วันนี้ (7 ต.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการประชุมนัดแรกของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้หารือเพื่อแก้ไขปัญหาสารเคมีเกษตรที่มีอันตรายร้ายแรง ขณะที่ช่วงเช้าที่ผ่านมา มีความเคลื่อนไหวของวุฒิสภาบางกลุ่ม ที่ออกมาแถลงเรียกร้องให้รัฐบาลแบนสารเคมี 3 ชนิด
ส.ว.หนุนรัฐบาลแบนสารเคมี
นพ.อำพล จินดาวัฒนะ และ รศ.สังศิต พิริยะรังสรรค์ สมาชิกวุฒิสภา เป็นตัวแทนสมาชิกวุฒิสภาส่วนหนึ่ง แถลงสนับสนุนและเรียกร้องให้รัฐบาลตัดสินใจอย่างเป็นเอกภาพ ในการแบนหรือยกเลิกการใช้สารกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง 3 ชนิด คือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ที่ยื้อกันมาหลายปี โดยกล่าวว่า ข้อมูลเรื่องผลกระทบทั้ง 3 สาร เป็นที่ประจักษ์ชัดเจนแล้ว การที่ รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่าจะนำข้อสรุปที่ได้จากการประชุมวันนี้ ร่วมกับฝ่ายต่าง ๆ ประกอบการยกเลิกสารเคมีเกษตร 3 ชนิด ยื่นต่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย และจะไปเฝ้าเพื่อรอผลการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายด้วยตัวเองถึงหน้าห้อง ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ชัดเจนในการแก้ปัญหา
นพ.อำพล ยังระบุอีกว่า ก่อนหน้านี้ การที่รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงอุตสาหกรรม ก็ย้ำชัดในจุดยืนการยกเลิก ดังนั้น เมื่อรัฐบาลมีนโยบายชัดเจนที่จะแบนสารเคมี 3 ชนิด ก็ทำได้ทันที โดยผ่าน คณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่มีสัดส่วนจากภาครัฐมากกว่า ซึ่งจะเป็นบทพิสูจน์ความเป็นเอกภาพทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง
นาน ๆ จะเห็นปรากฏการณ์ที่ฝ่ายการเมืองหลายพรรค คิดและทำร่วมกันในทิศทางเดียวกัน ถ้าใครหรือฝ่ายใด ค้านหรือเอาซุงไปขวาง น่าจะเป็นอันตราย ถ้ารัฐบาลหรือนายกฯ ฟันธงให้เป็นเอกภาพ โอกาสสร้างสิ่งดี ๆ จะเกิดขึ้นได้ พิสูจน์ว่ารัฐบาลหลายพรรคการเมือง ถ้าทำเพื่อประโยชน์ประชาชนจริง ๆ ถึงจุดที่ทำได้ สังคมก็จะเห็นภาพใหม่
ด้าน นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษร้ายแรง 686 องค์กร องค์กร ระบุว่า การประชุม 4 ฝ่ายวันนี้ หากจะเป็นการพิสูจน์ว่าไม่มีการยื้อเวลา เช่นกรรมการชุดต่าง ๆ ที่เคยมีการตั้งมา จะต้องเป็นการหารือไปสู่การรองรับการยกเลิกสารเคมี 3 ชนิดเท่านั้น พร้อมกับการหามาตรการหนุนเสริมการยกเลิก เช่น การหาทางเลือกทดแทน อย่างการใช้สนับสนุนยกเว้นภาษีเครื่องจักรในการกำจัดวัชพืช และส่งเสริมการใช้สารชีวภาพ, การส่งเสริมการขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์และเกษตรกรรมยั่งยืน รวมถึงสารเคมีที่เอกชนนำเข้ามาแล้วจะจัดการอย่างไร
สำหรับการประชุมนัดแรกของคณะกรรมการ 4 ฝ่าย วันนี้ เป็นไปตามสั่งการของนายกรัฐมนตรีที่ส่งถึงคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่ต้องการให้มีการสร้างความเข้าใจ ถึงผลกระทบ และทางออกการแก้ไขปัญหาสารเคมี 3 ชนิด และคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติมอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปดำเนินการ
ด้าน น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประกาศขอนั่งหัวโต๊ะเป็นประธานการหารือของ 4 ฝ่าย และได้ให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่า ผลการประชุมจะเปิดเผยต่อสาธารณะว่าใครมีความเห็นอย่างไร เพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่าเมื่อตัวแทนภาครัฐไปประชุมร่วมกับคณะกรรมการวัตถุอันตราย จะบิดพลิ้วจากผลสรุปในวันที่ 7 ตุลาคม นี้ไม่ได้
"ประชาธิปัตย์" ย้ำ การกระทำสำคัญกว่าคำพูด
นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรค และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรคประชาธิปัตย์ แถลงยืนยันว่า พรรคพร้อมยกเลิกสารเคมีทางการเกษตรฯ ทั้ง 3 ชนิด และที่ผ่านมาก็ได้ผลักดันเรื่องเกษตรอินทรีย์และการใช้สารออร์แกนิกทดแทน แต่ที่ออกมาแสดงความเห็นช้า เพราะคิดว่าการกระทำสำคัญกว่าคำพูด
นายปริญญ์ ยังระบุด้วยว่า รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยอมรับว่า หากยกเลิกต้องมีมาตรการเยียวยาให้กับเกษตรกร ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ จะเป็นผู้ดำเนินการ
"เฉลิมชัย" แจงหนุนแบนสารเคมีตั้งแต่แรก
ด้าน นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่า ตนได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ และหน่วยงานในสังกัดให้เร่งขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการเร่งด่วน 3 เรื่อง เพื่อรองรับการแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 3 ชนิด ได้แก่
1) เร่งส่งเสริมการใช้สารชีวภาพชีวภัณฑ์ทดแทน 3 สารพิษ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้สั่งการให้กระทรวงฯ รวบรวมมาให้ได้มากที่สุด โดยให้ศูนย์วิจัยข้าวพืชไร่พืชสวน ใช้ทดสอบในแปลงทดลองทุกภาคทั่วประเทศ
2) เสนอร่าง พ.ร.บ.เกษตรกรรมยั่งยืน ฉบับที่ พ.ศ. ... ต่อสภาผู้แทนราษฎรโดยเร็ว ขณะนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอ อยู่ในชั้นกฤษฎีกาแล้ว จากนั้นจะเข้าสู่คณะรัฐมนตรี เพื่อส่งเข้าสภาผู้แทนราษฎรต่อไป ปัจจุบัน มีพื้นที่เกษตรยั่งยืนกว่า 3 ล้านไร่ และจะให้ขยายเป็น 5 ล้านไร่ในเฟสที่หนึ่งโดยเร็ว
3) ยกระดับการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ ซึ่งขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ สามารถขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ได้ถึง 570,000 ไร่ ที่ผ่านการรับรองออร์แกนิกมีอัตราเติบโตร้อยละ 16 ต่อปี เป็นอันดับ 7 ของเอเซีย โดยให้วางเป้าใหม่ ต้องเติบโตขยายตัวร้อยละ 25 ต่อปี เพื่อบรรลุเป้าหมายแรก 1 ล้านไร่ โดยกำลังพิจารณาจัดตั้งสถาบันเกษตรอินทรีย์แห่งชาติเป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์แบบบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน
ผมห่วงใยต่อสุขภาพของเกษตรกรไทยที่ใช้สารเคมีอันตราย รวมถึงคนไทยทั้งประเทศที่บริโภคพืชผักผลไม้ที่มีสารอันตรายตกค้าง จึงมีนโยบายแบนสารพิษ 3 ชนิดนี้ และมอบหมายให้ รมช.มนัญญา รับผิดชอบเรื่องนี้ตั้งแต่ต้น ผมจะไม่ยอมให้คนไทยตายผ่อนส่งอีกต่อไป จุดเปลี่ยนครั้งนี้สำคัญต่ออนาคตภาคเกษตรและอาหารของประเทศ จึงต้องมีมาตรการและแผนรองรับตอบโจทย์ ทั้งระยะเฉพาะหน้า และระยะยาว ตามแนวทางของท่านนายกรัฐมนตรี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โรงพยาบาลหลายแห่งในภาคเหนือ ขึ้นป้ายต่อต้านการใช้สารเคมี
"สุริยะ" พร้อมแถลงจุดยืนร่วมกับ 3 รมต.แบนสารเคมี
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ หนุนยกเลิกใช้สารเคมีอันตราย 3 ชนิด
"เฉลิมชัย" ลั่นพร้อมเลิกสารเคมีเกษตร แต่เป็นอำนาจ คกก.วัตถุอันตราย