่าดี กลุ่มทีไม่กลับ ซบยาว ไม่มีรายได้และค่าใช้จ่ายเท่าเดิม"
แง่ดี คือธรรมชาติช่วย Reset ตัวเรา ถ้าตัดคำว่ารายได้ออกไป เราได้ความสุข เราได้อยู่กับครอบครัว
ทันทีที่ คุณเจ ถึง จ.สุโขทัย แล้วกักตัว 14 วัน โดยแยกบ้านกับพ่อแม่ เมื่อครบกำหนด คุณเจ เริ่มโครงการใหม่ทันที เพราะเชื่อว่าท่องเที่ยวเชียงใหม่ "ซบยาว" เริ่มลงมือลงแรงปลูกพืชผักสวนครัว
ยิ้มน้อยๆ เมื่อเหลือเวลาทำกับข้าวกับพ่อแม่ ที่ตั้งแต่จบมาทำงานก็ไม่ได้กลับมาช่วงสงกรานต์ นอกนั้นยังได้ช่วย พ่อแม่ ดูแลสวนส้ม
คุณเจ ถือว่าเป็น "ผู้โชคดี" ไม่มีหนี้สิน-ไม่ใช้จ่ายเกินตัว "ผมไม่ชอบผ่อน"
"การงาน" เมื่อไม่มี Event จึงไม่จำเป็นต้องอยู่เก็บตัวที่เชียงใหม่ ที่วันหนึ่งไม่ต่ำ 300-400 บาท แต่กลับมาบ้านวันละ 100 บาทก็เกินพอ ที่สำคัญ คุณเจ เน้นย้ำคือการวางแผน เมื่อแผนดีไม่มีภาระหนี้สิน
"การกลับบ้าน" จึงไม่ใช่เรื่องยาก
3.
"ครูเช็ค" เช็ก อะโหล อะโหล
"เช็ก อะโหล อะโหล" เสี่ยงมัคทายกเช็กไมค์ในงานบุญ ก่อนเสียงปี่แน-แตรวงจะดังขึ้น
ขบวนแห่ไม้ก้ำ (ไม้ค้ำยัน) จะเข้าวัด เพื่อทำบุญเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตใหม่ในเทศกาล "ปี๋ใหม่เมือง" หรือเทศกาลสงกรานต์
ประเพณีหลักที่จัดขึ้นแทบทุกวัด นอกจากการดำหัวขอพร ก็จะมีงานแห่ไม้ก้ำ หรือ ไม้ค้ำยันเพื่อความเป็นสิริมงคล
"ครูเช็ค" กร วีกิจ เป็นหนึ่งในนักดนตรีพื้นเมือง ที่ร่วม "วงแห่" ลักษณะนี้ ตั้งแต่เรียนมัธยมยันมหาวิทยาลัย และกระทั่งเรียบจบมาเป็นครู
ครูเช็ค จึงเป็นทั้งครูสอนภาษาไทย และเป็นครูดนตรีพื้นเมือง ที่เรียกว่า "ป้อครู" (พ่อครู) ด้วย
"ถ้าเป็นช่วงเวลานี้ของกู่ปี๋ (ทุกปี) งานชุก" ครูเช็คกล่าว
ปกติช่วงนี้ของปี ตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย. ครูเช็ค รับงานแทบไม่มีหยุด การแห่ปี๋แน นำขบวนแห่ไม้ค้ำ เป็นงานหนึ่งของครูเช็ค
"กู้เตื่อ (ปกติ) งานไม่ต่ำ 10 งาน ปี๋นี้ไม่มีเลย เขางดหมดเลย ทีแรกยังบอกลูกศิษย์จะพามายกขันครูที่บ้าน แต่เมื่อเป็นแบบนี้ก็บ้านใครบ้านมัน (ฮา)"
"คิดถึงงาน" จึงไม่ใช่แค่งาน แต่เป็นผู้คน ผู้คนที่นับรวมถึงผู้มาร่วมกิจการงานบุญ และเพื่อนพ้องลูกศิษย์ที่มาร่วมขบวนแห่
