เรื่องไหนมีคนเสีย ก็มักมีคนได้ ใครเป็นคนฉวยโอกาสจากกระแสแบน 3 สารเคมีเกษตร ขณะนี้หลายฝ่ายออกมาแสดงข้อเสนอ ทางเลือกและทางออกว่าหากยกเลิกใช้ 3 สารเคมีอย่าง พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอไพรีฟอส แนวทางหนึ่งถูกเสนอมาเมื่อวานนี้ (15 ต.ค.) จากนักวิชาการของกรมวิชาการเกษตรที่ให้ข้อมูลและเสนอทางเลือกให้กรรมาธิการสารเคมี ในฐานะนักวิชาการ โดยระบุว่าในช่วงเปลี่ยนผ่านต้องใช้วิธีการผสมผสาน
ผสมผสานที่ว่าคือ ยังใช้เคมีที่น่าจะอันตรายน้อยกว่า ผสมกับการใช้อุปกรณ์เครื่องจักรกลเกษตร ตัวอย่างที่ยกมาเสนอ เช่น การปลูกข้าวโพด ถ้าไม่ใช้สารเคมีจะเป็นแบบไหน แบบแรก คือ ใช้แรงงานดายหญ้าอย่างเดียว 2 ครั้ง อีกแบบหนึ่งใช้รถไถพรวนระหว่างแถว 1 ครั้งและดายหญ้า 1 ครั้ง แต่มีข้อจำกัดคือต้องเป็นพื้นที่เหมาะสมกับรถไถ
ส่วนแบบ 3 ต้องใช้สารเคมีเกษตรอื่น กำจัดวัชพืชก่อนงอก อาจเป็นอะลาตคลอร์ อะทราซีน เอส-เมโทลาคลอร์ ไนโคซัลฟูรอน อะเซโคลอร์ อะทราซีน+อะลาคลอร์ ซึ่งเป็นวิธีที่จะใช้ทดแทน และอีกวิธีคือใช้กลูโฟซิเนตแอมโมเนียมไปเลย 2 ครั้ง ซึ้งทั้งหมดนี้ยังเป็นเพียงข้อเสนอ
ขณะที่สารเคมีที่อาจเป็นทางเลือกตัวอื่นๆ ถูกบางฝ่ายหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอีกหลายชนิด ซึ่งตัวอย่างที่ยกมานี้มีการระบุว่ามีคุณสมบัติและประสิทธิภาพของสารที่จะใช้ทดแทน 3 สารเคมีที่กำลังจะมีมติยกเลิกการใช้ ทางเลือกที่หยิบยกมาทั้ง 2 กรณี น่าจะเข้าข่ายที่ว่าเอาสารเคมีมาแทนสารเคมีอยู่ดี
ผู้แทนกรมวิชาการเกษตรในฐานะนักวิชาการ ยอมรับว่า มีเอกชนมาเสนอว่าสารเคมีที่จะมาทดแทนของเดิม จากเดิมราคาเกือบ 500 บาท จะดั๊มราคาขายปลีกลงมาเหลือ 180 บาทต่อลิตรได้ เพียงแต่ขอให้รัฐบาลมีมาตรการ fasttrack เปิดทางนำเข้าให้เร็วและมาก เพื่อลดแรงแรงกดดันแบนสารเคมีที่ใช้อยู่เดิม เพราะการแบนทันทีจะทำให้เกิดคำถามว่า แบนแล้วทำยังไงต่อ แบนสารเคมีแล้วหันไปทำเกษตรอินทรีย์ทันที ซึ่งในทางปฏิบัติทำได้ทันจริงหรือไม่ ขณะที่จะให้เลิกสารเคมีไปเลยก็เห็นจะยาก
นายอัคคพล เสนาณรงค์ ผอ.สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร ระบุว่า การไม่ใช้สารเคมีการเกษตรเลย มันคือการทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งยังไม่มีประเทศไหนในโลกที่ทำได้ทั้งประเทศ เพราะฉะนั้นคำตอบทางวิชาการคงเป็นไปไม่ได้ ขณะที่ทางออกที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุด คือเราต้องพยายามใช้สารเคมีเท่าที่จำเป็นและค่อนข้างปลอดภัย ผสมผสานกับวิธีอื่น
อัคคพล เสนาณรงค์
ทางเลือกที่เชื่อว่าสารเคมีมาทดแทนสารเคมี เพื่อทำให้ช่วงเปลี่ยนผ่านไม่มีปัญหา นั่นทำให้เกิดคนที่ได้และคนที่เสียประโยชน์จากบางฝ่าย ยกตัวอย่างว่าหนึ่งในสารเคมีที่นักวิชาการเสนอให้มาแทนพาราควอตและไกลโฟเซต มีชื่อว่า กลูโฟซิเนต แอมโมเนียม พบข้อสังเกตบางอย่าง ทั้งใบอนุญาตขึ้นทะเบียนของสารเคมีชนิดนี้ ปกติเฉลี่ยขอปีละ 5 ใบ แต่ปี 2561 เมื่อมีกระแสผลักดันแบนสารเคมีแรงขึ้น กลับพบใบอนุญาตขยายเป็น 42 ใบอนุญาตทันที และปริมาณนำเข้าระยะหลังก็พุ่งขึ้นมาก
เมื่อสำรวจตามร้านจำหน่ายเคมีเกษตร พบว่ามีการจำหน่ายโดยทั่วไป สารเคมีตัวนี้ราคาเคยสูงอยู่ที่ 400-500 บาทต่อลิตร ระยะหลังราคาลดลงมาประมาณ 100 บาทต่อลิตร ทั้งนี้ไม่ได้เจาะจง หรือจับผิดสารนี้ แต่ถ้ามี fasttrack ให้เร่งนำเข้ามาทดแทนจริงๆ แล้วใครจะได้ประโยชน์ ธุรกิจสารเคมีอาจปรับตัวได้ แค่เปลี่ยนชนิดสารเคมีที่จะขายเท่านั้น ขณะที่พาราควอตราคาในตลาดก็เปลี่ยนแปลงแล้วเช่นกัน
เป็นตัวอย่างที่พอจะชี้ให้เห็นว่า นโยบายของรัฐบาจทำให้ธุรกิจได้หรือเสียประโยชน์ตามไปด้วย อาจไม่ใช่แค่กลุ่มผู้ค้าผู้ผลิตสารเคมีเท่านั้น ที่สบช่องประโยชน์จากแรงกดดันการยกเลิกสารเคมีในเวลาอันสั้น ยังมีผู้เกี่ยวข้องอีกมากมายที่มีบทบาทในช่วงนี้ ที่เข้มข้นมากคือ ฝ่ายการเมือง นักวิชาการ องค์กรไม่แสวงหากำไร ธุรกิจสินค้าเกษตร หรือสิ่งเกี่ยวเนื่องอื่นๆ ที่ล้อตามกระแสที่เกิดขึ้น
แต่ฝ่ายที่รับผลกระทบเต็มๆ คือ เกษตรกร ที่ถูกกำหนดชะตาตามกฎหมายว่าให้ใช้อะไร ไม่ให้ใช้อะไร อีกกลุ่มใหญ่คือผู้บริโภค ถ้ากฎหมายยอมให้ใช้สารเคมีก็บริโภคสินค้าเกษตรผสมสารเคมีต่อไป และถ้าห้ามใช้ก็จะได้บริโภคสินค้าอินทรีย์แพงหรือไม่แพงก็ตามตลาดกำหนด ผู้บริโภคก็ไม่ได้มีทางเลือกมากเท่าไหร่
ภาพผลประโยชน์ที่กำลังฉกฉวยในกระแสแบนสารเคมีจะค่อยๆ ชัดเจนขึ้น ซึ่งขณะนี้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องยังไม่มีคำตอบชัดๆ ว่าหากแบนแล้ว จะมีอะไรมารองรับเป็นทางเลือก โรดแมปที่จะไปถึงคืออะไร แม้คาดว่าอีกไม่กี่วันคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะประชุมกันเรื่องนี้