ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

อาสาฯ พายเรือเพื่อเจ้าพระยา พบขยะจงใจทิ้ง ส่งผลคุณภาพน้ำต่ำ

Logo Thai PBS
อาสาฯ พายเรือเพื่อเจ้าพระยา พบขยะจงใจทิ้ง ส่งผลคุณภาพน้ำต่ำ
วันที่ 7 ของกิจกรรม "พายเพื่อเจ้าพระยาฯ ปี 2" พบ ยิ่งเข้าใกล้ กทม. คุณภาพน้ำยิ่งต่ำ ขณะที่เมื่อเข้าใกล้เขตชุมชนพบขยะถุงใหญ่จำนวนมาก คาดมาจากตั้งใจทิ้งลงแม่น้ำ "ภาคประชาสังคมอยุธยา" แบ่งปันประสบการณ์จัดการขยะกระตุ้นประชาชนร่วมรักษาแม่น้ำลำคลอง

วันนี้ (7 ต.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อาสาสมัครพายเรือเพื่อเจ้าพระยา เก็บขยะจากปากน้ำโพถึงจังหวัดสมุทรปราการ เดินทางถึง จ.พระนครศรีอยุธยา ร่วมหารือกับภาคประชาสังคมถึงแนวทางการแก้ปัญหามลพิษทางน้ำ หลังพบขยะริมฝั่ง และคุณภาพน้ำต่ำที่สุดจากที่เคยประมาณมาก่อนหน้านี้

นายทัพพ์ มีทรัพย์วัฒนา หนึ่งในอาสาสมัครพายเรือเพื่อเจ้าพระยา ระบุว่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นเมืองน้ำ มีบ้านพักอาศัย รีสอร์ทอยู่บริเวณริมน้ำ จึงมีขยะริมน้ำจำนวนมาก ตามคูคลองก็มีขยะจากเศษอาหารที่ถูกผูกถุงลอยน้ำมา บริเวณสะพานข้ามคลองก็มักจะมีชาวบ้านนำขยะมาทิ้งที่ใต้เชิงสะพาน บริเวณริมตลิ่งใกล้ชุมชนก็มีขยะที่เป็นสิ่งปลูกสร้าง เช่น โทรทัศน์ ส้วม ซึ่งคาดว่าเกิดจากการทิ้งของผู้รับเหมาก่อสร้างที่ทุบบ้านสร้างใหม่ แล้วไม่นำขยะเหล่านี้ไปทิ้งให้ถูกทาง

คนส่วนใหญ่อาจคิดว่าไม่ใช่ขยะ แต่จริง ๆ แล้วกลายเป็นขยะที่กำจัดยาก หรือแม้แต่ศาลาริมน้ำ และที่สาธารณะอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้น้ำ ก็จะมีคนเอาขยะมาทิ้ง ก็ชัดเจนว่าขยะเกิดจากการตั้งใจทิ้งไม่ถูกทาง ซึ่งขยะที่พบเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังคาดว่ามีขยะอีกจำนวนมากจมอยู่ในน้ำ


รักแม่น้ำเจ้าพระยา ฉบับ "คนกรุงเก่า"

ช่วงของการเสวนา “ชุมชน ศาสนา และการอนุรักษ์แม่น้ำเจ้าพระยา” มีผู้นำทางศาสนาและผู้นำชุมชนร่วมกันพูดคุยเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาขยะในแม่น้ำ

นายสมพงษ์ คล้ายใจ ผอ.สถาบันเรียนรู้ภาคประชาชนพระนครศรีอยุธยา และสภาอภิบาล วัดนักบุญยอแซฟอยุธยา ระบุว่า ในโอกาสครบรอบ 350 ปี ของวัดนักบุญยอแซฟอยุธยา จึงมีการคิดว่าจะทำอะไรบ้าง เมื่อก่อนนี้ นักบวช การเผยแผ่ศาสนาทางเรือ ศาสนสถานจึงเกิดขึ้นรอบ ๆ เมือง ซึ่งสัตตบุรุษหรือสมาชิกของวัดก็เคยอยู่บริเวณริมน้ำ แต่ภายหลังได้มีการย้ายขึ้นมาอยู่บนบก แต่ทุกวันนี้ก็ยังมีการรณรงค์ให้คัดแยกขยะในครัวเรือน

ธนาคารขยะในโรงเรียนยอแซฟอยุธยา ให้คุณครู ผู้ปกครอง เด็ก ๆ ที่โรงเรียนฯ ได้นำขยะมาขาย และทุกเดือนจะมีคนมารับซื้อขยะ ได้เงินกลับมาเดือนละประมาณ 3 พันบาท แต่ยังมีขยะส่วนหนึ่งที่ขายไม่ได้และนำไปเผาเกิดมลพิษ วันนี้เมื่อได้มาร่วมกิจกรรมพายเรือเพื่อเจ้าพระยา คิดว่าจะนำขยะที่เคยเผาจะเอาไปแปรรูปสร้างมูลค่าต่อไป

