ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดปม : ใบสั่งนกเงือก

สิ่งแวดล้อม
30 ต.ค. 62
15:21
3,655
Logo Thai PBS
เปิดปม : ใบสั่งนกเงือก
ลักลูกนกจากโพรง และ ล่าตัดหัวนกชนหิน คือภัยคุกคามสำคัญที่กำลังเกิดขึ้นกับนกเงือกทั้ง 13 ชนิดที่มีอยู่ในประเทศไทย โดยเฉพาะนกชนหินที่คาดว่า ปัจจุบันเหลืออยู่ไม่ถึง 100 ตัว

ใบสั่งซื้อนกเงือกว่อนเขาบูโด

แหล่งข่าวในหมู่บ้านรอบเทือกเขาบูโดให้ข้อมูลกับไทยพีบีเอสว่า มีผู้เข้ามาเสนอราคารับซื้อลูกนกเงือกถึงหมู่บ้าน โดยเจาะกลุ่มวัยรุ่นที่ติดยาเสพติดให้เป็นผู้ลักลอบขโมยลูกนก 

ลูกนกกก และ นกเงือกกรามช้าง ราคาอยู่ที่ตัวละ 2,000 บาท ลูกนกเงือกหัวแรด และ นกเงือกปากดำหรือกาเขา อยู่ที่ตัวละ 2,000 - 3,000 บาท หากเป็นนกเงือกหัวหงอก ราคาอยู่ที่ 10,000 - 12,000 บาท นกชนหินราคาสูงที่สุดในบรรดานกเงือกทั้งหมด ลูกนกชนหินหนึ่งตัว ราคา 12,000 บาทขึ้นไป แต่หากส่งให้ได้ทั้งหมดคือ พ่อกับแม่ของลูกนกชนหินด้วย ราคาจะสูงถึง 45,000 บาท เพราะหัวของนกชนหิน เป็นเครื่องประดับราคาแพงในตลาดมืดขณะนี้

 

องค์กรเฝ้าระวังการค้าสัตว์ป่า หรือ TRAFFIC สำรวจติดตามและศึกษาการค้านกชนหิน รวมถึงชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ของนกเงือกชนิดพันธุ์อื่นๆ ในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ หรือ เฟซบุ๊กทั้งในกลุ่มเปิดและกลุ่มปิดในประเทศไทย เป็นระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 ถึงเดือนเมษายน 2562 พบมีการโพสต์อย่างน้อย 236 โพสต์ที่เสนอขายชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์จากนกเงือกมากกว่า 546 ชิ้นใน 32 กลุ่มจากทั้งหมด 40 กลุ่ม และ ยังพบว่า ร้อยละ 83 ของผลิตภัณฑ์จากนกเงือก เป็นชิ้นส่วนของหัวนกชนหิน

ของกลางคดีลักลูกนกเงือกเพิ่มขึ้นทุกปี

ในช่วงสองปีที่ผ่านมามีคดีล้วงโพรงลักลูกนกเงือกเกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนใต้ทั้งหมด 8 คดี มีของกลางส่งมายังสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าโคกไม้เรือ จ.นราธิวาสทั้งหมด 12 ตัว

เจ้าหน้าที่ประจำสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าโคกไม้เรือบอกว่า จำนวนลูกนกเงือกที่ถูกลักจากโพรงถูกส่งมาที่นี่อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561 และมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ปัจจุบัน มีนกเงือกอยู่ในความดูแลของสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าแห่งนี้ 45 ตัว เป็นทั้งของกลางที่ยึดสะสมไว้ และ ได้จากชาวบ้านจากเคสแก้ไขปัญหา ที่ผ่านมามีข้อมูลว่า ลูกนกเงือกที่หลุดรอดจากการตรวจยึดของเจ้าหน้าที่ถูกลำเลียงไปยังภาคกลางอย่างกรุงเทพและนครปฐมส่งขายให้กับผู้นิยมเลี้ยงสัตว์ป่า

ลูกนกเงือกหัวแรด  5 ตัวยึดจากชายวัย  31 ปี ที่ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เมื่อเดือน ก.ค.2562 ภาพ :สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 6 (ปัตตานี)

 

ภัยคุกคามนกเงือกสะเทือนผืนป่าทั้งระบบ

ไม่ว่าจะล่านกเงือกเพื่อเอาเนื้อ หัว หรือลูกนก การล่าเหล่านี้ไม่เพียงส่งผลต่อจำนวนประชากรของพวกมัน แต่กลับส่งผลต่อระบบนิเวศของป่าไม้ด้วย

นกเงือกได้ชื่อว่าเป็นสัตว์นักอนุรักษ์ พันธุ์ไม้ที่พวกมันช่วยปลูกโดยไม่ตั้งใจ จะกลายเป็นไม้ชนิดพันธุ์ที่เป็นร่มเงาให้กับสัตว์ชนิดอื่นและพืชชนิดอื่นๆ (Umbrella species) ทำให้สังคมพืชเกิดความสมดุล

มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า นกเงือกอาจมีอายุยืนถึง 30 ปี แต่ละตัวสามารถช่วยกระจายเมล็ดพันธุ์มากกว่า 100 ต้น/สัปดาห์ ต้นไม้เหล่านี้มีอัตรารอดตายเติบโตเป็นไม้ใหญ่ราวร้อยละ 5 ดังนั้น ตลอดชีวิตของนกเงือกหนึ่งตัว จึงอาจปลูกต้นไม้ใหญ่ได้ถึง 500,000 ต้น

นอกจากนี้ นกเงือกยังมีความอ่อนไหวต่อสภาพป่าที่เปลี่ยนแปลงไป นักวิจัยจึงสามารถใช้นกเงือกเป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของป่าแต่ละแบบได้อีกด้วย

จิราภรณ์ ศรีแจ่ม ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส รายงาน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง