วันนี้ (5 ต.ค.2562) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการศึกษา และอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมกิจกรรม พายเรือเพื่อเจ้าพระยาเก็บขยะจากปากน้ำโพถึงสมุทรปราการ ปี 2 ที่ จ.อ่างทอง พร้อมเชิญชวนชาวอ่างทองร่วมเสวนา “การมีส่วนร่วมของชุมชนกับการไม่ทิ้งขยะ : อ่างทองโมเดล”
คุณหญิงกัลยา ระบุว่า ดิน น้ำ ป่า เป็นข้าวปลาอาหารของลูกหลานเหลน แต่ปัจจุบันมีขยะจำนวนมากที่ส่งผลเสียต่อระบบนิเวศ เช่น กรณีการตายของพะยูนมาเรียม ที่เกิดจากการกินขยะพลาสติก จึงจำเป็นที่จะต้องทำให้เด็ก ๆ เข้าใจว่าสิ่งแวดล้อมมีคุณมีโทษอย่างไรบ้าง และให้ได้เรียนรู้คุณสมบัติของขยะประเภทต่าง ๆ ด้วย เช่น พลาสติกมีทั้งแบบนาโนพลาสติก ไมโครพลาสติก โดยบรรจุเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรการเรียนการสอนในวิชาทั่วไป ให้เป็นเรื่องใกล้ตัว ซึ่งการเรียนนอกห้องเรียนก็เป็นสิ่งที่สำคัญ จะต้องมีการจัดกิจกรรมให้เด็ก ๆ ได้ร่วมกันเห็นปัญหาและร่วมแก้ไข
กระทรวงศึกษาธิการมีโรงเรียนในสังกัดที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาจำนวนมาก น่าจะสามารถชวนให้มาเก็บขยะริมแม่น้ำ เหมือนกิจกรรมพายเรือเพื่อเจ้าพระยา เพื่อปลูกฝังทัศนคติที่ดีให้เด็ก ๆ ร่วมรักษาสิ่งแวดล้อม
ภาพ : พายเรือเพื่อเจ้าพระยา
ด้าน นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า การที่พบขยะจำนวนมากในสิ่งแวดล้อม ย่อมสัมพันธ์กับการสร้างมลพิษทั้งทางบก น้ำ และอากาศ เช่น ขยะที่ผลิตจากสารที่มีโลหะหนัก เมื่อไปอยู่ในดินหรือน้ำ ก็ย่อมทำให้เกิดมลพิษ มีสารปนเปื้อน อีกตัวอย่างคือ การที่มีขยะอยู่ในแม่น้ำ จากที่อาสาสมัครพายเรือเพื่อเจ้าพระยาฯ เก็บขึ้นมาได้ มีขยะทุกประเภท ส่วนปริมาณค่าออกซิเจนละลายแม่น้ำตลอดลุ่มน้ำที่พายเรือผ่าน ก็มีคุณภาพแค่ระดับพอใช้ ไม่ถึงกับเป็นคุณภาพน้ำที่ดีสำหรับสิ่งมีชีวิต
นายประลอง ยังระบุอีกว่า 10 ปีที่ผ่านมาพบว่า ประเทศไทยมีขยะเพิ่มมากขึ้น และแหล่งน้ำทั้ง 25 ลุ่มน้ำของไทยก็เสื่อมโทรมมากขึ้นทุกวัน จึงต้องมีการส่งเสริมให้เกิดการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธี และการจัดการไม่ให้น้ำเน่าเสีย โดยเชื่อว่ามาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลพยายามดำเนินการอยู่ จะส่งผลดีในอนาคตแน่นอน
ชู "อ่างทองโมเดล"
ช่วงของการเสวนา “การมีส่วนร่วมของชุมชนกับการไม่ทิ้งขยะ : อ่างทองโมเดล” มีผู้บริหารท้องถิ่นและผู้นำชุมชน เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น เพื่อผลักดันให้ จ.อ่างทอง เป็นต้นแบบของการจัดการปัญหาขยะ
นายจิรทีปต์ ทวีสุข นายกองค์การบริหารส่วนตำบลราชสถิตย์ อ.ไชโย จ.อ่างทอง ระบุว่า ปีที่แล้ว (2561) อบต.มีแผนจะรณรงค์ให้ชาวบ้านคัดแยกขยะ ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่คณะอาสาสมัครพายเรือเพื่อเจ้าพระยามาจัดกิจกรรมที่ จ.อ่างทอง และชาวบ้านได้เข้าร่วมกิจกรรม ทำให้ได้รับความรู้ในการคัดแยกขยะ และได้รับแรงบันดาลใจ หลังจากนั้น อบต.จึงสานต่อแนวทาง ให้องค์ความรู้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชาวบ้านทราบว่าขยะแต่ละประเภทมีอะไรบ้าง มีข้อดีข้อเสียอย่างไร ส่วนใดนำไปใช้ประโยชน์ได้บ้าง จนชาวบ้านเข้าใจ จึงได้รับความร่วมมือในการคัดแยกขยะตั้งแต่ครัวเรือน
นายก อบต.ราชสถิตย์ ยังระบุอีกว่า เมื่อมีการเริ่มต้นจากการแยกเศษอาหาร นำไปทำปุ๋ย และแยกขยะประเภทต่าง ๆ พบว่าขยะส่วนใหญ่สามารถนำไปขาย สร้างรายได้กลับคืน และยังช่วยลดงบประมานในการจัดการขยะของ อบต.ด้วย จากที่เคยใช้งบประมาณในการกำจัดขยะ ราว 9,000 บาทต่อเดือน ปัจจุบันเหลือเพียง 4,000 บาทต่อเดือน หรือคิดเป็นร้อยละ 40 ทั้งยังส่งผลให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้นเป็นตำบลสุขภาวะ
ส่วน ว่าที่ร้อยโท อรรถชล ทรัพย์ทวี นายอำเภอไชโย จ.อ่างทอง ระบุว่า ในจังหวัดอ่างทองมีหลายพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จในการจัดการขยะ เช่น หมู่ 2 บ้านดอนงิ้ว และ อบต.ราชสถิตย์ ซึ่งได้ถอดบทเรียนความสำเร็จพบว่า ปัจจัยสำคัญคือผู้นำชุมชนต้องเข้มแข็ง และเป็นตัวอย่างที่ดีของชาวบ้าน ทำให้ดูก่อน ถึงจะทำตามได้ จึงตั้งใจว่าจะนำแนวทางน้ีไปสานต่อในพื้นที่ต่าง ๆ ใน อ.ไชโย เพื่อร่วมสร้างอ่างทองโมเดล
สำหรับ อาสาสมัครพายเรือเพื่อเจ้าพระยาฯ ปี 2 ได้เริ่มต้นภารกิจตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา และมีกำหนดการถึง จ.สมุทรปราการ ในวันที่ 10 ต.ค.นี้ โดยรวมตลอด 5 วัน อาสาสมัครสามารถเก็บขยะได้ทั้งหมด 636 กิโลกรัม ในระยะทาง 186.5 กิโลเมตร ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครพายเรือได้ตลอดเส้นทาง ติดตามรายละเอียดและสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ พายเรือเพื่อเจ้าพระยา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พลิกปมข่าว : พายเรือเพื่อเจ้าพระยา ปี 2
ทะลุ 1 ตันพายเรือเก็บขยะจากปากน้ำโพถึงอ่าวไทย