ด้าน ว่าที่ร้อยตรี ไฟซ้อล บุญรอด ประธานองค์กรชุมชน จ.พระนครศรีอยุธยา และกรรมการบริหารมัสยิดกุฎีช่อฟ้า มองว่า ศาสนาอิสลามสอนให้ความสะอาดเป็นส่วนหนึ่งของความศรัทธา มุสลิมต้องสะอาด ทั้งร่างกายและจิตใจ การจะเข้าเฝ้าพระเจ้าแต่ละครั้งต้องทำความสะอาดร่างกายก่อน ทางผู้นำศาสนาก็จะมีการเทศน์บอกตักเตือนกันเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม เรื่องการรักษาความสะอาด การดูแลพื้นที่ แต่ปัจจุบันทุกคนมีวิถีชีวิตที่รักความสะดวกสบาย เช่น การบริโภคที่เน้นซื้ออาหารสำเร็จรูปที่ใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก ผิดกับสมัยก่อนที่ใช้ใบตองห่อแทน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำลายความเป็นชุมชนสมัยก่อน

สำหรับการจัดการเชิงนโยบายคิดว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมจึงต้องช่วยกันแก้ไขตั้งแต่ระดับครัวเรือน ชุมชน ท้องถิ่น แต่เดิม ในชุมชนใช้ระบบเผาขยะ แต่ผลปรากฏว่าขยะมีควันพิษ มีเขม่าควันจำนวนมาก จึงคิดวิธีการจัดการขยะใหม่เป็นการจัดเก็บขยะโดยท้องถิ่น ชุมชนก็คิดว่าเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของท้องถิ่นแต่เพียงฝ่ายเดียว ไม่ได้มองว่าเป็นธุระของตัวเองที่ต้องร่วมจัดการ ดังนั้น การจัดการขยะให้ถูกวิธีจึงต้องมีการให้ความรู้ด้านการคัดแยกขยะ เพื่อสร้างการตระหนักรู้ของคน และแม้ทางจังหวัดจะมีนโยบายมากมาย เช่น อยุธยาเมืองสะอาด แต่ปัจจุบันก็ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก

ถ้าภาครัฐมีมาตรการเข้มงวดในการเอาผิดกับผู้ที่ลักลอบทิ้งขยะไม่ถูกที่ถูกทาง จะเป็นอีกวิธีที่ช่วยให้เกิดการกระตุ้นให้รับผิดชอบขยะของตัวเองมากขึ้น


ขณะที่ นายชาญชัย ถารีพันธ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสำเภาล่ม อ.พระนครศรีอยุธยา ชี้แจงว่า ภาครัฐเอง ก็พยายามตั้งจุดทิ้งขยะประจำชุมชนให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ และสร้างจิตสำนึกให้กับประชาชนโดยสร้างความร่วมมือกับชุมชน โรงเรียน ศาสนสถาน เป็นพื้นที่ต้นแบบที่ดีในการจัดการขยะ และพยายามติดป้ายประชาสัมพันธ์ “เขตปลอดขยะ” ให้ชัดเจน เพื่อรณรงค์ไม่ให้คนทิ้งขยะในแม่น้ำ สร้างจิตสำนึกใหม่ให้กับคน และอบรมคัดแยกขยะมากขึ้น แต่คงต้องใช้เวลาในการดำเนินงาน พระผู้คนยังติดนิสัยเดิม ๆ

นายชาญชัย ยังระบุอีกว่า กลุ่มประชากรแฝงในพื้นที่ที่มาพร้อมกับนิคมอุตสาหกรรมและนักท่องเที่ยว เป็นสาเหตุหนึ่ง เพราะการย้ายถิ่นอาจทำให้ไม่ได้คำนึงถึงการอนุรักษ์พื้นที่ที่อาศัยอยู่อย่างเพียงพอ จึงต้องประชาสัมพันธ์ปลูกจิตสำนึก นอกจากนี้จะมีการพยายามสร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการหอพักและการท่องเที่ยว ให้ประชาสัมพันธ์กับคนกลุ่มนี้ต่อไป


สำหรับ อาสาสมัครพายเรือเพื่อเจ้าพระยาฯ วันนี้ (7 ต.ค.) สามารถเก็บขยะในแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขต จ.พระนครศรีอยุธยา ได้ทั้งหมด 188.1 กิโลกรัม เป็นขยะทั่วไปมากที่สุด และขยะรีไซเคิล ขยะอินทรีย์ ขยะอันตราย ตามลำดับ ส่วนปริมาณออกซิเจนละลายในน้ำอยู่ในเกณฑ์คุณภาพพอใช้ 4.1 มิลลิกรัม ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุด หากเทียบกับคุณภาพน้ำที่วัดมาตลอดระยะทางจาก จ.นครสวรรค์ ถึง จ.พระนครศรีอยุธยา

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พลิกปมข่าว : พายเรือเพื่อเจ้าพระยา ปี 2

"คุณหญิงกัลยา" เล็งบรรจุหลักสูตรแยกขยะพลาสติกในโรงเรียน

"ธรรมศาสตร์" ระดมอาสาฯ พายเรือเก็บขยะ ปากน้ำโพถึงอ่าวไทย

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง