สวมปลอกคอช้างผืนป่าตะวันออก
5 ปีที่ผ่านมามีชาวบ้านได้รับบาดเจ็บจากช้างป่ากว่า 100 คน เสียชีวิตกว่า 50 คน ขณะที่ ช้างป่าตายมากกว่า 50 ตัว นี่เป็นเหตุผลให้ ผืนป่าตะวันออก ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่นำร่อง ในการติดปลอกคอสัญญาณดาวเทียมติดตามพฤติกรรมช้างป่าแห่งแรกในประเทศไทย เนื่องจากที่นี่มีปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างมายาวนาน
ป่าตะวันออกมีช้างป่า 6 กลุ่มใหญ่ๆ ที่มีเส้นทางหากินเข้าไปในพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน เป้าหมายของการติดปลอกคอสัญญาณดาวเทียม เพื่อให้เจ้าหน้าที่ภาคสนามสามารถเข้าถึงเส้นทางหากินของโขลงช้างป่านับร้อยตัวได้ทันท่วงทีก่อนจะออกนอกพื้นที่อนุรักษ์ไปยังที่ทำกินของชาวบ้าน นี่เป็นมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันเพื่อแก้ปัญหาในระยะสั้น
นายศุภกิจ วินิตพรสวรรค์ หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช บอกว่า การติดปลอกคอช้างเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง ส่วนจะประสบความสำเร็จหรือไม่นั้นยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอีกหลายอย่างไม่ว่าจะเป็น กำลังคน หรือ หรือ ประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่
อย่างน้อยเรารู้แล้วว่าช้างอยู่ที่ไหน งานป้องกันก็จะแม่นยิ่งขึ้น ไม่ต้องวิ่งหาว่าช้างอยู่ที่ไหนในแต่ละวัน แต่หลังจากนั้น ประสิทธิภาพงานเฝ้าระวังยังขึ้นกับปัจจัยอื่น เช่นกำลังคน เจ้าหน้าที่ ขึ้นอยู่กับว่า เราส่งข้อมูลให้แล้ว เจ้าหน้าที่ทำงานได้แข็งแรงหรือมีประสิทธิภาพแค่ไหน
ข้อมูลจากกรมอุทยานฯ ระบุว่า การเคลื่อนที่ของช้างโขลงใหญ่กว่าร้อยตัว ทำให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง ดังนั้น ขนาดโขลง และ เส้นทางหากิน จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ใช้กำหนดกลุ่มเป้าหมายในการติดปลอกคอสัญญาณดาวเทียม
ชุดปลอกคอมีน้ำหนักรวม 8 กิโลกรัม หรือไม่เกินร้อยละ 1 หากเทียบกับน้ำหนักตัวช้าง ข้อมูลจากงานวิจัยระบุว่า การติดปลอกคอสัญญาณดาวเทียมจะไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของช้างป่า เนื่องจาก มีอายุใช้งานประมาณ 7 ปี จากนั้นจะเสื่อมสภาพและหลุดจากคอช้างได้เอง
ติดตามสัญญาณจากปลอกคอ “จัมโบ้”
เสียงจากเครื่องรับสัญญาณดาวเทียมจากปลอกคอของช้างป่าเพศเมียอายุกว่า 30 ปี ที่เจ้าหน้าที่ตั้งชื่อให้ว่า จัมโบ้ ดังถี่ขึ้น เมื่อคณะวิจัยสัตว์ป่าอยู่ห่างประมาณ 300 เมตร จากพิกัดที่ช้างป่าตัวนี้เคลื่อนที่หากินบริเวณชายป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว จ.จันทบุรี
จัมโบ้ เป็นช้างป่าตัวล่าสุดในจำนวนช้างป่า 4 ตัว ในผืนป่าตะวันออกที่เจ้าหน้าที่คล้องปลอกคอสัญญาณดาวเทียม เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2562
ปลอกคอสัญญาณดาวเทียมที่อยู่กับจัมโบ้มานานกว่า 3 เดือน ช่วยให้เจ้าหน้าที่ติดตามการเคลื่อนที่และระบุตำแหน่งของโขลงช้างป่าได้แบบเรียลไทม์ ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ที่เฝ้าระวังช้างป่าภาคสนามที่ติดตามเส้นทางหากินของโขลงช้างป่า สามารถเข้าผลักดันและควบคุมไม่ให้ช้างป่าเข้าไปในพื้นที่เกษตรกรรมได้ทันท่วงที
นายศุภกิจ วินิตพรสวรรค์ หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ บอกว่า ข้อกังวลจากหลายฝ่ายว่า ปลอกคอจะกลายเป็นสิ่งแปลกปลอม จนส่งผลให้ช้างป่าถูกขับไล่ออกจากโขลงหรือไม่นั้นไม่น่าเป็นไปได้ โดยเฉพาะในกรณีของจัมโบ้ที่เป็นจ่าฝูง
ตัวปลอกคอเป็นองค์ความรู้ใหม่ของการติดตามช้างในไทย เพราะให้ข้อมูลที่ไม่เคยรู้มาก่อน ส่วนการแยกตัวของจัมโบ้อาจมีสาเหตุจากอาหารในพื้นที่ไม่เพียงพอ แต่ทั้งนี้ต้องใช้เวลาศึกษาและติดตามพฤติกรรมต่อไป ส่วนการถูกขับไล่ออกจากโขลงไม่น่าเป็นไปได้ เพราะจัมโบ้เป็นจ่าฝูง
ข้อมูลต่างๆ จะถูกส่งจากปลอกคอสัญญาณดาวเทียมมายังเจ้าหน้าที่ทุกชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็น อัตราการเต้นของหัวใจ อุณหภูมิสิ่งแวดล้อม ลักษณะการเลือกใช้พื้นที่ ความสูง ความลาดชัน ความเร็วและทิศทางการเคลื่อนที่ รวมถึงปริมาณอาหารที่ช้างกินในแต่ละวัน
ประโยชน์จากปลอกคอช้าง
เส้นทางการเคลื่อนที่ของโขลงช้างป่า ถูกส่งต่อให้เจ้าหน้าที่ชุดเฝ้าระวังช้างป่าตำบลท่าตะเกียบอย่างต่อเนื่อง ทำให้เข้าถึงจุดที่ช้างอยู่และออกหากิน สามารถควบคุมช้างป่าไม่ให้เข้าไปในพื้นที่ทางการเกษตรและชุมชนได้ทันเวลา
ต.ท่าตะเกียบ อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา มี 22 หมู่บ้าน ในจำนวนนี้ มีประมาณ 7 หมู่บ้าน ที่เผชิญปัญหาช้างป่ามีเส้นทางหากินนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ สร้างความเสียหายให้พืชผลการเกษตร
นางสมจิต สาธุชาติ กำนัน ต.ท่าตะเกียบ ให้ข้อมูลว่า ลักษณะภูมิประเทศ ต.ท่าตะเกียบ ที่มีหย่อมป่า เกาะป่า สวนยางพารา สวนปาล์ม และอ่างเก็บน้ำ เชื่อมต่อกับแปลงพืชไร่และสวนผลไม้ นับเป็นแหล่งอาหารที่สมบูรณ์สำหรับช้าง
ผลการสำรวจประชากรช้างป่าทั่วประเทศใน 7 กลุ่มป่าของกรมอุทยานฯ พบว่า มีประชากรช้างป่ามากกว่า 3,000 ตัวโดยเฉพาะในกลุ่มป่าตะวันออกที่ครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัด พบช้างป่ามากกว่า 400 ตัว และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 โดยมีช้างวัยเจริญพันธุ์มากกว่าพื้นที่ป่าอื่นๆ
หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าดงพญาเย็น – เขาใหญ่บอกว่า ขณะนี้ การติดปลอกคอสัญญาณดาวเทียมให้ช้างป่าในผืนป่าตะวันออก ยังเน้นไปที่มาตรการระยะสั้น คือการป้องกันและเฝ้าระวังตามแนวทางการอยู่ร่วมกันในสถานการณ์ที่ยังไม่สามารถแยกคนกับช้างป่าให้อยู่ในพื้นที่ของตัวเองได้
แต่ในระยะยะยาว องค์ความรู้ที่ได้จากการติดปลอกคอช้าง จะทำให้ทราบถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของช้างป่า ข้อมูลจะถูกนำไปวิเคราะห์และวางแนวทางเพื่อพัฒนาให้ปฏิบัติได้จริงในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั้งหมดเพื่อให้เหมาะสมกับการดำรงชีพของช้างป่า