แม้ไม่มีขบวนแห่ไม่ค้ำยัน-งานดำหัว (ปกติจะมีงานบุญดำหัวเจ้าอาวาสทุกวัด เวียนกันไป) แต่สถานที่และเวลาในยุคนี้เปลี่ยน ช่องทางออนไลน์จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ ครู-ศิษย์ หรือเพื่อนได้รวมตัว
กลุ่มเฟซบุ๊กจึงเป็นที่หนึ่งที่ทำให้ ครูเช็ค...ไม่หยุดเช็ก
ให้ลูกศิษย์ส่งการบ้านผ่านเฟซบุ๊ก อัดคลิป ประลองฝีมือ สีสะล้อ-ดีดซึง ให้ครูเช็ค... ได้เช็กและคอมเมนท์
ส่วนคนที่ขยันเป็นพิเศษ ครูเชคเปิดโอกาสให้มาทดสอบกันสดๆ ผ่านทางวิดีโอคอล ถึงขั้นเช็กทุกเม็ด (เม็ด คือ ตัวโน๊ตในดนตรีพื้นเมือง รวมถึงลูกเล่นที่ใส่ในเพลงด้วย)
ถือโอกาสได้พักผ่อน เงียบสงบดี... แต่ปิดเทอมนี่ไข้เมิน (นาน) ไปหน่อย
ครูเชครู้สึกดีที่อย่างน้อยได้พักผ่อน แต่ครูเชคก็รู้สึกดีว่า "กึ๊ดเติงหา"
ความเป็น "ครู" ทั้ง 2 มิติ ไม่ว่าครูดนตรีพื้นเมือง หรือครูสอนภาษาไทย การปิดภาคเรียน และส่งเสริมการเรียนออนไลน์ยังเป็นปัญหาแก้ไม่ตก
เพราะ internet ไม่ได้ดีทุกที่ และ internet ไม่ได้มีทุกบ้าน นี่จึงไม่ใช่แค่ความคิดถึงห่วงหา แต่คือความคิดถึงถึงเยาวชนใน "ฤดูโควิด" ด้วย
4.
Misscall จาก "ยะลา" ถึง "อุดรธานี"
ชีวิตไม่ติดบ้าน เหมือนจะเหมาะกับชีวิตสาวยะลา อย่าง "คุณกวาง" กมลเนตร มีชัย
ไม่ติดบ้าน ไม่ได้แปลว่าเธอมีบ้าน แล้วชอบเที่ยวนอกบ้าน แต่ชีวิตตั้งแต่เริ่มมหาวิทยาลัย เธอคือนิยามของคนไกลบ้านโดยแท้
สาวยะลา ที่แอดมิชชั่นเข้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เรียนจบเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ กระทั่งไม่กี่ปีที่ผ่านมาย้ายไปทำงานในรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่งที่ จ.อุดรธานี
ใต้ เหนือ กลาง อีสาน... เธออยู่อย่างจริงจังมาเกือบทุกภูมิภาคของประเทศไทย
ขวา-กวาง กมลเนตร มีชัย
แน่นอนว่าชีวิตเธอ ห่างไกลครอบครัวเป็นปกติ และช่วงเทศกาลคือเวลาสำคัญที่จะอยู่พร้อมหน้า-ครบคน
ปีนี้คุณกวางมีแพลนอันซับซ้อน เพราะพ่อแม่ น้องสาว และญาติๆ อยู่กันคนละที่ละทาง
เธอวางแผน ขับรถไปกรุงเทพฯ ไปที่บ้านน้องสาว และรอแม่บินมาจากใต้ (แม่และพ่อมีบ้านที่ จ.ยะลา) เพื่อมารวมตัวกันที่กรุงเทพฯ โดยมี เธอ น้องสาว และแม่
จากนั้นค่อยนั่งเครื่องกลับไปใต้ ลงสนามบิน จ.สงขลา เพื่อไปเยี่ยมตา-ยาย ที่นั่น ... และพ่อของเธอก็ขับรถจากยะลาตามมาสมทบ
