ที่สาธารณประโยชน์ ตู้กับข้าวชุมชน
ระหว่างติดตาม นายพัน ชมภูพระ ผู้ใหญ่บ้านห้วยพระ ม.9 ต.ท่าจำปา อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม สำรวจพื้นที่สาธารณะประโยชน์ จุดแรก บริเวณ “ห้วยหลง” ซึ่งอยู่ใกล้กับเขตที่อยู่อาศัยของชาวบ้านห้วยพระมากที่สุด
ภาพแรกที่เห็นคือ ชาวบ้านนับสิบคนกำลังหาปลา ผู้ชายใช้วิธีเหวี่ยงแห ส่วนผู้หญิงที่มีกำลังน้อยกว่าจะใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า “ยอสะดุ้ง”
ไม่ว่าจะใช้วิธีการใด แต่ละคนก็ได้ปลาจำนวนไม่น้อยกลับบ้านไปทำอาหารในวันนี้ สมกับที่พวกเขาตั้งสมญานามให้ที่แห่งนี้ว่าเป็น “ซูเปอร์มาเก็ต” ประจำหมู่บ้านที่ชาวบ้านทุกคนสามารถเข้าไปหาอาหารได้โดยไม่ต้องเสียเงิน
นอกจากชาวบ้านที่ลงน้ำหาปลาแล้ว ใกล้ ๆ กันยังมีชาวบ้านคนหนึ่งกำลังต้อนฝูงควายลงไปในห้วยหลง หลังจากที่พวกมันเล็มหญ้าริมห้วยจนอิ่ม นอกจากนี้บริเวณน้ำตื้นยังมีเด็กชายกลุ่มหนึ่งเล่นน้ำอย่างสนุกสนาน ทั้งหมดแสดงให้เห็นว่า "ห้วยหลง" คือที่สาธารณประโยชน์ที่ชาวบ้านห้วยพระและหมู่บ้านใกล้เคียงทุกเพศ ทุกวัยสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้
โฉนดปริศนาทับที่สาธารณประโยชน์
วันนี้สถานการณ์กำลังเปลี่ยนไป เมื่อชาวบ้านพบว่าสำนักงานที่ดินจังหวัดนครพนม สาขาท่าอุเทน ออกโฉนดที่ดินให้กับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งล้ำเข้าไปใน "ห้วยหลง"
สิ่งที่ชาวบ้านนำมาใช้อ้างอิง คือ ระบบค้นหารูปแปลงที่ดินซึ่งกรมที่ดินจัดทำขึ้น ระบบนี้ใช้งานโดยการกรอกเลขที่ดิน อำเภอและจังหวัดที่ที่ดินตั้งอยู่ลงไปในช่องที่กำหนด เมื่อกดค้นหา ระบบจะบอกว่าที่ตั้งที่ดินอยู่ในตำแหน่งใด ที่สำคัญระบบนี้ยังสามารถเปรียบเทียบสภาพพื้นที่ที่โฉนดตั้งอยู่กับภาพถ่ายดาวเทียมได้อีกด้วย
เมื่อผู้ใหญ่บ้านตรวจสอบข้อมูลในระบบดังกล่าวจึงพบว่าห้วยหลงมีโฉนดที่ดินอย่างน้อย 4 แปลงที่รุกล้ำเข้าไปประกอบด้วยโฉนดหมายเลข 19231,19233,19238 และ 19243
นอกจากนี้ยังพบว่าที่สาธารณประโยชน์อีก 8 แห่งในบ้านห้วยพระ ต่างถูกออกโฉนดล้ำเข้าไปเช่นกัน โดยเจ้าของโฉนดทั้งหมด คือบริษัทเอกชนรายเดียวกันกับโฉนดที่ล้ำเข้าไปในห้วยหลงสิ่งที่พบทำให้ชาวบ้านตั้งข้อสังเกตถึงที่มาของโฉนดที่ดินดังกล่าวว่าออกโดยชอบหรือไม่ เพราะตามปกติการออกโฉนดที่ดินต้องมีการสำรวจพื้นที่จริง และเมื่อเจ้าหน้าที่พบว่าพื้นที่มีลักษณะเป็นห้วยหรือพื้นที่ที่น้ำท่วมถึง เหตุใดจึงยังออกโฉนดที่ดินให้กับบริษัทได้
ข้อมูลจาก ว่าที่ ร.ต.ภูมิศักดิ์ ขำปู่ นายอำเภอท่าอุเทน จ.นครพนม ระบุว่า ที่ผ่านมาบริษัทเอกชนเจ้าของโฉนดที่ดิน ได้ยื่นเรื่องต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดนครพนม สาขาท่าอุเทนเพื่อขอรังวัดสอบเขตที่ดินแล้ว โดยคาดว่าจะรู้ผลว่ามีพื้นที่ใดบ้างที่ล้ำเข้าไปในที่สาธารณประโยชน์ภายในเดือนตุลาคม 2562
ขั้นตอนต่อจากนี้เราจะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งสามผ่าย คือ บริษัทเอกชน ตัวแทนชาวบ้านห้วยพระและหน่วยงานราชการในพื้นที่มาร่วมพิจารณาว่า บริษัทเอกชนจะยินยอมให้เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ในส่วนที่เป็นที่สาธารณประโยชน์หรือไม่ และจะเพิกถอนได้มากน้อยขนาดไหน
ปัจจุบันชาวบ้านห้วยพระยังคงเดินหน้าร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้แก้ปัญหาการออกโฉนดรุกล้ำที่สาธารณประโยชน์
นายเรืองชัย วงษ์อุระ ตัวแทนชาวบ้านที่มีปัญหาที่ดินบ้านห้วยพระ มองว่า การแก้ปัญหาโดยการเพิกถอนโฉนดเฉพาะบางส่วนที่รุกล้ำพื้นที่สาธารณประโยชน์อาจไม่เพียงพอแต่ควรตรวจสอบตั้งแต่ขั้นตอนการออกโฉนดว่ามีการทุจริตหรือไม่ เพื่อนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ
มันต้องพิสูจน์เป็นรายแปลง ต้องยกเลิกทั้งแปลงแล้วมาวัดใหม่ไม่ใช่ถ้าล้ำ 15 ไร่ก็ตัดแค่ 15 ไร่มันไม่ถูกเพราะมันผิดมาทั้งแปลงมันไม่ได้ผิดแค่ส่วนนั้น จากนั้นค่อยมาพิสูจน์กันใหม่ ถ้าไม่ใช่ที่ของประชาชนก็ให้เป็นที่หลวง แต่ตรงไหนที่ประชาชนครอบครองถูกต้องก็ให้เขาไป
ปัญหาที่ดินที่ บ.ห้วยพระ ต.ท่าจำปา อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม เริ่มขึ้นเมื่อปี 2551 เมื่อชายคนหนึ่งได้รับมอบอำนาจให้นำเอกสาร น.ส.3ก.จำนวน 51 ฉบับ ซึ่งส่วนใหญ่มีชื่อคนนอกพื้นที่เป็นเจ้าของ มาขอออกโฉนดที่ดินใน บ.ห้วยพระ โดยภายหลังพบว่าโฉนดบางแปลงออกทับที่สาธารณประโยชน์ นอกจากนี้ บางส่วนยังทับที่ทำกินของชาวบ้านในพื้นที่จนนำไปสู่การฟ้องร้องขับไล่ชาวบ้านที่ทำกินอยู่เดิม