วันนี้ (21 มี.ค.2563) หลังจาก พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ขอความร่วมมือให้รถไฟฟ้า ขนส่งสาธารณะ จะลดจำนวนผู้ใช้บริการ ทั้งระบบล้อ ราง เรือ เพื่อลดการแพร่เชื้อ ซึ่งอาจจะกระทบกับประชาชนที่จะรอรถนานขึ้น โดยจะเริ่มมาตรการในวันพรุ่งนี้ (22 มี.ค.) นั้น
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวยืนยันว่า บีทีเอสจะไม่ปรับลดความถี่ขบวนรถ จะให้บริการความถี่สูงสุดเช่นเดิม เพื่อให้ผู้โดยสารมีระยะห่างในการเดินทางมากขึ้น และจะขอความร่วมมือจากผู้โดยสารในการใช้ระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing บริเวณชานชาลาและในขบวนรถ โดยจะมีเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำแก่ผู้โดยสาร
สิ่งสำคัญขณะนี้ คือการขอความร่วมมือให้ผู้โดยสารสวมหน้ากากอนามัยเมื่อใช้บริการรถไฟฟ้า เพื่อให้ผู้ใช้บริการเกิดความมั่นใจ และป้องกันการระบาดในระบบเดินรถทั้งในขบวนรถและในสถานี
ส่วนจำนวนผู้โดยสารขณะนี้ คาดว่าจะมีจำนวนลดลงอีก โดยขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการประเมินตัวเลขผู้โดยสาร เนื่องจากขณะนี้เป็นช่วงปิดภาคเรียนของนักเรียนและนักศึกษา รวมถึงมีพนักงานบริษัทเอกชนที่ใช้มาตรการทำงานที่บ้าน และเชื่อว่าจะมีผู้โดยสารลดลงอีกจากการประกาศให้ปิดห้างสรรพสินค้า ซึ่งทำให้พนักงานบางส่วนหายไป
ด้านนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า รฟม. ยังให้บริการความถี่ขบวนรถสูงสุด และจะเพิ่มเรื่องการคัดกรองด้วยการวัดอุณหภูมิและการทำความสะอาดเพิ่มขึ้น ซึ่งจากการประกาศมาตรการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ผู้โดยสารมาใช้บริการลดลง เนื่องจากหลายบริษัทให้พนักงานทำงานอยู่ที่บ้าน
โดยรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงเวลาปกติมีผู้โดยสารประมาณ 3 คน แต่ปัจจุบันมีผู้โดยสารประมาณ 380,000 คนเท่านั้น ส่วนการทำมาตรการระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing จะเป็นการขอความร่วมมือผู้โดยสาร เนื่องจากบางช่วงเวลามีผู้โดยสารหนาแน่น
นายจิรศักดิ์ เยาว์วัชสกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เปิดเผย ว่า ขณะนี้กำลังติดตามสถานการณ์การเดินทางผู้โดยสารอยู่ ซึ่งยังเป็นปกติ ไม่ได้มีการเดินทางไปต่างจังหวัดเพิ่มอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมามีผู้โดยสารซึ่งทำงานในสถานบริการได้เดินทางกลับภูมิลำเนาเป็นจำนวนมาก
ขณะที่ในพรุ่งนี้ (22 มี.ค.63) บขส.มีแผนที่จะพิจารณาร้านค้าที่จำหน่ายสินค้าในสถานีขนส่ง ตามนโยบายของกทม. เช่น ร้านขายเสื้อ หรือร้านขายอุปกรณ์อื่นๆซึ่งไม่เกี่ยวกับร้านจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค จะหารือกับผู้รับสัมปทานว่าจะให้ปิดร้านไปก่อน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19