ฟังดูซับซ้อน แต่ไม่ใช่เรื่องแปลกของคนไกลบ้าน ที่พวกเขาจะต้องวางแผนเดินทางแบบนี้ เพราะพ่อแม่มาเยี่ยมลูกที่กรุงเทพฯ ก็เพื่อมาดูความเป็นอยู่ และการที่ลูกกลับไปบ้านเกิด ก็เพื่อเยี่ยมเยือนตายายและญาติๆ
เอาเป็นว่า ปีนี้ แพลนของเธอถูกพับเก็บ เพราะแม้แต่พ่อแม่ก็ต้องเก็บตัวอยู่ที่ จ.ยะลา ไม่เดินทางไปเยี่ยมตายายที่ จ.สงขลา เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
ขณะที่ เธอและน้องสาว เดิมทีที่มีแผนไปรวมตัวกันที่กรุงเทพฯ ก็พับแผนทันที่เมื่อโควิด-19 ระบาด
แม้ว่าพ่อแม่ของพวกเธอลองพยายามจะมาเยี่ยมที่กรุงเทพฯ แล้วในช่วงแรกๆ ที่เริ่มมีการปิดเมือง แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องขออนุญาตจากหลายระดับ ตั้งแต่ท้องที่ยันคณะกรรมการโรคติดต่อของจังหวัด
"โทรหาแม่ทุกวันอย่างที่ทำอยู่แล้ว แต่ตากับยายแก่มากแล้ว เวลาโทรหาต้องโทรหาลุงป้า ปีนี้ต้องบอกแก เพราะปกติลูกหลานไปหา แต่ปีนี้ไปกันไม่ได้ แม้แต่พ่อแม่ก็ไปไม่ได้"
ภาพตัดมาที่ จ.อุดรธานี ในหอพักคนทำงานอย่างเธอ เงียบ!
เงียบ! ที่ว่าไม่ได้หมายถึงผู้คนที่ไม่พลุกพล่านย่านหอพัก แต่หมายถึง "เงียบเชียบ" จริงๆ เพราะคนวัยทำงานส่วนใหญ่ย้ายออกหอเกือบหมด เหลือเพียง 3-4 ห้อง ของคนที่ทำงานประจำ และยังได้เงินเดือนเลี้ยงปากท้อง ส่วนที่เป็นลูกจ้างล้วนแต่ย้ายหนีกลับภูมิลำเนา เพราะที่ จ.อุดรธานี ยังเข้าออกได้
"ปีที่แล้ว พ่อแม่มาหาที่นี่ (อุดรฯ) บินมาที่กรุงเทพฯ มาหาน้อง แล้วให้น้องขับรถพามาที่อุดรฯ มาดูความเป็นอยู่ของเราด้วย เพราะตอนนั้นเพิ่งมาอยู่ใหม่ๆ พ่อแม่เพิ่งจะเคยมาเยี่ยม
ถ้าถามว่า รู้สึกยังไงที่ปีนี้ไม่ได้เจอหน้ากัน ก็คงเฉยๆ... เพราะปกติไม่ค่อยได้อยู่ด้วยกัน"
ถึงบรรทัดนี้ คำว่า "เฉยๆ" นั้น...รู้สึกไม่เฉยเลย แม้คนไกลบ้านมักชินชากับระยะทาง แต่ความห่างกับคนในครอบครัวนั้นเรารู้ดีอยู่ที่ใจ
"สงกรานต์" ที่ไม่มีสงกรานต์ ถ้ารู้สึก "คิดถึง" คงไม่ใช่เรื่องแปลก แต่เชื่อเถอะว่านับร้อยนับพันความคิดถึงของผู้คนในตอนนี้ จะมีเรื่องราวดีๆ ที่คุณ "คิดถึง" และชวนให้ยิ้มออกมา
หรืออย่างน้อยท่ามกลางโรคระบาดที่เป็นวิกฤตหนักหนา ก็ช่วยทำให้เราได้มีเวลาได้ "คิดถึง"